ถามมา ตอบไป : ในพระพุทธศาสนามีวิธีจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร ในสมัยพุทธกาลและปัจจุบัน (ตอนที่ 3)

0
41

ถามมา ตอบไป (ตอนที่ ๓)
๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

มาตามต่อกันในประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ประเด็นถกเถียงกันทั้ง ๔ ข้อ ที่ว่าด้วยเรื่องภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่า

๑. พระไตรปิฎกบกพร่อง ๒๐ %

๒. กราบพระพุทธรูป คือ การกราบอิฐ กราบปูน กราบทองเหลือง

๓. พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ยังมีความโกรธ

๔. ถวายน้ำพระพุทธรูป ไม่ได้บุญ เอาน้ำไปให้หมากินจักมีประโยชน์ยิ่งกว่า

การจาบจ้วงทั้ง ๔ ข้อนี้จัดเป็นอธิกรณ์ประเภทใด

๑. วิวาทาธิกรณ์ การถกเถียงกันด้วยเรื่องพระธรรมวินัยว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด

๒. อนุวาทาธิกรณ์ วินิจฉัยว่าภิกษุนั้นละเมิดอาบัติหรือไม่ และการกล่าวหากันด้วยเรื่องอาบัติต่างๆ

๓. อาปัตตาธิกรณ์ การปรับอาบัติ การลงทัณฑ์แก่ภิกษุผู้ละเมิดอาบัติ และการให้พ้นจากอาบัติ

๔. กิจจาธิกรณ์ กิจที่สงฆ์พึงกระทำ เช่น การบอกอนุศาสน์ การให้อุปสมบท การสวดให้ผ้ากฐิน เป็นต้น

ทีนี้ก็ต้องมาวินิจฉัยว่า ภิกษุผู้กล่าวตู่ จาบจ้วงดังกล่าว

ทั้ง ๔ ข้อ นี้ถือได้ว่า เป็นอธิกรณ์แล้ว ส่วนจะเป็นอธิกรณ์อะไรบ้าง คงต้องเป็นหน้าที่ของพระวินัยธร (ผู้รอบรู้พระวินัย) และพระธรรมธร (ผู้รอบรู้พระธรรม) ที่คณะสงฆ์ได้ประกาศแต่งตั้งขึ้น

ซึ่งถ้าเป็นสมัยครั้งพุทธกาล พระวินัยธรและพระธรรมธร ก็จะเลือกมาจากอาวาสของภิกษุผู้ถูกกล่าวหาว่าต้องอธิกรณ์นั้นๆ แต่หากคณะสงฆ์ พระวินัยธร พระธรรมธร ในอาวาสนั้น ไม่สามารถวินิจฉัย ระงับอธิกรณ์นั้นๆ ได้ ภิกษุในอาวาสนั้นจะต้องนำอธิกรณ์นั้น ไปโจทก์ โพทนา ต่อหน้าสงฆ์หมู่ใหญ่ แม้ในอาวาสอื่นๆ เพื่อให้ช่วยกันระงับอธิกรณ์ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายอันจะพึงเกิด หากไม่โพทนาช่วยกันปกปิดเอาไว้ ต้องเป็นอาบัติกันทั้งวัด

ซึ่งส่วนใหญ่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักทรงรับอธิกรณ์นั้นๆ มาทรงวินิจฉัยต่อหน้าหมู่สงฆ์ ซึ่งขบวนการระงับอธิกรณ์ องค์พระบรมศาสดาทรงวางหลักการไว้ให้พิจารณาทั้งหมด ๗ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนที่สอง คือ

๑) สัมมุขาวินัย ระเบียบวิธีระงับอธิกรณ์อันพึงทำต่อหน้าสงฆ์ ต่อหน้าบุคคล ต่อหน้าวัตถุ ต่อหน้าพระธรรมวินัย

๒) สติวินัย หมายถึงการยึดถือเอาสติเป็นที่ตั้งในการวินิจฉัยว่าภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์นั้นมีสติสมบูรณ์หรือไม่

๓) อมูฬหวินัย คือ การประกาศให้สงฆ์ทั้งหลายได้ร่วมรู้ว่า ภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ผู้นั้นได้หายบ้าแล้ว

๔) ปฏิญญาตกรณะ เมื่อภิกษุผู้ถูกโจทก์ให้ต้องอาบัติ เธอสารภาพรับว่า ละเมิดอาบัติใดก็ให้หมู่สงฆ์ปรับอาบัตินั้นแก่เธอ

๕) เยภุยยสิกา ตัดสินตามเสียงข้างมากเป็นประมาณ

๖) ตัสสปาปิยาสิกา ตัดสินลงโทษแก่ผู้กระทำผิด จะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ตาม หากมีหลักฐานที่เชื่อได้ ทั้งพยานวัตถุ พยานบุคคล ซึ่งชี้ตรงมาที่อาบัติข้อใด ก็ให้ลงโทษเธอด้วยอาบัติข้อนั้น

๗) ติณวัตถารถวินัย เมื่อมีเหตุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันจะลุกลามบานปลาย ทำให้เกิดความแตกแยก เสียหายแก่หมู่สงฆ์ พระวินัยธรรมธร พระธรรมธรก็เรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยให้ยอมความกันและกัน เพื่อยุติอธิกรณ์นั้น

อธิกรณ์สมถะทั้ง ๗ นี้องค์พระบรมศาสดาทรงประทานให้สงฆ์ใช้ในการระงับเรื่องราวหรืออธิกรณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ๒ พันกว่าปีก่อนจวบจนถึงยุคปัจจุบัน

จะเปลี่ยนไปบ้างก็คือตัวบุคคล ผู้ระงับอธิกรณ์

ซึ่งในปัจจุบันการปกครองคณะสงฆ์แบ่งเป็น หนกลาง เหนือ ใต้ ออก ตก ซึ่งก็มีเจ้าคณะหนเป็นพระราชาคณะ ชั้นสมเด็จทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะ

รองจากหน ก็คือ เจ้าคณะภาค

รองจากเจ้าคณะภาคก็คือ เจ้าคณะจังหวัด

รองจากเจ้าคณะจังหวัด ก็คือ เจ้าคณะอำเภอ

รองจากเจ้าคณะอำเภอ ก็คือ เจ้าคณะตำบล

รองจากเจ้าคณะตำบล ก็มี เจ้าอาวาส

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรรมการมหาเถระสมาคม ซึ่งการปกครองคณะสงฆ์ตามลำดับชั้นดังกล่าวมานี้ มีการตรากฎหมายรองรับอำนาจ และหน้าที่ เรียกกฎหมายนั้นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

โดยให้อำนาจและหน้าที่ในการปกครอง ดูแลคณะสงฆ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย การศึกษา การเผยแผ่ ศาสนวัตถุ ศาสนสงเคราะห์ และศาสนทายาท

เหล่านี้คือหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งแต่ละตำแหน่งก็มีเงินเดือน หรือเงินนิตยภัต พร้อมเงินงบประมาณตามแต่จะได้เป็นเครื่องสนับสนุน

แต่เมื่อเกิดประเด็นจาบจ้วงพระธรรมวินัยและองค์พระบรมศาสดาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วสังคม เราท่านทั้งหลายกลับไม่ได้เห็นบทบาทของเจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น ที่มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงออกมาระงับอธิกรณ์ใดๆ เลย

แต่คนไทยกลับได้เห็นการเข้ามาระงับอธิกรณ์ที่เกิดแก่ภิกษุรูปหนึ่ง โดยมิได้เป็นเจ้าคณะหรือพระสังฆาธิการใดๆ เลย

ซึ่งก็ดูจะผิดแผกแปลกตาเป็นอย่างมาก เลยมีคำถามเข้ามาว่า แล้วพวกเจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น ท่านทำอะไรกันอยู่ ซึ่งต้องมาเดือดร้อนถึงกรรมการมหาเถระสมาคม

นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเขาสงสัย อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย พุทธะอิสระก็สงสัย

แต่ไม่ว่าจะยังไง การที่มหาเถระสมาคมออกมารับอธิกรณ์ของภิกษุรูปนี้เอาไว้พิจารณา แล้ววินิจฉัยชี้แจ้งสั่งสอนชี้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อย่างชัดเจนเช่นนี้

พุทธะอิสระและชาวพุทธไทยต่างก็สาธุ โมทนาเห็นดีเห็นด้วย เพียงแต่ว่า หากในอดีตกรรมการมหาเถระสมาคมเปิดปุ๊บติดปั๊บ กระตือรือร้น ที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัยเช่นนี้

พุทธะอิสระก็คงไม่ต้องไปเป็นแกนนำม็อบหรือไม่ต้องหาหลักฐานเที่ยวตะลอนไปยื่นเรื่องให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินการเอาผิดกับคดีเงินทอนวัด และธรรมกายที่ละเมิดพระธรรมวินัยจนพระสังฆราชถึงกับกล่าวโจทก์ว่า เจ้าสำนักธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก แต่ทุกอย่างก็เงียบสนิทอย่างที่ผ่านมา

ก็ได้แต่หวังว่า กรรมการมหาเถระสมาคม จะเสมอต้อเสมอปลาย จริงจัง ชัดเจน ตรงไปตรงมา แบบนี้ตลอดไป

คนพุทธไทยเขาจะได้สบายใจว่า พระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนา มีองค์กรหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายคอยเฝ้าระวัง รักษา ปกป้องอยู่

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=903431754982428&set=a.107732901218988