เราท่านทั้งหลาย มาดูลีลาโวหารยกตนข่มท่านของศาสดาต้นกันอีกที
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
**************************
คลิป : ข้อแตกต่างระหว่างบท พุทโธ เม นาโถ กับ บทพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ที่มา : https://www.facebook.com/watch/?v=2761789397459863
พระ อ. ต้น : บทพุทโธ เม นาโถ เป็นคําจําเพาะในบทบาลีเพื่อสื่อถึงการเข้าพึ่งพระรัตนตรัย และเป็นการบอกจิตเราเองให้ยึดพึ่งอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วสลัดการยึดพึ่งจากสิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยออกจากจิตให้หมด เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามที่จิตเรายังมีการยึดพึ่งสิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยแล้วเนี่ย แล้วยังเชื่อและให้ความสําคัญว่าสิ่งนั้นจะช่วยเหลือส่งเสริมคุ้มครอง ป้องกัน รักษา และอํานวยผลตอบสนองต่อความเรียกร้องที่เราปรารถนาและต้องการอธิษฐาน แล้วก็รอหวังผลดลดลบันดาลจากสิ่งนั้นปนเปไปกับการยึดถือพระรัตนตรัยด้วย รัตนตรัยจะไม่เป็นรัตนตรัย เพราะมันมีการนับถือแบบปนเป รัตนตรัยจะไม่เกิดการนับถือแบบปนเปกับสิ่งอื่น ฉะนั้น ในความหมายของการระลึกถึงพุทโธ เม นาโถ, ธัมโม เม นาโถ, สังโฆ เม นาโถ จึงเป็นคําจําเพาะที่ให้จิตเรากับพระรัตนตรัยเชื่อมต่อกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายถึงว่าต้องการให้จิตยึดพึ่งรัตนตรัยเพียงแค่หนึ่งเดียว ที่พึ่งหนึ่งเดียวของเราคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่ารัตนตรัย กับบทที่เรียกว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ เป็นบทที่บอกว่าเราจะระลึกถึงพระรัตนตรัย เราจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าด้วยการระลึก “พุธธัง” ภาวะอันรู้ตื่นเบิกบานหรือพุทธเจ้าก็ได้ “สะระณัง” แปลว่า การระลึก “คัจฉามิ” แปลว่า การเข้าถึง ข้าพเจ้าขอเข้าถึงพุทธเจ้าโดยการระลึก ข้าพเจ้าขอเข้าถึงพระธรรมโดยการระลึก ข้าพเจ้าขอเข้าถึงพระสงฆ์โดยการระลึก หมายถึงว่าข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระธรรม ข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระสงฆ์ แต่ระลึกหรือยังล่ะ? (เสียงลูกศิษย์ตอบ “ยัง”) บอกว่าจะระลึกไง ฉะนั้น เวลานี้ที่ระลึกก็คือระลึกว่า พุทโธ เม นาโถ, ธัมโม เม นาโถ, สังโฆ เม นาโถ
คําๆ นี้ต้องเป็นคํานี้ด้วย คําอย่างอื่นจะไม่ได้ คํานี้จะเป็นตัวเชื่อมต่อจิตกับพระรัตนตรัยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พิธีกร : เพราะฉะนั้น บทพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ นี่จะเฉพาะตอนเริ่ม…
พระ อ.ต้น : เป็นการประกาศตนเองให้เข้าถึงรัตนตรัย การประกาศตนเองให้เข้าถึงรัตนตรัยต้องประกาศด้วยบทนี้
ว่าข้าพเจ้าจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่ระลึกทางใจเท่านั้น จะไม่ระลึกเอาอย่างอื่นมาเป็นเครื่องยึดพึ่ง จะระลึกเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นเครื่องยึดพึ่งทางใจ แต่เมื่อประกาศตนเองแล้วปุ๊บก็ต้องระลึกโดยการบทที่ว่า พุทโธ เม นาโถ, ธัมโม เม นาโถ, สังโฆ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า บทนี้จะตัดการยึดพึ่งอย่างอื่นนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าเราระลึกบทนี้แต่ยังยึดพึ่งอย่างอื่นอยู่ บทนี้จะไม่เชื่อมต่อจิตกับพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยกับจิตจะไม่เชื่อมต่อกัน เพราะพระรัตนตรัยจะเชื่อมต่อกับจิตที่ว่างจากการยึดสิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยอยู่ภายใน
พิธีกร : พระอาจารย์คะ ถ้าเช่นนั้นการที่เราจะขอเข้าถึงนี่ก็ในหนึ่งครั้งในชีวิตประกาศครั้งเดียวนี้พอไหม
พระ อ.ต้น : ก็พระองค์บอกว่าการบวชมาเป็นพระภิกษุหรือสามเณร สามเณรบวชได้ไตรสรณคมน์…ใช่มั้ยล่ะ? พอเข้าถึงไตรสรณคมน์ได้แล้วก็ถือว่าเป็นผู้บวชแล้ว
ประกาศตนเองเป็นผู้ (1) ประกาศตนเองเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา (2) ประกาศตนเองเป็นผู้บวช
ก็คือไตรสรณคมน์และสมาทานศีลใช่ไหมล่ะ เสร็จแล้วไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องไปประกาศไตรสรณคมน์อย่างแน่นอนว่าข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง วันใหม่มาก็บอกว่าข้าพเจ้าจะประกาศตนเองเป็นผู้บวชอยู่อย่างนี้ตลอด..ไม่ใช่ ก็บวชแล้วก็แล้วไปสิ นอกนั้นก็ระลึกไปเลย ระลึกพึ่งไปเลย เหมือนกันกับพวกเราประกาศตนเองเป็นอุบาสก อุบาสิกาผ่านพระรัตนตรัย…ใช่ไหมล่ะ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ประกาศตนเองเป็นอุบาสก อุบาสิกา คล้ายๆ กับบอกว่าข้าพเจ้าขอแสดงตนเองเป็นอุบาสก อุบาสิกา โดยการยึดถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่ระลึกเป็นที่ยึดพึ่งอย่างนี้นะ ประกาศตนเองอย่างนี้ พรุ่งนี้เช้าก็มาประกาศว่าตัวเองจะขอยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พรุ่งนี้เช้าก็ประกาศตนเองว่าเป็นผู้ขอยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ตื่นเช้ามาอีกวันต่อไปก็ประกาศว่าตัวเอง ดีไม่ดีตกตอนเย็นก็ประกาศตนเองอีกว่าจะระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ยึดพึ่ง สรุปแล้วคือไม่ได้ยึดสักที ก็ประกาศแล้วก็แล้ว ความเป็นอุบาสก อุบาสิกาเสร็จแล้วก็นอกนั้นก็ระลึกเลย พุทโธ เม นาโถ ไปเลยตลอดทั้งวันและคืน แม้แต่การสมาทานศีลก็ตาม กิจของการสมาทานทำเพียงแค่ครั้งเดียวพระพุทธเจ้าว่าอย่างนี้นะ นอกนั้นเป็นกิจของการรักษา
—————- จบคลิป ————–
เห็นต่างนะต้น
ต้นนายนี้เลอะเทอะใหญ่แล้วนะ
เวลานายขอเข้ามาบวชเณรบวชพระ นายก็สวด
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอยึดเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก)
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก)
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอยึดเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก)
แล้วหมู่สงฆ์จึงสวดญัตติจตุตถกรรมวาจายกนายให้เป็นภิกษุ พอนายดังหน่อย นายก็ตั้งตนเป็นศาสดา ออกมาสอนว่า สิ่งที่นายสวด นายท่องต่อหน้าพระอุปัชฌาย์และหมู่สงฆ์ ไม่ทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้
เช่นนี้ก็แสดงว่า นายเป็นพวกเดียรถีย์ เข้ามาในพระธรรมวินัยนี้หละซิต้น
ต้นเอ๋ยต้น….นี่นายมันไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ว่า คำสวดคำขอแสดงตนเพื่อถึงซึ่งพระรัตนตรัยนี้ เขามีมาและใช้กันมาก่อนสองพันห้าร้อยหกสิบเจ็ดปีแล้ว
ซึ่งก็เกิดขึ้นครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ในคราวที่พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระอรหันต์สาวกเป็นอุปัชฌาย์ในครั้งแรก เพื่อให้ทำการบวชกุลบุตรเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ และการอุปสมบทวิธีนี้ คือ ติสรณคมนูปสัมปทา ในคราวเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรก
แล้วคาถา พุทโธ เม นาโถ ที่ต้นย้ำนักย้ำหนาว่า สามารถนำพาให้ผู้สาธยายได้เข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยได้ดีกว่า เยี่ยมกว่า มั่นคงกว่า ดังที่ต้นบรรยาย ผายลมมานี่ เกิดขึ้นมาแต่เมื่อใด เกิดที่ไหน ใครเป็นผู้สอน
พุทธะอิสระชักเริ่มสงสัย (ซึ่งจริงๆ แล้วสงสัยมานานแล้ว) ว่า ต้นกำลังเผยแพร่คำสอนของศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ กำลังเผยแพร่คำสอนของศาสดาต้นเองหรือเปล่า
รอคำตอบอยู่นะว่า ต้นไปเอาคำสอน พุทโธ เม นาโถ มาจากไหน ใครเป็นผู้สอน
พุทธะอิสระ
——————————————–