คนกล่าวตู่พระพุทธ กล่าวตู่พระธรรม กล่าวตู่พระสงฆ์ มีที่ไปคือนรก
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ปิยะณัฐ บุญมาก โบราณว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” วิชชาธรรมกายก็เช่นกัน แม้หลวงปู่วัดปากน้ำจะค้นพบและเผยแผ่มานาน ผ่านมาเกือบ 100 ปี วิชชาธรรมกายก็ยังดำรงอยู่ และเจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายไปทั่วประเทศและทั่วโลก เพราะอะไร ก็เพราะวิชชาธรรมกายคือของจริงในพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง เพียงแต่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านเข้าถึง และนำมาสอน นำมาอธิบายขยายความให้เข้าใจ เห็นชัดเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อใดที่มีผู้ปฏิบัติ เมื่อนั้นก็ย่อมเข้าถึงของจริง นี่คือบทพิสูจน์ที่เห็นได้ในยุคปัจจุบันว่า ทำไมวิชชาธรรมกาย ยิ่งตีก็ยิ่งดัง ยิ่งตีก็ยิ่งขยายไปทั่วโลก ส่วนนักปริยัติทั้งหลายที่เก่งในตำรา แต่ไม่เคยปฏิบัติ เอาตำราเป็นสรณะเหนือหัว ก็จงเลิกทิฏฐิเสีย หันมาปฏิบัติเถิด แล้วท่านจะเข้าใจว่าวิชชาธรรมกายนั้นดีอย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
——————————————-
มีคนนำคอมเม้นท์ของผู้ที่ใช้นามว่า ปิยะณัฐ บุญมาก มาให้ฉันอ่าน
อาจจะเป็นเพราะเขาคงต้องการความเห็นว่าสิ่งที่สาวกธรรมกายผู้นี้เข้าใจว่า “วิชาธรรมกาย คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ จริงหรือไม่”
ทำให้ฉันหวนคำนึงระลึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งสมัยวัยเด็ก ที่ตายายและแม่พาไปทำบุญ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ
ซึ่งแต่ละวัดที่ไปล้วนกลายเป็นคณาจารย์ผู้บอกผู้สอนพระกรรมฐานแห่งยุคในสมัยนั้น เช่น
วัดบวร วัดระฆัง วัดมหาธาตุ วัดปากน้ำ และวัดประยูร
จนมีคำกล่าวกันในสมัยนั้นว่า
ถ้าอยากได้ศีลสะอาดต้องไปปฏิบัติธรรมที่วัดบวร ที่มีพระสาสนโสภณ หรือสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผู้สอน
ถ้าอยากได้สมาธิแน่น มั่นคง ต้องไปวัดปากน้ำ ที่มีหลวงพ่อสดหรือพระเทพมงคลมุนี
ถ้าอยากให้มีปัญญา ต้องไปวัดระฆังที่มีอาจารย์แนบ มหารีรานนท์ สอนเรื่องรูปนาม
ถ้าอยากได้สติตื่นรู้ ต้องไปปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ พระมหาโชดก หรือเจ้าคุณธรรมธีรราชมหามุนี
วัดและคณาจารย์เหล่านี้ไม่มีใครสนใจว่าเป็นวัดที่มีคณาจารย์ดังหรือไม่
แต่ผู้คนเขาสนใจ ว่าเข้าวัดแล้วเขาได้บุญ สติ สมาธิ ปัญญา กลับมาหรือไม่
เมื่อวัยเด็กแม่เป็นพนักงานโรงงานยาสูบ เป็นรัฐวิสาหกิจ แม่จึงมีเวลาว่างมาก
กอปรกับตาก็ปลดเกษียณจากทหารเรือหลังจากการไปราชการในสงครามเกาหลี อีกทั้งตายายและแม่ยังชอบเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพลแก่วัดต่างๆ
ฉันจึงมีโอกาสตามท่านไปวิ่งเล่น กินขนม ฟังธรรม และได้นั่งปฏิบัติธรรมตามเหตุตามปัจจัย
นอกจากตาจะเป็นทหารแล้วตายังมีวิชาแพทย์แผนไทยและคาถาอาคม ตาจึงชอบฝึกสมาธิ เลยไปฝึกกับหลวงพ่อสดเป็นประจำ
ฉันยังพอจะจำเรื่องราวและภาพเหตุการณ์สมัยเด็กได้ว่า
หลวงพ่อสดท่านเป็นคนเคร่งขรึม จริงจัง หน้าตาท่านดุดัน ท่านทำอะไรจะทำจริงๆ จังๆ และยังมีเมตตารับอุปการะภิกษุสามเณรที่มาจากต่างจังหวัดเอาไว้เป็นร้อยๆ วัดจึงต้องมีโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระเณรเพราะบิณฑบาตไม่พอฉัน
เวลาครอบครัวฉันนำข้าวสารไปถวาย ท่านจะชวนให้นั่งสมาธิในวิชาธรรมกายทุกครั้ง
ในสมัยนั้นไม่ว่าใครเข้าวัดปากน้ำ หากเขาไปพบหลวงพ่อสด จะต้องถูกชักชวนให้นั่งสมาธิทุกคน
ในขณะที่นั่งหลับตาภาวนา ท่านก็จะบรรยายอะไรต่ออะไรของท่านไป
แรกๆ ฉันก็ไม่ค่อยสนใจ ออกไปเดินเล่นดูเต่าดูปลาที่ท่าน้ำของวัดซึ่งติดคลองบางกอกน้อย ซึ่งมีป้ายประกาศเป็นเขตอภัยทาน มีฝูงปลามาออเพื่อรอกินอาหารกันอยู่มากมาย
ต่อๆ มา ฉันถูกตายายบังคับให้เข้าไปนั่งสมาธิกับแกด้วย จึงต้องไปนั่งกับเขา
พอลงนั่งหลวงพ่อท่านจะอธิบายตั้งแต่ท่านั่ง ว่าให้นั่งท่าไหน วางมือวางเท้าอย่างไร ท่านสอนอธิบายแม้แต่วิธีหลับตา
เมื่อนั่งถูกต้องแล้วท่านก็จะสอนว่า
ให้เอาความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง(ใจ) ไปตั้งอยู่หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของกาย เพ่งความรู้สึกอยู่เช่นนั้น ไม่นึก ไม่คิด ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น
มีแต่เพียงการหยุดนิ่งอยู่เฉพาะศูนย์กลางของกายให้มากที่สุด ให้นานที่สุด จนกว่าจะไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏ พร้อมกับภาวนาคำว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
ไปจนเกิดนิมิตแก้วใสที่กลางกาย
หรือไม่ท่านก็จะสอนว่า พอนั่งหลับตาแล้วให้นึกถึงดวงแก้วเลย เอาใจเพ่งดวงแก้วนั้นให้นิ่ง จับดวงแก้วนั้นให้อยู่ ให้นานเท่านานพร้อมกับภาวนาว่าสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
ใครที่เห็นดวงแก้วขุ่นมัวแสดงว่าใจไม่สะอาด ต้องเพ่งดวงแก้วนั้นไปจนกว่าจะใสสะอาด ไม่มีรอยขีดข่วนแม้แต่ขนแมว
หากทำได้เช่นนี้ถือว่าท่านผู้นั้นมีแก้วกายสิทธิ์เป็นของตนแล้ว จะนึกอะไร จะคิดอะไร ก็จะสมปรารถนา
แล้วท่านจะสอนต่อว่า เมื่อเห็นดวงแก้วใสแล้วให้หยุดบริกรรมภาวนาสัมมาอะระหัง ให้เพ่งอยู่เฉพาะดวงแก้วอย่างเดียว รวมใจอยู่กับดวงแก้วอย่างเดียว จนแนบแน่นแน่นิ่ง หนักขึ้น หนักขึ้น ในศูนย์กลางเครื่องหมายวงกลมตรงกลางกากบาทนั้น ของดวงแก้วนั้น จนเกิดเป็นแสงสว่างเจิดจ้าขึ้น อย่าตกใจ นั่นคือนิมิตแห่งความพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ความทุกข์เผ็ดร้อนทั้งหลายจักถูกทำลายด้วยอำนาจแห่งแสงสว่างนี้
บางครั้งท่านก็สอนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นขั้นเป็นตอนว่า
ให้หลับตาภาวนาสัมมาอะระหัง จนใจสงบ แล้วกำหนดนิมิตให้เห็นเป็นลูกแก้วใส มีสัณฐานโตเท่าแก้วตา
ผู้หญิงให้กำหนดดวงแก้วใสนั้นเข้าช่องจมูกซ้าย
ผู้ชายกำหนดให้ดวงแก้วใสนั้นเข้าช่องจมูกขวา
เพ่งใจให้อยู่ที่นิมิตดวงแก้วที่เข้ารูจมูก ใจตามดวงแก้วนั้นเข้าไป จากรูจมูก
ให้พยายามประคอง บริกรรมสัมมาอะระหัง ใจอยู่ที่นิมิตดวงแก้วใส
เพ่งอยู่ที่กลางดวงแก้วใส ใจหยุดกลางดวงแก้วใส พร้อมบริกรรมสัมมาอะระหัง
ทำอยู่เช่นนี้ นิ่งอยู่เช่นนี้ ใจหยุดอยู่เช่นนี้ เรียกว่าฐานที่ ๑
ต่อมา เคลื่อนนิมิตดวงแก้วใส จากรูจมูกมายังกระบอกตา หญิงอยู่ซีกซ้าย ชายอยู่ซีกขวา ใจหยุดนิ่งอยู่กลางนิมิตแก้วใสพร้อมบริกรรมสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง นี่เรียกว่าฐานที่ ๒
ต่อมาเคลื่อนนิมิตมาถึงกลางกระหม่อมหรือจอมประสาท พร้อมบริกรรมสัมมาอะระหัง ใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงแก้วใสที่เคลื่อนมาอยู่ที่จอมประสาท นี่เรียกว่าฐานที่ ๓
ฐานที่ ๔ ต้องเคลื่อนดวงแก้วนิมิตจากกลางกระหม่อมหรือจอมประสาทมาอยู่ช่องเพดาน ใจยังอยู่กับนิมิตกลางดวงแก้วใส
ขั้นนี้มีเคล็ดวิธีคือ กลับตาไปข้างหลัง ทำให้ตาค้างเหมือนคนกำลังชักตาย เหลือกตาขึ้นข้างบน เหลือกขึ้นเหลือกขึ้นจนตาค้างอยู่ จนตากลับ จนเห็นข้างใน พอตากลับดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว จึงจะเคลื่อนนิมิตดวงแก้วจากจอมประสาทมาที่ช่องเพดาน ยังบริกรรมสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
แล้วเคลื่อนนิมิตดวงแก้วใสจากเพดานมาที่ช่องลำคอเหนือลูกกระเดือก พร้อมบริกรรมสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง นี่เรียกว่าฐานที่ ๕
จากลำคอเหนือลูกกระเดือก ย้ายนิมิตดวงแก้วใสมาอยู่ที่กลางตัวตรงสะดือ
สูดลมหายใจเข้าออกสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกักข้างใน
ใจเพ่งดิ่งลงไปในศูนย์กลางแก้วใส ซึ่งในเวลานี้กลายเป็นดวงธรรมภายในกายมนุษย์ แล้วบริกรรมสัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง นี่เรียกว่าฐานที่ ๖
แล้วถอยนิมิตดวงแก้วดวงธรรมในศูนย์กลางกายบริเวณสะดือ ยกนิมิตดวงธรรมขึ้นมาอยู่เหนือสะดือ ๒ นิ้ว มีอยู่ ๕ ศูนย์คือ
ศูนย์กลาง ศูนย์ข้างหน้า ศูนย์ข้างขวา ศูนย์ข้างหลัง ศูนย์ข้างซ้าย
หลวงพ่อสดท่านยังพยายามอธิบายความนัยในศูนย์ทั้ง ๕ ว่า
ศูนย์กลางกาย คือ อากาศ
ศูนย์ข้างหน้า คือ ธาตุน้ำ
ศูนย์ข้างขวา คือ ธาตุดิน
ศูนย์ข้างซ้าย คือ ธาตุลม
ศูนย์ข้างหลัง คือ ธาตุไฟ
หากจะถามว่าทำไมเรียกว่าศูนย์ เพราะเวลาสัตว์จะมาเกิดหรือจะไปเกิด จะมาจากกลางดวงศูนย์นั้น
กายละเอียดอยู่ในกลางดวงศูนย์นั้น
ศูนย์นั้นสำคัญนัก มนุษย์และสัตว์จักเกิดมาก็ต้องเกิดมาจากศูนย์นั้น
จะไปนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้น
จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ต้องเข้าศูนย์นั้น
หลวงพ่อสดท่านพยายามอธิบายให้ฟังทุกครั้งที่ครอบครัวฉันไปฟังท่านสอน จนฉันจำได้
แม้ในขณะที่ท่านสอนสมาธิวิชาธรรมกาย ท่านก็จะพร่ำสอนอยู่เช่นนี้
ฉะนั้นการที่สาวกธรรมกายมากล่าวตู่ว่าวิชาธรรมกายเป็นมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น เห็นทีจะไม่เป็นความจริง
เพราะสิ่งที่หลวงพ่อสดสอนก็ดี วิชาธรรมกายก็ดี เป็นได้แค่การเพ่งกสิณเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ปรากฏอยู่ในกสิณที่พระพุทธเจ้าสอนเลย
ด้วยเพราะกสิณที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมีอยู่ ๑๐ อย่างคือ
ภูตกสิณ ๔
ได้แก่ ๑. ปฐวี กสิณดิน ๒. อาโป กสิณน้ำ ๓. เตโช กสิณไฟ ๔. วาโย กสิณลม
วรรณกสิณ ๔ :
ได้แก่ ๕. นีลํ กสิณสีเขียว ๖. ปีตํ กสิณสีเหลือง ๗. โลหิตํ กสิณสีแดง ๘. โอทาตํ กสิณสีขาว
และ ๙. อาโลโก กสิณแสงสว่าง ๑๐. อากาโส กสิณที่ว่าง
ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า นิมิตดวงแก้วใสในวิชาธรรมกายไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่ถึงกระนั้นหากสามารถทำให้ใจสงบ จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์สมาธิได้ก็ถือว่าสำเร็จประโยชน์ต่อจุดมุ่งหมาย และมีผลทำให้สงบสุขในอัตภาพปัจจุบันเท่านั้น แต่ไม่สามารถขัดเกลาอาสวะกิเลสได้ ดังที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระจุนทะเถระว่า ผลของสมาบัติไม่สามารถพ้นทุกข์และบรรลุนิพพานได้
ทีนี้มาดูมหาสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าของจริงว่ามีอะไรบ้าง
สติปัฏฐาน ๔ (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสรรพสิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง)
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ
– อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าและออก
– อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
– สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะ คือ ความระลึกได้รู้ตัวต่อความเคลื่อนไหวทุกอย่างภายในกายและนอกกาย เช่น ยกแขน ลดแขน ยกขา ลดขา หันซ้าย หันขวา ก้มหน้า เงยหน้า กระพริบตา หลับตา แม้กลืนน้ำลาย
– ปฏิกูลมนสิการ มีสติระลึกได้รู้ตัวถึงความไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ทั้งภายในและภายนอก
– ธาตุมนสิการ มีสติระลึกได้รู้ตัวถึงการพิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ทั้งภายในและภายนอก
– นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแตกต่างกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่อันเป็นธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่น สัตว์อื่น เช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติระลึกได้รู้ตัว กำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือ มีสติรู้ชัดในเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส คืออิงอามิส และเป็นนิรามิส ไม่อิงอามิส ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติระลึกได้รู้ตัวกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ ให้เป็นปัจจุบัน
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติระลึกได้รู้ตัว กำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ ทั้งภายในและภายนอก.
——————————————-
มหาสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าที่บรรยายมาไม่เห็นมีส่วนไหนเลยที่เหมือนวิชาธรรมกายของพวกคุณ
อย่ามาอ้างส่งเดช
แม้จะเจริญสมาธิจนถึงอารมณ์ฌาน หากไม่เจริญปัญญา ไม่มีสัมมาทิฏฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริง
ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็อย่าหวังว่าจะดับอาสวะกิเลสหรือพ้นทุกข์ใดๆ ได้เลย
ขอบอกว่าวิชาธรรมกายที่พวกคุณปฏิบัติกันอยู่
ไม่ได้แตกต่างอะไรกับคำสอนของพราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ หรือเต๋า
เพราะมีผลสูงสุดคือสวรรค์ พรหม และเซียนเท่านั้น
แล้วอย่ามาแถ อวดรู้ แค่ได้เรียนมาแบบงูๆ ปลาๆ
ก็มาทำซ่าอวดรู้ไปพบพระพุทธเจ้า
ขนาดดวงแก้วใสยังมโนสร้างขึ้นมาได้
แล้วสาอะไรกับพระพุทธเจ้า อายตนะนิพพาน จะมโนสร้างกันขึ้นมาไม่ได้
อย่าโง่หลงงมงายกันอยู่เลย
กลับตัวกลับใจตอนนี้ก็ยังไม่สาย
หากยังขืนดื้อรั้นดันทุรังมากล่าวตู่พระพุทธเจ้า กล่าวตู่พระธรรม กล่าวตู่พระสงฆ์ ที่ไปคือนรกแน่นอน ขอบอก
เอาไว้โอกาสหน้าถ้ามีเวลาจะนำคำสอนที่ครอบครัวฉันได้จากวัดต่างๆ มาเล่าให้ฟัง
แต่รับรองว่าคำสอนเหล่านั้นเป็นของพุทธแท้ๆ
พุทธะอิสระ