ภิกขาปรัมปรชาดก ว่าด้วย การให้ทานในท่านใด มีผลมาก (ตอนที่ 1)

0
24

ภิกขาปรัมปรชาดก ว่าด้วย การให้ทานในท่านใด มีผลมาก (ตอนที่ ๑)
๓ กันยายน ๒๕๖๗

พระศาสดา เมื่อทรงเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภกุฎุมพีผู้หนึ่ง ดังนี้.
กุฎุมพีนั้นเป็นผู้มีสัทธาเลื่อมใส กระทำมหาสักการะแด่พระตถาคตเจ้า และแด่พระสงฆ์อยู่เนืองๆ มิได้ขาด

ครั้นวันหนึ่ง เขาได้คิดว่า เราถวายโภชนะอันประณีตและผ้าเนื้อละเอียด แด่พระพุทธรัตนะและพระสงฆ์ กระทำมหาสักการะเนืองๆ มาอย่างยาวนาน คราวนี้เราจักกระทำมหาสักการะแก่พระธรรมรัตนะบ้าง เมื่อกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้นต้องทำอย่างไรเล่าหนอ กุฎุพีผู้นั้นคิดปริวิตกอยู่เช่นนี้

อยู่มาวันหนึ่ง เขาถือของหอมและมาลาเป็นต้น ไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้น ควรกระทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า.

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ถ้าเธอปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะไซร้ จงกระทำสักการะแก่อานนท์ ผู้เป็นคลังแห่งพระธรรมเถิด.

เขากราบทูลว่า สาธุ เช่นนั้นข้าพระองค์ขอนิมนต์พระเถระในวันรุ่งขึ้นไปสู่เรือนของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักกระทำสักการะอันใหญ่

ครั้งถึงรุ่งเช้าพระอานนท์ได้มายังเรือนของกุฎุพีผู้นั้น เขาจึงอาราธนาให้ท่านนั่งเหนืออาสนะอันประดับประดาด้วยของมีค่ายิ่งแล้วบูชาด้วยของหอมและมาลาเป็นต้น พร้อมทั้งถวายโภชนะมีรสเลิศต่างๆ แล้วจึงได้ถวายผ้าเนื้อดีราคาแพงคครบสำหรับไตรจีวร

พระเถรเจ้าก็ดำริว่า สักการะทั้งนี้กุฎุมพีกระทำแก่พระธรรมรัตนะ ไม่สมควรแก่เรายิ่งนัก สมควรแก่พระธรรมเสนาบดีผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา จึงนำบิณฑบาตและผ้าเนื้อดีราคาแพงไปสู่พระวิหาร ถวายแด่พระสารีบุตรเถรเจ้า

พระสารีบุตรเถรเจ้าก็ดำริว่า สักการะอันเลิศนี้ กุฎุพีผู้มีศรัทธาเขากระทำแก่พระธรรมรัตนะ ซึ่งไทยธรรมอันควรแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งพระธรรมพระองค์เดียวโดยแท้ พระสารีบุตรเถระจึงถวายแด่พระทศพล พระศาสดาไม่ทรงเห็นผู้ยิ่งกว่าพระองค์ จึงเสวยบิณฑบาตทรงรับผ้าจีวรนั้นไว้

กาลต่อมา พวกภิกษุยกเรื่องขึ้นสนทนาในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย กุฎุมพีชื่อโน้นคิดจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ ได้ถวายไทยธรรมอันเลิศแด่พระอานนท์เถรเจ้า ผู้เป็นคลังพระธรรม พระเถรเจ้าดำริว่า นี้ไม่สมควรแก่ตน ได้ถวายแด่พระธรรมเสนาบดี ถึงท่านนั้นก็ดำริว่า นี้ไม่สมควรแก่ตน ได้ถวายแด่พระตถาคต ทีนั้นพระตถาคตมิได้ทรงเห็นผู้อื่นที่ยิ่งกว่าพระองค์ ทรงพระดำริว่า สักการะนั้นสมควรแก่เราตถาคตเท่านั้น และทรงรับอาหารบิณฑบาตรพร้อมผ้าจีวร ด้วยอาการอย่างนี้ ไทยธรรมครั้งนี้บรรลุถึงพระบาทมูลของพระธรรมสามี ด้วยเพราะพระองค์เป็นผู้สมควรแก่การสักการะอันเลิศนั้น

ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จมาพอดี จึงทรงตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อครู่พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อพวกภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว

ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่บิณฑบาตรอันเลิศได้ส่งมอบไปต่อๆ กัน จนถึงผู้ที่สมควรแก่บิณฑบาตรนั้น แม้ในครั้งก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ บิณฑบาตรนั้นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน

พวกภิกษุพากันกราบทูลอาราธนาให้ทรงนำอดีตนิทานมาเล่า พระพุทธองค์จึงทรงเล่าดังต่อไปนี้.

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตทรงละการลุถึงซึงอคติ ทรงไม่ให้พระราชธรรมทั้งสิบประการเสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม ณ พระนครพาราณสี เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ พระบรมมหาราชวังจึงมิได้มีผู้ใดๆ กล่าวเพ่งโทษพระองค์แม้ต่อหน้าหรือลับหลัง

พระราชาผู้ทรงตั้งอยู่ด้วยความไม่ประมาท ทรงต้องการแสวงหาโทษของพระองค์ ทรงกำหนดดู แม้ทั้งภายในพระราชนิเวศน์เป็นต้น มิได้ทรงเห็นผู้กล่าวถึงโทษของพระองค์ ทั้งภายในพระราชวัง และในพระนคร แม้ในหมู่บ้านใกล้ประตูพระนคร

ต่อมาจึงทรงดำริว่า ดราจักต้องแสวงหาคำกล่าวเพ่งโทษต่อเราไปในชนบท แล้วทรงมอบราชสมบัติให้แก่มวลอำมาตย์เป็นผู้สำเร็จราชการแทน

ทรงดำริดังนี้แล้วจึงปลอมพระองค์เที่ยวจาริกไปในกาสิกรัฐกับท่านพราหมณ์ปุโรหิต เพื่อพบปะพูดคุยกับชนทั้งหลายในเรื่องของราชา แต่ก็ไม่ทรงพบผู้ที่กล่าวโทษของพระองค์เลยสักคน จึงเสด็จไปถึงนิคมหนึ่งในชายแดน ประทับนั่งที่ศาลานอกประตูพระนคร

ขณะนั้น กุฎุมพีผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ พร้อมชาวนิคมได้ออกจากเรือนไปสู่ท่าน้ำกับบริวารมากมาย เห็นพระราชาผู้ปลอมตัวเป็นชาวบ้านแต่กลับมีพระสรีระละเอียดอ่อน มีผิวพรรณเพียงดังทองคำ ประทับนั่งที่ศาลา เกิดความสิเนหา เข้าไปสู่ศาลา กระทำปฏิสันถารแล้วกล่าวว่า

เชิญท่านนั่งรออยู่ตรงนี้ก่อนนะจ๊ะ เดี๋ยวฉันจะกลับไปยังเรือนจัดเตรียมโภชนะมีรสเลิศต่างๆ มาให้ กุฎุมพีผู้มั่งคั่งนั้นจึงรีบเดินกลับไปยังเรือนพร้อมบริวาร

กาลต่อมา ดาบสผู้อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้อภิญญา ๕ จึงเหาะมานั่ง ณ ศาลานั้นเหมือนกัน อีกทั้งยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหาะมาทางอากาศ จากเงื้อมเขานันทมูลกะก็มาสู่ ณ ศาลานั้นอีกองค์หนึ่ง

กาลต่อมา กุฎุมพีเมื่อจัดเตรียมโภชนาอาหารอันมีรสเลิศมากมายแล้ว ก็ให้บริวารช่วยกันถือภาชนะใส่อาหารรสเลิศและน้ำมามอบให้แก่พระราชาที่ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน โดยเริ่มแรกก็นำมาส่งให้พระราชาแล้วจึงถวายน้ำชำระพระหัตถ์ เตรียมถาดใส่ภัตพร้อมโภชนาหารอันมีรสเลิศต่างๆ พลางน้อมเข้าไปถวาย ด้วยคิดว่า ชะลอยท่านผู้นี้คงเป็นผู้มีบุญบารมี บุญหนักศักดิ์ใหญ่เป็นแน่ จึงดูสง่างามยิ่งกว่าชนทั้งปวง

พระราชาทรงรับภัตนั้นแล้ว ทรงพระราชทานแก่ปุโรหิต

พราหมณ์รับถาดภัตนั้นแล้ว ถวายแด่พระดาบส

ดาบสรับถาดภัตนั้นแล้วนำภัตนั้นถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าโดนกิริยา ถือถาดภัตไว้ด้วยหัตถ์เบื้องซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยหัตถ์เบื้องขวา ถวายทักษิโณทกแล้ว ใส่ภัตลงในบาตร

พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านมิได้เชื้อเชิญ มิได้ไต่ถามใดๆ เมื่อรับภัตและน้ำมาแล้ว ก็ล้างมือพร้อมเทภัตใส่บาตร แล้วฉัน

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=892559219403015&set=a.107732901218988