วิธีพิจารณาสำหรับผู้ชื่นชอบบริจาคทานว่า ควรจักมีหลักคิด หลักพิจารณาเช่นไร แล้วแถมท้ายด้วยอานิสงส์การบริจาคทาน ๕ อย่าง
๑๗ กันยายน ๒๕๖๗
วันนี้ขอนำเสนอ วิธีพิจารณาสำหรับผู้ชื่นชอบบริจาคทานว่า ควรจักมีหลักคิด หลักพิจารณาเช่นไร
แล้วแถมท้ายด้วยอานิสงส์การบริจาคทาน ๕ อย่าง นำมาฝากนะจ๊ะ
*******************************
“สัมปทาคุณ” (ความถึงพร้อมด้วยคุณพิเศษ) 4 ประการ ประกอบด้วย
1. วัตถุสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งวัตถุในที่นี้หมายถึงผู้รับคือปฏิคาหกต้องเป็นทักขิไณยบุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยคุณธรรมยิ่งมีคุณธรรมสูงมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ทานของผู้บริจาคมีผลมากขึ้นเท่านั้น
2. ปัจจยสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งปัจจัยในที่นี้หมายถึงสิ่งของที่จะนำมาทำบุญต้องได้มาอย่างบริสุทธิ์โดยชอบธรรม
3. เจตนาสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งเจตนาในที่นี้หมายถึงมีเจตนาดีเจตนาเพื่อชำระกิเลสบูชาคุณเพื่อสงเคราะห์ หรืออนุเคราะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้หวังลาภ ยศ หรือชื่อเสียงมีเจตนาดีทั้ง 3 กาล คือก่อนให้ก็ดีใจกำลังให้ก็เลื่อมใส ครั้นให้แล้วก็เบิกบานใจอย่างนี้เรียกว่าถึงพร้อมด้วยเจตนา
4. คุณาติเรกสัมปทา คือ ความถึงพร้อมแห่งคุณพิเศษของปฏิคาหก คือ ผู้รับเป็นทักขิไณยบุคคลที่มีคุณธรรมพิเศษ เช่นมีศีลสัมปทา เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ภาวนาสัมปทา เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในภาวนา ปัญญาสัมปทาเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในปัญญา ตลอดจนไปถึงพระอริยบุคคลในแต่ละระดับชั้น
บุคคลใดที่ได้ทำทานแก่ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยคุณวิเศษทั้ง 4 ประการนี้จะได้ผลบุญทันตาเห็นดังมีกรณีของ “นายปุณณะ” เป็นตัวอย่างมีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระศาสดาของเราประทับอยู่ที่เวฬุวันเมืองราชคฤห์ครั้งนั้นมีคนยากจนชื่อ ”ปุณณะ” อยู่ในเมืองนั้นพร้อมกับภรรยาและลูกสาวเขาเป็นลูกจ้างของสุมนเศรษฐีอยู่มาวันหนึ่งมีการเล่นมหรสพในเมืองเศรษฐีก็ถามว่า
“ ปุณณะ เธอจะไปเล่นมหรสพหรือว่าจะทำงาน”
นายปุณณะ ก็ตอบว่า “การเล่นมหรสพเป็นงานที่ต้องเสียเงินมากเป็นเรื่องของคนที่มีทรัพย์เขาทำกัน ผมเป็นคนยากจนเป็นคนหาเช้ากินค่ำข้าวจะกินพรุ่งนี้ก็ยังไม่มีผมจะไปรื่นเริงได้อย่างไรกัน ผมขอไปไถนาตามปกติดีกว่า ”
เศรษฐีจึงมอบวัวให้เขาไปไถนาเมื่อได้วัวแล้วเขาก็ไปหาภรรยาและบอกว่า “วันนี้ชาวเมืองเขาไปเล่นมหรสพกันแต่เราเป็นคนจน ทำอย่างเขาไม่ได้ ดังนั้นฉันจะไปไถนา วันนี้ขอให้เธอช่วยต้มผักให้มากขึ้นอีกสองเท่าไปให้ฉันด้วยนะ ” พอสั่งภรรยาแล้วก็รีบออกไปไถนาทันที
วันนั้นเองพระสารีบุตรเถระออกจากนิโรธสมาบัติตรวจดูว่า “เราควรจะไปสงเคราะห์ใครหนอบุญนี้จะเป็นของใครหนอ” ได้เห็นนายปุณณะเข้าไปในญาณของท่านจึงใคร่ครวญพิจารณาว่าเขาจะมีศรัทธาหรือเปล่า เขาสามารถที่จะถวายอาหารได้หรือไม่ครั้นทราบว่าเขามีศรัทธาและสามารถที่จะถวายอาหารได้และถ้าได้ถวายอาหารแล้วจะได้สมบัติอันยิ่งใหญ่
ดังนั้นแล้วจึงครองจีวรถือบาตรไปยังที่นายปุณณะไถนาอยู่
พอนายปุณณะเห็นพระเถระเข้าก็ดีใจเข้ามากราบไหว้ และคิดว่าท่านต้องการไม้สีฟันในยามนี้จึงทำไม้สีฟันถวาย
พระเถระก็เอาบาตรและ ผ้ากรองน้ำมาให้เขานายปุณณะพอได้รับก็ทราบว่าพระเถระคงต้องการน้ำดื่มจึงรับเอาบาตรและผ้ากรองน้ำไปกรองน้ำมาถวายพระเถระอยู่ที่นั่นจนกว่าภรรยาของเขาจะนำอาหารมาให้
พระเถระรออยู่ครู่หนึ่ง ทราบด้วยญาณว่าภรรยาของนายปุณณะกำลังมาถึงแล้ว จึงออกเดินมุ่งหน้าไปยังพระนคร ภรรยาของนายปุณณะ เมื่อพบพระสารีบุตรในระหว่างทางคิดว่า “ตัวเราบางคราวพอมีไทยธรรมก็ไม่พบพระเถระผู้เป็นเนื้อนาบุญบางคราวพบพระเถระแต่ก็ไม่มีไทยธรรมวันนี้เราพบพระเถระด้วยไทยธรรมก็มีด้วยขอให้พระเถระโปรดสงเคราะห์เราด้วยเถิด ”
ครั้นแล้วนางวางภาชนะใส่อาหารลงไหว้พระเถระพลางกล่าวว่า “ขอท่านผู้เจริญจงโปรดอย่าคิดว่าอาหารนี้เลวหรือประณีตเลยขอจงโปรดรับอาหารนี้เพื่อสงเคราะห์แก่คนยากจนเช่นดิฉันด้วยเถิด ”
พระเถระก็น้อมบาตรเข้าไป เมื่่อนางเกลี่ยอาหารใส่ในบาตรครึ่งหนึ่งแล้วพระเถระก็เอามือปิดบาตร
นางจึงกล่าวต่อไปว่า “อาหารนี้เป็นแค่ส่วนเดียวดิฉันไม่อาจจะทำเป็นสองส่วนได้ ขอท่านอย่าสงเคราะห์เพียงแค่ในโลกนี้เลย ช่วยกรุณาสงเคราะห์ดิฉันในโลกหน้าด้วยเถิดดิฉันขอถวายทั้งหมดแล้วใส่อาหารทั้งหมดลงไปในบาตรของพระเถระพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้ได้เข้าถึงธรรมะที่พระเถระได้เข้าถึงแล้วด้วยเถิด”
พระเถระก็ให้พร “ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้ดีแล้วจงสำเร็จเถิด” แล้วก็หาที่ฉันภัตตาหารในบริเวณนั้น
ส่วนนางต้องรีบกลับไปบ้านเพื่อหุงข้าวให้แก่สามีอีกครั้งหนึ่งฝ่ายนายปุณณะไถนาไปได้มากแล้วเกิดความหิวจนทนไม่ไหวจึงปล่อยวัวไว้แล้วตัวเองก็เข้าไปนั่งพักใต้ร่มไม้รอภรรยานำอาหารมาให้อยู่เป็นเวลานานกว่าภรรยาของเขาจะถืออาหารมาให้ก็สายมาก นางจึงเกิดความกลัวว่าสามีจะหิวมากแล้วพาลโกรธนางขึ้นหรืออาจจะมีโทสะจนกระทั่งทำร้ายนางได้สิ่งที่ตนเองทำบุญไว้ก็จะไม่เกิดประโยชน์
คิดอย่างนั้นแล้วจึงรีบตะโกนมาแต่ไกลทันทีว่า “ข้าแต่สามีท่านจงทำจิตให้ผ่องใสในวันนี้เถิดอย่าได้ทำสิ่งที่ฉันทำไว้ดีแล้วให้เสียประโยชน์ไปเลย ฉันได้นำอาหารมาแต่เช้าตรู่พอดีมาเจอกับพระสารีบุตรพระธรรมเสนาบดีจึงถวายส่วนของท่านแด่พระเถระไปแล้วและได้ไปหุงมาให้ท่านใหม่จึงมาสายขอท่านจงเลื่อมใสในบุญนี้เถิด”
ฝ่ายนายปุณณะก็ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจพอได้รับการยืนยันอย่างเดิมก็ดีใจพร้อมกับกล่าวว่า “เธอทำดีแล้วที่ได้ถวายภัตตาหารแด่พระสารีบุตรเถรเจ้าแม้ตอนเช้านี้เองฉันก็ได้ถวายน้ำบ้วนปากและไม้ชำระฟันแด่ท่านเช่นกัน”
เขาทั้งสองมีใจเลื่อมใสและเพลิดเพลินในบุญของกันและกันนายปุณณะพอกินข้าวเรียบร้อยแล้วด้วยความอ่อนเพลียจึงเอาศีรษะหนุนตักภรรยาแล้วก็หลับไปพอตื่นขึ้นมามองไปที่ท้องนาเห็นนาที่ตนไถไว้กลายเป็นสีทองคำจึงถามภรรยาด้วยความไม่แน่ใจว่า “ช่วยดูทีเถอะว่าที่ฉันเห็นตาลายไปหรือเปล่าไปดูซิว่ารอยไถที่ไถไว้มันเป็นทองคำหรือเปล่า”
ภรรยาของเขามองเห็นนาที่่ไถแล้วเป็นทองคำเหมือนกันจึงเดินไปดูพร้อมกับหยิบก้อนทองนั้นฟาดกับที่งอนไถ เกิดเสียงดังกังวานทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตนมองเห็นนั่นเป็นทองคำจริงๆ จึงอุทานด้วยความเบิกบานใจว่า “ น่าอัศจรรย์จริงสิ่งที่เราถวายแด่พระธรรมเสนาบดีนั้นให้ผลทันตาเห็นทีเดียว”
เขาไม่อาจจะปกปิดทรัพย์ที่มากมายขนาดนั้นได้จึงคิดว่าควรที่จะกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบดีกว่าแล้วได้นำเอาทองคำจำนวนหนึ่งใส่ถาดไปเฝ้าพระราชากราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ
พระราชาส่งราชบุรุษไปขนทองคำที่ท้องนาของเขามาฝ่ายราชบุรุษพอไปขนทองเป็นจำนวนมากมาไว้ที่พระลานหลวงพลางกล่าวว่าทองคำนี้เป็นของพระราชาพอเทออกมาทองคำก็กลายเป็นก้อนดินไป
พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นรู้สึกประหลาดใจมากจึงถามว่า ”พวกเธอกล่าวว่าอย่างไรหรือ”
พวกราชบุรุษกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์กล่าวว่าได้ขนสมบัติของพระราชามา ”
พระราชาตรัสว่า “เธอกล่าวอย่างนั้นไม่ถูกเธอต้องคิดแล้วกล่าวเสียใหม่ว่า นี่เป็นสมบัติของนายปุณณะ ”
ราชบุรุษทำตามที่พระราชารับสั่งและแล้วสมบัตินั้นก็กลายเป็นทองคำในทันทีพระราชารับสั่งให้เหล่าอำมาตย์ประชุมกัน แต่งตั้งและมอบตำแหน่งเศรษฐีให้แก่นายปุณณะและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ”พหุธนเศรษฐี ” แปลว่าเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
พระชาดกเรื่องนี้ สมดังบทโศลกที่พ่อเขียนเอาไว้ว่า
ลูกรัก บุญคือเครื่องยังให้สำเร็จประโยชน์ถึงสมบัติทั้งปวง
จบแล้วจ้า เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–
ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=901476891844581&set=a.107732901218988