ร่างพรบ.ฉบับปฏิรูปบางหมวดและบางมาตรา

0
177

บทความ

ร่าง พรบ.ฉบับปฏิรูปบางหมวดและบางมาตรา

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

 

ร่างพรบ.ฉบับปฏิรูปบางหมวดและบางมาตรา

 

ขอยกเอาร่าง พรบ.ปกครองคณะสงฆ์ ฉบับปฏิรูปบางหมวดบางมาตรา มาให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาและเทียบเคียงกับของเก่าที่บังคับใช้ ว่ามีผล แตกต่างกันอย่างไร อ่านกันเล่นๆ ไปพลางๆ ก่อน

 

เช่นตัวอย่าง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หมวด ๒ ว่าด้วยเรื่องมหาเถรสมาคม

 

มาตราที่ ๑๒ หมวดมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน ๑๒ รูป เป็นกรรมการ

 

ส่วนฉันยกร่างปฏิรูปในมาตราเดียวกัน ความว่า

 

มาตรา ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

 

มาตราที่ ๑๓ ของเดิม ให้อธิบการบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม

 

ฉบับยกร่างปฏิรูปเขียนว่า

 

มาตรา ๑๓ มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ หรือมหาเถรผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัย มีสติปัญญาสามารถ เป็นที่ยอมรับของสังฆมณฑลและพุทธบริษัททั้ง ๔ ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม

 

มาตราที่ ๑๔ ของเดิม กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

 

ฉบับยกร่างปฏิรูป

 

มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมเป็นผู้ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้า หรือเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะสงฆ์ในทุกภูมิภาค และทุกนิกายในเมืองไทยที่ได้รับรองตามกฎหมาย

 

มาตราที่ ๑๕ ของเดิม นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

 

(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

 

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทนกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่ง ตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

 

ฉบับยกร่างปฏิรูป

 

มาตราที่ ๑๕ กรรมการมหาเถรสมาคมจะพ้นจากตำแหน่งต่อเมื่อ

 

(๑) มรณภาพ
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากความเป็นภิกษุ
(๔) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
(๕) สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระบัญชาให้ออก
(๖) ต้องอธิกรณ์จนเป็นมลทินหรือมีประวัติในการละเมิดพระธรรมวินัย ละเมิดกฎหมาย

 

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยกรณีใด สมเด็จพระสังฆราชจะทรงแต่งตั้งพระภิกษุผู้ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะภาค ที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้เรียกประชุม แต่มีคะแนนรองลงมาให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมที่ว่างลง

 

มาตรา ๑๕ ทวิ ของเดิม การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามมาตรา ๑๒ และการให้กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช

 

ฉบับยกร่างปฏิรูป

 

มาตราที่ ๑๕ ทวิ การคัดเลือกกรรมการมหาเถรสมาคมในส่วนภูมิภาค ให้เจ้าคณะตำบลทุกตำบลเสนอชื่อภิกษุผู้มีคุณสมบัติตรงต่อข้อกำหนดใน มาตราที่ ๑๕ เสนอไปยังเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอทำประวัติส่วนตัวแต่ละรูปพร้อมทั้งคุณสมบัติและความสามารถพิเศษ แล้วให้ผู้มีสิทธิทุกรูปได้แสดงวิสัยทัศน์รูปละ ๑๕ นาที เพื่อให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนในทางลับเพื่อคัดเลือกกันเอง ให้เหลือภาคละ ๑๐ รูป เจ้าคณะภาคทำประวัติและรวบรวมคะแนนของแต่ละรูปพร้อมทั้งมีความเห็นในข้อดีข้อเสียของผู้ได้รับการคัดเลือกของแต่ละรูป ส่งถึงสำนักงานเลขาสมเด็จพระสังฆราช

 

มาตรา ๑๕ ตรี ของเดิม มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

 

(๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
(๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
(๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษา สงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์
(๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

 

เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ใชับังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

ฉบับยกร่างปฏิรูป

 

มาตราที่ ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 

(๑) เป็นที่ปรึกษาและถวายคำแนะนำต่อสมเด็จพระสังฆราชในการบัญชาการคณะสงฆ์
(๒) กำหนดนโยบายในการปกครองและบริหารกิจการงานคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง
(๓) ทำการกำกับดูแล สอดส่อง อนุเคราะห์ อุดหนุน ในกิจการการคณะสงฆ์และการศึกษาคณะสงฆ์ให้เจริญก้าวหน้า เรียบร้อยดีงาม และเป็นไปตามหลักการของพระธรรมวินัย
(๔) กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย เพื่อใช้ในการปกครองคณะสงฆ์และกำกับดูแลกิจการคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับหลักธรรมวินัย
(๕) มีอำนาจหน้าที่ออกมติสั่งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตในกิจการใดๆ ของคณะสงฆ์หรือคฤหัสถ์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ที่เห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อพระธรรมวินัยและความสงบเรียบร้อยของสังฆมณฑล
(๖) มีอำนาจหน้าที่สอดส่องกำกับดูแลการปกครองและการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักพระธรรมวินัย
(๗) กรรมการมหาเถรสมาคมมีอำนาจออกมติถอดถอนบุคคลหรือภิกษุผู้มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ที่มีความประพฤติเป็นอันตรายต่อพระธรรมวินัยให้พ้นจากตำแหน่ง

 

พุทธะอิสระ