เห็นต่างนะจาน : พระนิพพานอยู่ในใจเราใช่หรือไม่?

0
25

เห็นต่างนะจาน
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๗

********************************

คลิป : พระนิพพานอยู่ในใจเราใช่หรือไม่?

@ajahnton

นิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ใจเป็นอย่างหนึ่ง ใจสามารถรับรู้นิพพานได้ แต่นิพพานไม่สามารถอยู่ในใจได้ #AjahnTon #ธรรมนาวา #ธรรมะแนวใหม่ #พุทธยุวชน

♬ เสียงต้นฉบับ – AjhanTon – พระอาจารย์ต้น – AjahnTon – พระอาจารย์ต้น
คลิป : พระนิพพานอยู่ในใจเราใช่หรือไม่?
ที่มา : https://www.tiktok.com/@ajahnton/video/7233764760402038022

พิธีกร : อีกคำถามหนึ่งเจ้าคะ นิพพานอยู่ในใจใช่ไหมครับ

พระ อ.ต้น : เอ่อ..มันไม่ได้อยู่ในใจหรอกนิพพานน่ะ

จะอธิบายยังไงดี ใจก็เป็นธรรมชาติที่มันจะต้องดับสลาย เข้าใจมั้ย ใจเองก็เป็นอำนาจที่ดับสลาย คือเป็นธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยง มันเป็นสังขตะ คือ ระบบของการปรุงแต่ง ใจก็ถูกปรุงแต่งมา แต่นิพพานเป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง สิ่งที่ไม่ปรุงแต่งจะไปอยู่ในสิ่งที่ปรุงแต่งไม่ได้ แต่รับรู้กันได้ การรับรู้ไม่ใช่นิพพานมาอยู่ในใจเรา เหมือนกับการมองเห็นกันอย่างนี้ มองเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวคนนั้นมาอยู่ในตาเรา แต่เรารับรู้จากดวงตาเรากับการเห็นคน..เข้าใจไหม? แต่คนนั้นไม่ได้อยู่ในดวงตา แต่การรับรู้มันเกิดขึ้นที่นี่(ชี้มาที่ตา) เหมือนกันนิพพานมันอยู่ในระบบของอสังขตะ เจริญอริยมรรคไปจนเชื่อมต่อกับกระแสพระนิพพาน อริยมรรคทำพระนิพพานให้ปรากฏแก่ดวงตา คือตาภายในใช่ไหม เขาเรียกว่า จักขุง อุทะปาทิ นี้แปลว่าตาภายในตาคือปัญญานะ ดวงตาเกิดขึ้นแล้วเนี่ย คือเห็นแล้วกระแสพระนิพพาน แต่นิพพานไม่ได้มาอยู่ในใจ แต่เกิดการรับรู้นิพพานในใจ นิพพานไม่ได้มาอยู่ในใจ เข้าใจ? เออ…

พิธีกร : โยมเข้าใจแล้วค่ะ เวลาโยมพิจารณาอารมณ์หรืออุปปาทานขันธ์เจ้าค่ะ โยมมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามันไม่ได้เข้ามาอยู่ในใจเรา แต่มันอยู่เหมือนภายนอกที่มันรวมกัน

พระ อ.ต้น : แต่เรารับรู้อยู่ข้างใน แต่สิ่งนั้นมันอยู่ข้างนอก

พิธีกร : รับรู้อยู่ข้างใน ใช่เจ้าค่ะ

พระ อ.ต้น : เหมือนกับที่พระอาจารย์บอกว่าความโกรธน่ะมันอยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ข้างใน แต่คนจะหลงว่าเป็นข้างใน แต่มันรับรู้อยู่ข้างในก็เลยคิดว่าเราโกรธ นี่คือความไม่เข้าใจไง คือความหลงไง อารมณ์อื่นๆ เหมือนกัน อย่าคิดว่ามันอยู่ข้างใน มันอยู่ข้างนอก แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ที่เราไม่รู้จักอารมณ์ที่อยู่ข้างนอกที่มันเกิดการรับรู้จากข้างในเนี่ย เราหลงอารมณ์นั้น อารมณ์ข้างนอกก็อยู่ข้างนอกแหละ แต่มันจะก้าวมาเป็นอารมณ์ในใจเราเพราะเราหลงไม่รู้ คือสร้างมันขึ้นจากความหลงไม่รู้นั่นแหละว่ามันมีอยู่ในตัวเรา แล้วหลงผิดว่าตัวเองเป็นในอารมณ์นั้นแล้วเกิดการเพ่งโทษสิ่งต่างๆ อยู่รอบตัวเรา อันนี้ถ้าไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องอีกก็นี่แหละโมหะ…หลง

พิธีกร : งั้นโยมมองถูกแล้วเจ้าคะ เห็นมันหมุนอยู่ข้างนอก อ๋อ…มันเกิดขึ้นหมุนอยู่ข้างนอกเนี่ยแหละ แล้วมันก็ดับตรงนั้นแหละ

พระ อ.ต้น : ใช่

*********************************

ขออนุญาตเห็นต่างจากจานโสดาต้นเขาหน่อย

และขออนุญาตเผือกตอบคำถามของพิธีกรที่ดันไปถามโสดาต้น เลยได้รับคำตอบแบบผิดๆ ไปจากคำสอนของพระบรมศาสดามา

พระศาสดาทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนส ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมมีแก่เขา ดุจดังเงาตามตัว

เมื่อพระศาสดาทรงตรัสสอนว่า การทั้งหลายมีใจเป็นนาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ

แต่เมื่อมีผู้ถามว่า จานโสดาต้นนิพพานอยู่ที่ใจหรือไม่ จานต้นกลับตอบว่า ไม่ได้อยู่ที่ใจ แต่ใจรับรู้ได้

พุทธะอิสระฟังแล้วดูมันทะแม่งยังไงชอบกล

หากนิพพานไม่ได้อยู่ที่ใจ แล้วพระพุทธเจ้าจักสอนเรื่องการไม่ปรุงแต่งไว้ในหลักปฏิจจสมุปบาททำไม ?

*************

หลักปฏิจจสมุปบาท

• เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ให้เกิดสังขารทั้งหลายจึงมี

• เพราะสังขารเป็นปัจจัย ให้เกิดวิญญาณจึงมี

• เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย ให้เกิดนามรูปจึงมี

• เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ให้เกิดสฬายตนะ หรือ อายตนะ จึงมี

• เพราะสฬายตนะ หรือ อายตนะ เป็นปัจจัย จึงให้เกิดผัสสะจึงมี

• เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ให้เกิดเวทนาจึงมี

• เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ให้เกิดตัณหาจึงมี

• เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ให้เกิดอุปาทานจึงมี

• เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ให้เกิดภพจึงมี

• เพราะภพเป็นปัจจัย ให้เกิดชาติจึงมี

• เพราะชาติเป็นปัจจัย ให้เกิดชรามรณะจึงมี

• ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี

*************

กระบวนการปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ รอบนี้ล้วนเกิดขึ้นแก่ใจและเกิดขึ้นแก่กายหรือรูปกับนาม อีกทั้งจะดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ล้วนต้องดับที่ใจทั้งนั้น เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทานดับ จึงจักพูดถึงนิพพาน คือ ความดับและเย็น ล้วนแต่เป็นขบวนการเกิดขึ้นที่ใจทั้งนั้น

อีกทั้งยังทรงสอนว่า ชีวิตนี้ประกอบไปด้วยขันธ์ทั้ง ๕ อันได้แก่

รูป หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ประชุมรวมกันเป็นร่างกาย
เวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข ทุกข์ และเฉยๆ
สัญญา หมายถึง ความจำได้หมายรู้
สังขาร หมายถึง การที่ใจหรือจิตนี้ปรุงแต่งในอารมณ์ทั้งปวง
วิญญาณ หมายถึง การรับรู้อารมณ์ (รวมเรียกว่ารูปกับนาม)

เมื่อจานโสดาต้น สอนลูกศิษย์ว่า นิพพานไม่ได้อยู่ที่ใจ แล้วพระพุทธเจ้าจะสอนให้ดับขันธ์ ๕ ไปทำไม อีกทั้งที่ทรงสอนว่า อาการจิต ๑๐ อย่าง คือ

– คิด เป็น จิต
– น้อมไปในอารมณ์ที่คิด เรียกว่า มโน
– เก็บอารมณ์นั้นไว้ เรียกว่า หทัย
– พอใจ เรียกว่า มนัส
– แช่มชื่นเบิกบาน เรียกว่า ปัณฑะ
– สืบต่อในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า มนายตนะ
– เป็นใหญ่ในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า มนินทรีย์
– รับรู้อารมณ์ เรียกว่า วิญญาณ
– รู้เป็นเรื่องๆ อย่างๆ เรียกว่า วิญญาณขันธ์
– รู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ

เช่นนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นิพพานจะเกิดขึ้นนอกจิตใจ อีกทั้งหน้าที่ของจิตมี ๔ อย่าง คือ

รู้อารมณ์
รับอารมณ์
จำอารมณ์
คิดในอารมณ์นั้นๆ

แม้นิพพานจะไม่ใช่อารมณ์เป็นสภาวธรรม แต่มันต้องเกิดขึ้นแก่จิตใจ ในขณะหนึ่งๆ เท่านั้น จึงจะรับรู้ได้ ซึ่งมันไม่ตรงกับนิพพานของจานโสดาต้นแม้แต่น้อยนิด

เฮ้อ…เหนื่อยใจไปกับคำสอนของอริยมหาโจรคนนี้เสียจริงๆ

เวรกรรม เวรกรรม ช่างน่าสงสารคนที่ไปหลงเชื่อเสียยิ่งนัก

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid038KcyUJtLUqR6NjZban9U7GtXRayH6tk9JcCWy9iw1WS3Aw73sUr1WPCJU5SfZmjjl