ภิกขาปรัมปรชาดก ว่าด้วย การให้ทานในท่านใด มีผลมาก (ตอนที่ 2)

0
26

ภิกขาปรัมปรชาดก ว่าด้วย การให้ทานในท่านใด มีผลมาก (ตอนที่ ๒)
๕ กันยายน ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ กุฎุมพีได้จัดเตรียมโภชนาอาหารอันมีรสเลิศมากมาย น้อมเข้าไปถวายให้แก่พระราชา

พระราชาทรงรับภัตนั้นแล้ว ทรงพระราชทานแก่ปุโรหิต

พราหมณ์รับถาดภัตนั้นแล้ว ถวายแด่พระดาบส

ดาบสรับถาดภัตนั้นแล้วนำภัตนั้นถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าโดนกิริยา ถือถาดภัตไว้ด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยหัตถ์เบื้องขวา ถวายทักษิโณทกแล้ว ใส่ภัตลงในบาตร

พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านมิได้เชื้อเชิญ มิได้ไต่ถามใดๆ เมื่อรับภัตและน้ำมาแล้ว ก็ล้างมือพร้อมเทภัตใส่บาตร แล้วฉัน

ในเวลาที่ท่านเสร็จภัตกิจ กุฎุมพีดำริว่า

เราถวายภัตแก่พระราชา แต่พระราชากับพระราชทานภัตแก่ปุโรหิต ปุโรหิตถวายแด่ดาบส ดาบสถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าๆ ก็มิไต่ถามใดๆ เลย เมื่อรับภัต รับน้ำแล้วก็ล้างมือฉันเลย
อะไรเล่าหนอเป็นเหตุแห่งการให้ของเราเป็นเช่นนี้

อะไรเล่าเป็นเหตุบังคับมิให้แต่ละองค์มิได้ไต่ถามใดๆ แก่เราเลย

เราต้องถามท่านเหล่านั้นตามลำดับ เพื่อคลายข้อสงสัย กุฎุพีผู้มั่งคั่งนั้นจึงเข้าไปหาทีละท่าน ไหว้แล้วถามขึ้นว่า

แม้ท่านเหล่านั้นก็บอกเขา ดังต่อไปนี้

ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ เคยประทับในพระตำหนักอันประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จจากแว่นแคว้นมาสู่ดง ทรงได้รับความยากลำบาก อดอยากจึงได้ทูลถวายข้าวสุกอย่างดีแลข้าวสาลีเป็นภัตอันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาด ด้วยความรักเคารพต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับภัตนั้นแล้ว แต่กลับมิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ได้พระราชทานแก่พราหมณ์ปุโรหิต ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมถามพระองค์ว่า ข้อนี้เป็นธรรมอะไรของพระองค์กระนั้นหรือ

พระราชาปลอมตัวจึงกล่าวขึ้นว่า พราหมณ์ปุโรหิตผู้นี้เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ที่ฉันดำริ ทั้งเป็นครู และผู้คอยตักเตือน ฉันควรบูชาด้วยโภชนะอันประณีตที่ได้มาแล้วด้วยดีมิใช่หรือ

เมื่อกุฎุพีได้รับคำตอบอันเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงหันไปถามแก่พราหมณ์ปุโรหิตขึ้นว่า

ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้โคดมโคตมอันพระราชาทรงบูชา พระราชาทรงพระราชทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับภัตนั้นแล้วได้ถวายโภชนะแก่ฤาษี ข้าพเจ้าขอถามแก่ท่านว่า นี่เป็นธรรมอะไรของท่านกระนั้นหรือ

ตอบท่านกุฎุพีผู้มีทรัพย์ ข้าพเจ้ายังเป็นผู้มีความกำหนัดอาศัยอยู่ในเรือนทั้งหลาย ยังต้องทำมาหาเลี้ยงบุตรและภรรยา แม้จะมีหน้าที่ถวายอนุศาสน์แก่พระราชา สั่งสอนให้ดำรงพระองค์อยู่ในกามคุณทั้ง ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเลิศ ซึ่งเป็นธรรมอันหยาบของมนุษย์ เมื่อมีพระดาบสผู้ตั้งมั่นอยู่ในความเพียร ละกามคุณทั้ง ๕ ข้าพเจ้าจึงควรถวายโภชนะแก่ฤาษีผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้รุ่งเรืองด้วยตบะ มีความรู้วิชาอันบุคคลอบรมตนดีแล้ว.

กุฎุพีผู้มั่งคั่งจึงหันมาถามท่านฤาษีผู้ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บและขนรักแร้งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่าผู้เดียวไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้นดีกว่าท่านด้วยคุณข้อไหนกระนั้นหรือ

อาตมภาพยังขุดเผือก ขุดมันมือเสือ มันนก ยังเก็บข้าวฟ่างและลูกเดือยมาตากตำ เที่ยวหาฝักและเหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทรา และมะขามป้อมมาบริโภค ด้วยเพราะกลัวอดอยาก ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่ออาตมายังกลัวอดอยาก เมื่อได้รับภัตอันมีรสเลิศมา ก็ควรถวายภัตนั้นแก่ท่านผู้ไม่กลัวอดอยาก

เมื่ออาตมายังหุงต้ม ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม

เมื่ออาตมายังมีกังวล ก็ควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความกังวล

เมื่ออาตมายังมีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มีความถือมั่น.

กุฎุพีผู้มั่งคั่ง ครั้งได้ฟังคำตอบของพระดาบสเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้หันมาถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า ท่านภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดี พระฤาษีผู้นี้ถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้วนั่งนิ่งฉันอยู่องค์เดียว ไม่พูด ไม่บอก ไม่แบ่ง ไม่เชื้อเชิญใครๆ อื่นให้ร่วมฉันภัตนี้เลย กระผมขอนมัสการแด่พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของพระคุณท่านกระนั้นหรือ

อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม อาตมาไม่กังวล ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ต้องกังวล ฤาษีรู้ว่าอาตมาไม่มีความยึดถือ เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถือภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา บุคคลเหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควรจะให้ทาน แก่ผู้เป็นนาบุญเขตแห่งทานอันอุดม การที่บุคคลบริจาคทานแก่สมณะ ด้วยหวังผลบุญแล้วสมณะนั้นกลับให้ทานนั้นคืนแก่ผู้ให้ย่อมเป็นการผิด.

กุฎมพีฟังคำนั้นของท่านแล้วดีใจ กล่าวคาถาสุดท้าย ๒ คาถาว่า

วันนี้พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยแท้หนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใดจักมีผลมากที่สุด

พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น

พราหมณ์ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่

ฤาษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้

ส่วนพวกภิกษุผู้ทรงธรรมเป็นผู้หลุดพ้นจากความกังวลทั้งปวงสิ้นแล้ว

พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่ชนทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ที่บรรณศาลานั้น แล้วก็เหาะกลับไปสู่เขานันทมูลกะที่อยู่แห่งตน

ดาบสก็เหมือนกัน ส่วนพระราชาทรงพักอยู่ในบรรณศาลานั้นสองสามวัน แล้วเสด็จไปสู่พระนครพาราณสี

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสย้ำว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่บิณฑบาตไปถึงที่สมควรจนได้ แม้ในครั้งก่อน ก็ได้ไปถึงแล้วเหมือนกัน

พร้อมทั้งทรงประชุมชาดกว่า

กุฎุมพีผู้บูชาธรรมครั้งนั้น ได้มาเป็นกุฎุมพีผู้ทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ

พระราชาได้มาเป็น พระอานนท์

ปุโรหิตได้มาเป็น พระสารีบุตร

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว

ส่วนดาบสจากหิมพานต์ ได้มาเป็น เราตถาคต แล.

ปูชา จะ ปูชะนียานัง

การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

เอตัมมังคะละมุตตะมัง

ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

จบแล้วจ้า

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=893807529278184&set=a.107732901218988