ถามมา ตอบไป นักเทศน์นักสอน : ว่าฝึกสมาธิแล้วทำให้เกิดปัญญา ซึ่งแท้จริงสมาธิมีอารมณ์วางเฉยที่เรียกว่า อุเบกขาเท่านั้น ไม่สามารถบรรลุเข้าถึงปัญญาได้

0
23

ถามมา ตอบไป นักเทศน์นักสอน
๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๗

มีบางรูปออกมาบอกมาสอนลงในไอจี อินเตอร์เน็ตว่า พวกเราถูกสอนให้โงงกันมาเสียนาน ว่าฝึกสมาธิแล้วทำให้เกิดปัญญา ซึ่งแท้จริงสมาธิมีอารมณ์วางเฉยที่เรียกว่า อุเบกขาเท่านั้น ไม่สามารถบรรลุเข้าถึงปัญญาได้ ผมจึงอยากถามหลวงปู่ว่า แท้จริงแล้วผู้ฝึกสมาธิสามารถบรรลุถึงปัญญาได้หรือไม่

ตอบ :

ก่อนที่คุณจะรู้ว่า ผู้ฝึกสมาธิสามารถบรรลุถึงปัญญาได้หรือไม่

เราท่านทั้งหลายควรมาทำความรู้จักคำว่า สมาธิกันก่อนว่า สมาธิหมายถึงจิตที่ตั้งมั่นในการงานที่กำลังทำ เช่น กรรมฐาน เป็นต้น มีกี่ประเภท

สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วครู่ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นสมาธิขั้นต้นที่บุคคลทั่วไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่การงานและมีชีวิตประจำวัน

2. อุปจารสมาธิ คือ สมาธิเบื้องต้นที่จิตตั้งมั่นได้ในระดับเบื้องต้น จนถึงองค์ปฐมฌาน อาจจะเกิดนิมิตต่างๆ เช่น เห็นแสงสว่างอยู่ระยะหนึ่ง มีความอิ่มเอิบน้ำตาไหล เป็นต้น

3. อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่จิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ฌาน เป็นการทำสมาธิขั้นสูง

อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ล้วนแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น

ปฐมฌาน ( ฌานที่ ๑ ) ประกอบด้วยอารมณ์ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา

ทุติยฌาน ( ฌานที่ ๒ ) ละวิตก ทิ้งวิจารณ์ เหลือแต่อารมณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา

ตติยฌาน ( ฌานที่ ๓ ) ละปิติ เหลือแต่อารมณ์ สุขกับเอกัคคตา

จตุตถฌาน ( ฌานที่ ๔) ละสุขเหลือแต่อารมณ์ อุเบกขากับเอกัคคตา

การที่ภิกษุนักพูด นักเทศน์บางรูปออกมาพูดว่า เราถูกสอนให้โงงมาเสียนาน ว่าฝึกสมาธิแล้วทำให้เข้าถึงปัญญา ซึ่งแท้จริงสมาธิมีอารมณ์วางเฉยที่เรียกว่า อุเบกขาเท่านั้นไม่สามารถบรรลุถึงปัญญาได้

ที่จริงท่านก็พูดไม่ผิด เพราะผลแห่งสมาธิขั้นที่ ๔ หรือจตุตถฌาน มีอารมณ์เหลืออยู่แค่ ๒ อย่าง คือ เอกัคคตาและอุเบกขา

แต่หากภิกษุรูปนั้นเป็นนักปฏิบัติจริงๆ ท่านก็จะรู้ว่า ในขั้นปฐมฌานจะมีอารมณ์ ๕ อย่าง คือ

วิตก คือ การตรึก นึกคิด ในกรรมฐานที่กำลังเจริญ

วิจารณ์ คิด วิเคราะห์ ใคร่ครวญในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

ปิติ คือ อารมณ์ความอิ่มอกอิ่มใจที่ห่างไกลจากอารมณ์อกุศลทั้งปวง

สุข ความพึงพอใจ ปลาบปลื้มใจจนน้ำหูน้ำตาไหล

เอกัคคตา คือ มีอารมณ์เดียวที่มั่นคงอยู่กับองค์กรรมฐานที่เจริญอยู่

และเมื่อละวิตก วิจารณ์เหลืออารมณ์อยู่แค่ ปีติ สุข เอกัคคตา เรียกว่า ทุติยฌาน

ต่อมาถ้าสามารถละปีติลงเสียได้เหลือแค่ สุข เอกัคคตา เรียกว่า ตติยฌาน

และเมื่อสามารถละสุขลงได้มีแค่อุเบกขากับเอกัคคตา เรียกว่า จตุตถฌาน

ซึ่งหากนักปฏิบัติธรรมที่เจริญสมาธิอย่างช่ำชอง เชี่ยวชาญ เขาก็จะรู้ว่า เมื่อทำสมาธิ เจริญสมาธิจนถึงขั้นฌาน ๔ แล้วหากต้องการปัญญา ต้องถอยอารมณ์ฌานจากจตุตถฌาน ลงมาทีละขั้นจนถึง ปฐมฌาน แล้วตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ปฐมฌาน ใช้อารมณ์วิตก วิจารณ์ นั้นมาพิจารณาในอรรถธรรม พยัญชนะใดๆ ที่นำมาซึ่งความเห็นจริง รู้แจ้งแล้วจึงเข้าสู่ฌานที่ ๒,๓,๔ ตามลำดับ แล้วถอยหลังลงมา ๔,๓,๒,๑ มีจิตยังตั้งอยู่ในวิตก วิจารณ์พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงจะเกิดปัญญารู้ชัดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ ดังเป็นคลื่นน้ำหรือสายลม ระลอกคลื่น สุดแท้อุปนิสัยของท่านผู้นั้น

เช่นนี้แล้วจิตตั้งมั่นอยู่ในปัญญารู้แจ้งชัด จิตยึดเอาปัญญารู้ชัดไว้เป็นอารมณ์พร้อมกับเข้าสู่องค์ฌานที่ ๒,๓,๔

จิตก็จักมีปัญญาเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นเอก มีปัญญาจนรู้ว่าสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป จิตจึงวางเฉยต่อาอารมณ์ทั้งปวง

เช่นนี้จึงชื่อว่า ผู้ทรงฌาน ทรงปัญญา อุเบกขาหรือวางเฉยได้ต่อารมณ์ทั้งปวง แม้ขณะเข้าสู่ฌาน ๔

พุทธะอิสระอธิบายมาเสียยืดยาวขนาดนี้ ไม่รู้ว่าพวกคุณๆ จะเข้าใจไหม แต่ถ้าอยากเข้าใจให้ถ่องแท้ ถูกต้อง ก็ต้องลงมือทำดู

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02ypKCzWMLeAxTLpBRFSupq3oxh6yWy9yotkUjNqMVbm78w1R5UsnDhsAsP9QXWYb4l