รัฐบาล คสช. ควรใช้สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ

0
121

รัฐบาล คสช. ควรใช้สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
๒๙ เมษายน ๒๕๕๙

290459-บทความ-รัฐบาล-คสช.-ควรใช้สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (๒๔ เมษายน ๒๕๕๙) หลังเลิกแสดงธรรม ๕ โมงเศษ ขณะกำลังปลูกต้นไม้อยู่หลังวัด
เจ้าวารินทร์นำโทรศัพท์มาส่งให้ แจ้งว่าท่านผู้พิพากษาโทรมา
ฉันรับโทรศัพท์มาคุย ได้ยินท่านผู้พิพากษาถามว่า
หลวงปู่ครับ ประเทศเรามันร้อนแล้งมาก
ภูเขาถูกเผา ถูกถาง หัวโล้นเต็มไปหมด
เพราะชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศผู้รับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ก็ไม่มีความรับผิดชอบ ต่อความเสียหายของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ที่พินาศไปเพราะการปลูกข้าวโพด
มีวิธีใดที่จะทำให้บริษัทที่เป็นต้นเหตุแห่งความเสียหายของทรัพยากรป่าไม้ของชาติออกมารับผิดชอบ

ผมอยากจะถามความเห็นของหลวงปู่เป็นความรู้

ฉันฟังแล้วจึงแซวท่านผู้พิพากษาว่า

ว่างมากหรือไง ถึงได้หาเรื่องมาให้ฉันเกิดคัน มาสนใจเรื่องป่าไม้ต้นน้ำลำธารและปัญหาตัดไม้ทำลายป่าเอาตอนนี้

ผู้พิพากษาตอบมาว่า ก็อากาศมันร้อน น้ำแล้ง เขื่อนก็กำลังจะน้ำแห้ง หากภายในเดือนสองเดือนนี้ฝนไม่ตกลงมาเติมน้ำในเขื่อน คนไทยคงจะไม่มีน้ำใช้
ความร้อนแล้งน้ำแห้ง คนทั้งประเทศต้องเดือดร้อนขนาดนี้ ผู้ที่เป็นต้นเหตุควรต้องรับผิดชอบกันบ้างซิครับหลวงปู่
ไม่ใช่เฉยเมยไม่รู้ไม่ชี้ โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยจากการสนับสนุนให้ปลูกข้าวโพดและรับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์
ฉันจึงบอกแก่ท่านผู้พิพากษาว่า พวกนักธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยจากการเอาเปรียบมันก็รวยได้แค่ชาติเดียวแหละผู้พิพากษา
หากจะให้พวกเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบประเทศ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยตนเองคงจะยาก
เพราะคนไทยมีอีโก้มาก อัตตาสูง โดยเฉพาะต่อมละอายอยู่ลึกมาก

ไม่เหมือนญี่ปุ่นหรือเกาหลี เขาอัตตาน้อย อีโก้เบาบาง ต่อมละอายเขาอยู่ตื้นมาก

เวลาเขาทำผิดพลาดมีผลกระทบต่อสังคม หรือประชาชน เขาก็ออกมาขอโทษ ยอมรับผิด

ต่อมละอายของคนไทยอยู่ลึกมากๆ พวกเราจึงไม่เคยเห็นการออกมาแสดงความรับผิดชอบของข้าราชการ นักการเมืองหรือนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่นักบวชในศาสนจักร ที่ทำผิดแล้วยังหน้าด้าน นิ่งเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่คิดจะออกมายอมรับผิด สารภาพผิด ขอโทษสังคม

เพราะสังคมไทยรักษาหน้ามากกว่ารักษาคุณธรรมความถูกต้อง เช่นนี้แหละ

โดยเฉพาะ ปัญหาของนักธุรกิจขี้ฉ้อเอาเปรียบ หากจะให้รับผิดชอบต้องใช้ ๒ กระบวนการคือ

๑. กระบวนการทางกฎหมาย
๒. กระบวนการทางสังคม

ส่วนเรื่องจะทำให้ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับคืนมา มันต้องเริ่มต้นจากการปลูกจิตสำนึกให้คนไทยทุกคนรักต้นไม้ รักธรรมชาติต้นน้ำลำธาร
ท่านผู้พิพากษาถามฉันว่า ทำอย่างไรล่ะครับจึงจะได้ผลระดับจุลภาคจนถึงมหาภาค
ฉันจึงแนะว่า ก็ใช้มาตรการทางภาษีซิท่านผู้พิพากษา
ถ้ารัฐบาลจริงใจ ตั้งใจที่จะฟื้นฟูสภาพป่า
ต้องเริ่มต้นจากการออกกฎหมายมาตรการทางภาษี
บังคับว่าคนที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นหรือไม้เนื้อแข็งเดือนละกี่ต้น ปีละกี่ต้น ทั้งในที่ดินส่วนบุคคลและในที่ดินสาธารณะ

รัฐจะลดหย่อนภาษีให้ปีละเท่าไหร่ก็ว่าไป
ส่วนเรื่องกระบวนการทางสังคมนั้น นอกจากจะปลูกจิตสำนึก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมรักษา ซ่อมแซมทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำลำธารแล้ว

ยังจะต้องให้ประชาชนทุกคน ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย

ต้องมีหน้าที่ เฝ้าระวัง รับผิดชอบ ต่อน้ำ ป่า เขา อากาศ สิ่งแวดล้อม อย่างจริงจัง

หากผู้ใดละเลย เพิกเฉย คิดว่าธุระไม่ใช่

เช่นนั้นก็ต้อง ประจาน ให้ภาคประชาสังคม บอยคอต ด้วยกรรมวิธีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ถ้าประชาชนคนใด กลุ่มใด พวกใด

มีความสำนึกรับผิดชอบ ดูแล รักษา น้ำ ป่า เขา อากาศ สิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม

ภาคประชาสังคม และรัฐ ต้องช่วยกันเชิดชู ประกาศเกียรติคุณ ให้สังคมได้รับรู้ ภาครัฐ ควรจัดเบี้ยสมนาคุณพิเศษ ให้เป็นรางวัล

ท่านผู้พิพากษาแย้งว่า แล้วคนที่รายได้ไม่ถึงห้าหมื่นบาทซึ่งไม่ต้องเสียภาษีก็ไม่ต้องปลูกซิหลวงปู่

ฉันตอบว่า ก็ใช้มาตรการสวัสดิการทางสังคมซิท่าน
เช่น ค่ารักษาพยาบาลฟรี หรือเพิ่มเบี้ยยังชีพเมื่อถึงวันปลดเกษียณ หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์สำหรับคนช่วยปลูกต้นไม้แล้วมีหลักฐานยืนยัน ได้จากต้นไม้ที่รอดตายเจริญเติบโตดี ในพื้นที่ไหน จำนวนเท่าไหร่
ถือเป็นการปลูกต้นไม้ในใจคนให้ทุกคนทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้ รักษาต้นไม้ ดูแลจนเติบโต สามารถจับต้องพิสูจน์ได้จริง
เริ่มจากปลูกบริเวณบ้าน ปลูกในที่สาธารณะ ปลูกตามป่าเสื่อมโทรม
หากรัฐมีมาตรการทางภาษีมาจูงใจ แม้บริษัทห้างร้านก็ไม่เว้น

รัฐมีหน้าที่เพียงแค่ตรวจเช็คผลงาน ใครปลูกมาก รอดมาก ได้ต้นไม้พื้นที่สีเขียวมาก ภาษีและสวัสดิการก็ลดมาก มีมากตามผลงานที่ปรากฏ ๕ ปี ๑๐ ปี แผ่นดินไทยก็เขียวขจีแล้วท่านผู้พิพากษา
ส่วนคนที่ลอบตัดไม้เผาป่า ก็คือการทำลายคลังสมบัติของชาติ ทำร้ายคนในชาติทุกคน จะอ้างความยากจนแล้วทำลายคนอื่นไม่ได้
เมื่อเขากล้าทำลายธรรมชาติ ก็เท่ากับทำลายชาติ ต้องกำหนดโทษอย่างหนัก เพื่อให้หลาบจำ เช่น บังคับให้ปลูกป่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า ของต้นไม้หรือป่าที่เขาทำลายลงไป

หรือปรับเป็นเงินจากการประเมินความเสียหายจริง ๒ เท่า หากไม่มีเงินจ่าย ให้ทำงานปลูกป่า ทำแนวกันไฟ ช่วยดับไฟป่า เป็นเวลากี่เดือน กี่ปี ก็ว่ากันไป

แต่ไม่ควรจำคุก รัฐต้องมานั่งเลี้ยงดูอีก สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แถมไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ป่าเลย และหากบริษัทห้างร้านใด เป็นต้นเหตุให้ชาวบ้านทำลายป่า ต้องปรับสินไหมด้วยการปลูกป่าทดแทนให้สมบูรณ์กว่าเดิมเป็น ๑๐ เท่า พร้อมขึ้นบัญชีว่า เป็นบริษัทห้างร้าน ที่เอาเปรียบสังคม ถ้ายังกระทำผิดอีก ก็ประจาร ให้ภาคประชาสังคมลงโทษ ไม่คบ ไม่ซื้อสินค้า เท่านี้ คงไม่มีใครกล้าเอาเปรียบคนทั้งประเทศ ตัดไม้ ทำลายป่าอีก
ท่านผู้พิพากษาตอบรับว่า ผมเข้าใจแล้ว
วิธีคิดของหลวงปู่คือการปลูกต้นไม้ในใจคน
ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่อทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมใช่ไหมครับ
ถูกต้องท่านผู้พิพากษา หากรัฐบาลนี้สามารถทำได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นการวางรากฐานในการแก้ปัญหาภัยแล้ง อากาศร้อนได้อย่างยั่งยืน

แต่ถ้ารัฐบาล ที่มีอำนาจรัฐาธิปัตย์อยู่ในมือ ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็อย่าหาว่า รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำได้
พุทธะอิสระ
[ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต]