พยายามจะใช้สติปัญญาอันน้อยนิดนี้อธิบายให้ท่านผู้ใช้นามว่า ใฝ่หาธรรม เข้าใจบริบทของสิ่งที่คุณปรารภมา
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๗
*****************
ใฝ่หาธรรม :
ตถาคตตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ
แล้วนิพพานจะอยู่ที่ใจได้อย่างไร
มันรับรู้ได้ด้วยใจ แต่ไม่ได้หมายถึงว่ามันอยู่ในใจ ก็ถูกแล้วนี่
*****************
ก่อนที่จะอธิบายความ ขอนำที่มาของพระพุทธธรรมคำสอนที่คุณยกมากล่าวอ้างให้รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
*****************
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ – หน้า 711 ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ปฐมนิพพานสูตรที่ ๑ ว่าด้วยอายตนะ คือ นิพพาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญย์ตนะ (ความว่าง) วิญญาณจรัญตนะ (วิญญาณ) อากิญจัญญายตนะ (ความไร้ร่องรอย) เนวสัญญานาญาตนะ (ภาวะความทรงจำก็ใช่หรือไม่มีก็ไม่ใช่) โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.
จบปฐมนิพพานสูตรที่ ๑
*****************
ขยายความในคำสอนที่มาในของพระสูตรนี้ว่า องค์พระบรมศาสดาทรงชี้ให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง และไม่มีจริง ในขณะที่ปัญญารู้แจ้งชัด ไม่มีข้อความใดชี้ว่า นิพพานไม่ได้มีอยู่ในใจเลย
เหตุเพราะคราใดที่จิตนี้มีปัญญารู้แจ้งชัด ความปรุงแต่งในสังขารขันธ์ทั้งปวงดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นในจิตนี้ก็จักดับไป และการดับแห่งการปรุงแต่งนี้แหละเรียกว่า สภาวะนิพพานหละ
เมื่อเป็นเช่นนี้คุณจักกล่าวว่า นิพพานมิได้เกิดขึ้นแก่จิตใจแล้วจะเรียกว่าอะไร
พุทธะอิสระก็มีคำถามไปถึงโสดาต้นว่า เห็นออกมาลอยหน้าลอยตาอธิบายคำบาลี ดุจดังเป็นผู้รอบรู้อยู่หลายครั้ง จึงใคร่ถามพระบาลีบทที่ว่า
*****************
นิพพานัง ปรมัง สุขัง
พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง สุขอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานไม่มี
*****************
เมื่อโสดาต้นชอบสอนศิษย์ของตนว่า นิพพานมิได้เกิดขึ้นในใจ แล้วความสุขที่เกิดจากการดับและเย็น ของสังขารขันธ์ทั้งปวง จะรับรู้ได้อย่างไร
เอ้า…ตอบมา
หรือจะให้พวกสาวกที่เป็นโสดาทั้งหลายตอบก็ได้
อีกสักพระพุทธสุภาษิตหนึ่งเพื่อยืนยันให้ได้รู้ว่า จิตนี้เป็นนาย เป็นใหญ่ในการงานทั้งปวง
*****************
ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน ยตฺถ กามนิปาติโน
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ.
การฝึกจิตที่ข่มยาก ที่เบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่
เป็นความดี, ( เพราะว่า ) จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้.
*****************
ส่วนที่คุณสงสัยมาว่า แล้วนิพพานจะอยู่ในใจได้อย่างไร
ขออธิบายด้วยสติปัญญาอันน้อยนิดของพุทธะอิสระว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกามกิเลสทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ ล้วนมีใจเป็นแดนเกิดทั้งนั้น
บัณฑิตผู้มีสติปัญญา เมื่อฝึกอบรมจิตใจดีแล้ว ย่อมละเสียได้ซึ่งมูลเหตุแห่งเครื่องร้อยรัดทั้งปวงได้
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–
ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=931896852135918&set=a.107732901218988