ศิษย์เลิฟฉาวโฉ่ขนาดนี้ อุปัชฌาย์ของอลัชชีว่าไง
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙
ปี ๒๕๔๑-๒๕๔๗
กรมที่ดินได้สำรวจพบ ธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและ บริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า ๔๐๐ แปลง เนื้อที่กว่า ๒ พันไร่ ใน จ.พิจิตร และเชียงใหม่
หลังจากนั้น นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวหาธัมมชโยทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๔ และ ๓๔๓ ฐานหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและฉ้อโกงทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นของตัวเองและพวก
เวลาต่อมาผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องพยายามให้ธัมมชโยคืนที่ดินและเงินบริจาคแก่วัดพระธรรมกาย แต่ไม่สำเร็จ
กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษธัมมชโยในคดีอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๔๗ และ ๑๕๗ ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนี้ยังมีอดีตทนายความวัดพระธรรมกายและญาติธรรมเข้าแจ้งความดำเนินคดีธัมมชโยเช่นกัน ฐานฉ้อโกงเงิน ๓๕ ล้าน โดยมีข่าวว่าอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยแยกเป็น ๓ คดี
และตามด้วยสมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตโจทก์ธัมมชโยด้วยอาบัติปาราชิ ข้อหายักยอกเงินวัดและที่ดิน และทำอนันตริยกรรม ย่ำยีพระไตรปิฎกและพระพุทธเจ้า
ในเวลาต่อมานายสมพร เทพสิทธา นักวิชาการด้านศาสนาฟ้องร้องโจทก์ธัมมชโยด้วยอาบัติปาริกในความผิดฐานอวดอุตริมนุสธรรม
ต่อมาปี ๒๕๕๘
ธัมมชโย-เครือข่ายธรรมกาย ตกเป็นจำเลยในคดีรับของโจร-ฟอกเงิน สหกรณ์ฯ คลองจั่น รับบริจาคโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
ปี ๒๕๕๙
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือมาถึงผู้อำนวยการสำนักงาน พศ. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการถึงพฤติการณ์ของพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
โดยรายงานว่า การกระทำของพระธัมมชโย ถือว่าเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่่ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต” และ “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ และ ๑๕๗ ทุกประการแล้ว
—————————————
ด้วยพฤติกรรมฉาวโฉ่ขนาดนี้ของธัมมชโย ผิดทั้งธรรมวินัย ผิดทั้งจรรยาพระสังฆาธิการ ผิดทั้งหน้าที่ของพระสังฆาธิการ ในฐานะเป็นสมภารเจ้าวัด
และผิดทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา
แต่มหาเถร สำนักพุทธ เจ้าคณะปกครองก็ไม่คิดจะทำอะไร
ลองมาดูบทบัญญัติจริยาพระสังฆาธิการ ว่าไว้อย่างไรบ้าง
—————————————
จริยาพระสังฆาธิการ (วิทยาพระสังฆาธิการ ๒)
ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
ข้อ ๕๑ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย”
ทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นตัวจริยาอันพระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะละเมิดแล้ว ย่อมได้รับโทษฐานละเมิดจริยา
—————————————
มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้
(๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
(๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือ คำสั่งของมหาเถรสมาคม
(๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
(๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล
—————————————
แต่มหาเถรฯ กลับทำมองไม่เห็น หูหนวกตาบอด ไม่รู้ไม่เห็นต่อพฤติกรรมฉาวโฉ่ของธัมมชโย เจ้าอาวาส ที่เป็นถึงเจ้าคุณชั้นเทพ ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ใครเป็นเจ้าคณะปกครอง ใครเป็นผู้บังคับบัญชา ทำไมพวกเขาไม่คิดจะทำอะไรกับอลัชชีตนนี้กันบ้างเลยหรือ
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) ผู้เป็นอุปัชฌาย์ว่าไง ?
เรามาดูสิ่งที่พระอุปัชฌาย์ที่ดีควรทำ ที่กำหนดเอาไว้ในวิทยาพระสังฆาธิการ ๒
—————————————
หมวด ๓ หน้าที่พระอุปัชฌาย์
ข้อ ๑๙ พระอุปัชฌาย์เมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว มีหน้าที่ต้องถือเป็นภารธุระปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตนให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ต้องขวนขวายให้ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย และต้องออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริกตามความในข้อ ๔๑ เพื่อแสดงสังกัดถิ่นที่อยู่และความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศ
ถ้าสัทธิวิหาริกผู้มีพรรษายังไม่พ้น ๕ จะไปอยู่ในวัดอื่นใด เมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นสมควรก็ ให้สอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดนั้น เมื่อได้รับคำยืนยันรับรองที่จะปกครองดูแลสั่งสอนแทนได้ จึงให้ทำหนังสือฝากและมอบภารธุระแก่เจ้าอาวาสวัดนั้น ให้เป็นผู้ปกครองดูแลสั่งสอนแทนตน
ถ้าสัทธิวิหาริกผู้นั้นมีพรรษายังไม่พ้น ๕ จะย้ายไปอยู่ในวัดอื่นต่อไปอีกให้เจ้าอาวาสผู้รับฝากปกครองแจ้งไปยังพระอุปัชฌาย์ เพื่อได้ปฏิบัติการตามความในมาตรา ๒ แต่ถ้าพระอุปัชฌาย์นั้นพ้นจากความเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ก็ให้เจ้าอาวาสผู้ปกครองปฏิบัติการตามความในวรรค ๒
หมวด ๖ จริยาพระอุปัชฌาย์
ข้อ ๒๘ พระอุปัชฌาย์ ต้องเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติ ตามพระธรรมวินัย และกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก
ข้อ ๒๙ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๓๐ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือคำแนะนำชี้แจงของพระสังฆาธิการ ผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมนี้
ข้อ ๓๑ พระอุปัชฌาย์ ต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้บรรพชาอุปสมบทกรรมวิบัติบกพร่องไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ
—————————————
แล้วมหาเถรสมาคมล่ะทำอะไรกันอยู่ ?
นอกจากพระอุปัชฌาย์ไม่จัดการอะไร แล้วมหาเถรสมาคมล่ะหรือ เขาคงจะลืมภาระหน้าที่ๆ ตนต้องทำไปเสียแล้ว วันนี้เลยยกมาให้มหาชนทบทวนดูว่าบทบาทของมหาเถรที่ควรมีต่อสถานการณ์เช่นนี้ทำถูกต้องไหม
—————————————
มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด มีอำนาจหน้าที่ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี ดังนี้
(๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ของคณะสงฆ์
(๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น
เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใด หรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้”
—————————————
ขอถามมหาเถรฯ ว่ากฎข้อบังคับเหล่านี้เขียนเอาไว้เล่นๆ หรืออย่างไร อลัชชีธัมมชโยย่ำยีพระธรรมวินัย ย่ำยีพระพุทธเจ้า บิดเบือนคำสอน ต้องคดีความฉาวโฉ่มากมาย มหาเถรสมาคมไม่คิดจะทำอะไรกันเลยหรือ
แล้วสำนักงานพระพุทธศาสนาล่ะ ควรจะมีบทบาทต่อเรื่องนี้อย่างไร
ทีนี้ลองมาดูอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกันบ้างว่า หน่วยงานนี้เขาได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่
—————————————
ข้อ ๒ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(๒) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(๓) เสนอแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(๔) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทำนุบำรุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(๕) ดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง
(๖) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(๗) ทำนุบำรุงพุทธศาสนศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
—————————————
ถามว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาได้ทำหน้าที่ครบทุกข้อกำหนดแล้วหรือยัง
แล้วเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดล่ะ มัวทำอะไรอยู่ ?
—————————————
ข้อ ๑๕ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตของตน ดังนี้
(๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
(๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การ ศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี
(๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ
(๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ
(๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระ ภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย
(๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน
—————————————
อลัชชีธัมมชโยตั้งลัทธิธรรมกาย ที่มีคำสอนและการปฏิบัติที่บิดเบือนไปจากหลักพระธรรมวินัย ทั้งยังละเมิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องคดีความมากมายทั้งแพ่งและอาญา
ผู้ปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นยังเฉยชา ไม่สนใจ ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ไม่คิดจะทำอะไรกันบ้างเลยหรือ
ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาหายไปไหนเสียล่ะ ?
บรรดาเจ้าคุณและด็อกเตอร์ที่เคยออกมาประกาศปกป้องพระพุทธศาสนาหายหน้าไปไหน ?
ไหนบอกว่าจะทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนายังไงล่ะ
แล้วพฤติกรรมของอลัชชีลัทธิธรรมกายนี่มันเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาไหม
หรอบรรดาเฮียๆ ทั้งหลายถูกอะไรปิดปาก เลยพูดไม่ออก
พุทธะอิสระ
[ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต และข้อมูลประกอบบทความจาก:
https://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…
https://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx…
https://thaipublica.org/2015/06/credit-unions-klongchan_62/
https://www.dailynews.co.th/education/377294]