มหาปรินิพพานสูตร (ตอนที่ ๔)
๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระบรมศาสดาตรัสแจ้งแก่พระอานนท์ถึงบุพนิมิตปรินิพพานที่พระองค์ทรงแสดงมาตลอดเป็นระยะๆ แต่ก็หาได้มีผู้ใดล่วงรู้ไม่
ดูกรอานนท์ เราได้บอกเธอไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นรูปต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้นจะหวังได้ในของรักของชอบใจนี้มาแต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความแตกสลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้น อย่าแตกสลายไปเลยดังนี้ มิใช่ฐานะจะมีได้ ก็สิ่งใดที่ตถาคตสละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ววางแล้ว อายุสังขารซึ่งตถาคตได้ปลงแล้ว วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้โดยเด็ดขาดว่า ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน อันตถาคตจะกลับคืนยังสิ่งนั้น (หมายถึง กลับคืนคำพูด) เพราะเหตุแห่งชีวิต ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ มาเถิดอานนท์ เราจักเข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ท่านพระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยท่านพระอานนท์เสด็จเข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ไปเถิดอานนท์ เธอจงแจ้งให้ภิกษุทุกรูปที่อาศัยเมืองเวสาลี มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงแจ้งให้ภิกษุทุกรูปที่อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลาแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ออกมายืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในศาลาอุปัฏฐาน
ครั้นท่านพระอานนท์จึงเข้าไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มาประชุมกันพร้อมแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอได้เรียนแล้ว พึงซ่องเสพ พึงทำให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดีโดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง … เหล่านั้นเป็นไฉน คือ
(เราท่านทั้งหลายจักเห็นว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเตือนให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระธรรม ด้วยจุดมุ่งหมายยังพรหมจรรย์นี้ให้ยั่งยืน เพื่อประโยชน์แก่ชนทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่ชนทั้งหลาย เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและเพื่อความสุขของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หาใช่แค่ประโยชน์สุขของตนเองไม่)
สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นหลักการบำเพ็ญภาวนา คือ มีฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต และฐานธรรม
ฐานกาย อันได้แก่
– มีสติรู้ในลมหายใจที่เข้าที่ออก เรียกอานาปานสติกรรมฐาน
– มีสติรู้ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เรียกว่า อิริยาบถบรรพ
– มีสติรู้ในอิริยาบถย่อย เช่น ยกขา ลดขา ยกแขน ลดแขน เหยียดนิ้ว งอนิ้ว เหล่านี้รวมเรียกว่าสัมปชัญญบรรพ
– มีสติทำความรู้จักสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจภายในกาย ที่มีทั้งภายในและภายนอก เรียกปฏิกูลสัญญา
– มีสติพิจารณาธาตุภายในกาย ซึ่งมี
๑. ธาตุดิน มีลักษณะเป็นของแข้นแข็งทั้งภายในและภายนอก อันมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
๒. ธาตุน้ำ มีลักษณะเป็นของเอิบอาบ เป็นของเหลว ภายในและภายนอกมีน้ำดี น้ำเสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร
๓. ธาตุลม สิ่งที่เป็นของเคลื่อนไหว โยกโคลงพัดไปมาได้ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมอยู่ในช่องท้อง ลมอยู่ในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เช่น ลมหายใจอันไม่น่าปรารถนา ลมหมักหมมเหม็นเน่าอยู่ในช่องท้อง หรือที่เรียกกันว่า แก๊ส ที่เกิดจากการบูดเน่า เหล่านี้ก็เรียกว่า ธาตุลม
๔. ธาตุไฟ ความเป็นของเร่าร้อน สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย และเป็นเครื่องทำให้ร่างกายทรุดโทรม เป็นเครื่องเผาผลาญให้ร่างกายเร่าร้อน เป็นเครื่องทำให้ร่างกายได้ย่อยของที่กิน ดื่ม เคี้ยว
ธาตุทั้ง ๔ ซึ่งมีทั้งภายในกายและภายนอกกาย นอกจากการพิจารณาให้เป็น เป็นสักแต่ว่าธาตุแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความมีสภาพปฏิกูล โดยสี โดยกลิ่น โดยที่ตั้ง และโดยความไม่คงที่
– มีสติพิจารณาลักษณะศพของคนตายและสัตว์ตาย มี ๙ ลักษณะ ได้แก่การพิจารณาสภาพศพนั้นตั้งแต่ตายวันแรก จนถึงตายมาแล้ว ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๓ เดือน ๖ เดือน ๑ ปี ตามลำดับ จนกระทั่งเป็นกองกระดูก และกระดูกผุกร่อนกลายเป็นผงปลิวไปในอากาศ ย่อยสลายกลายเป็นดิน
ฐานเวทนา มีสติพิจารณาอารมณ์
– ที่สุข ว่าตอนนี้กำลังสุขอยู่ สุขด้วยเพราะมีอะไรเป็นเหตุ
– หรือตอนนี้เรากำลังทุกข์อยู่ เราทุกข์เพราะมีอะไรเป็นต้นเหตุ
สุขที่เกิดขึ้นนี้มีอามิส คือ สุขเพราะมีความพึงพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือไม่มีอามิส คือไม่มีรูป ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง ไม่มีสัมผัส สุขอยู่ได้ด้วยจิตที่มีอิสระจากอามิสทั้งปวง
หรือสุขเพราะมีเหตุปัจจัยอื่นใดทำให้สุข แม้ความทุกข์ก็เช่นกัน
– ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ เพราะมีเหตุปัจจัยเชิญชวน เช่น ความขี้เกียจ ท้อแท้สิ้นหวัง หรือ ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ เพราะไม่มีเหตุปัจจัยเชิญชวน เช่นการเข้าถึงองค์จตุตถฌาน มีจิตตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขารมณ์
ฐานจิต มีสติระลึกรู้ให้ได้ถึงสภาพจิตว่า ขณะนี้
– จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ
– จิตมีโทสะอยู่หรือไม่มีโทสะ
– จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะ
– จิตนี้หดหูอยู่
– จิตนี้กำลังจะฟุ้งซ่าน
– จิตนี้กำลังตั้งมั่น
– จิตนี้ตั้งมั่นแล้ว
– จิตนี้มีตัวรู้
– จิตนี้ไม่มีตัวรู้
– จิตนี้กำลังรับอารมณ์อยู่
– จิตนี้กำลังคิดอยู่
– จิตนี้กำลังจดจำอยู่
– จิตนี้มีท่านผู้รู้และตั้งมั่นอยู่
– จิตนี้ไม่มีท่านผู้รู้และไม่ตั้งมั่นเลย
– จิตนี้อยู่ในการครอบงำอยู่
– จิตนี้ปราศจากการครอบงำแล้ว
– จิตนี้ไม่มีอยู่จริง เพราะการดับด้วยเหตุปัจจัยแห่งการเกิดของจิต
และฐานสุดท้าย คือ ธรรม มีสติพิจารณาว่าบัดนี้เรามีเครื่องกั้นจิตที่เรียกว่านิวรณ์อยู่หรือไม่ นิวรณ์ คือ ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีมี ๕ อย่าง คือ
๑. กามฉันท์ ความพอใจ,ความกำหนัด หรือราคะ คือ ความพอใจ ความยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กามคุณ ๕
๒. พยาบาท คิดร้ายผู้อื่น ความอาฆาต พยาบาท ความขุ่นเคือง ความขัดข้อง
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ซึมเซา ความท้อแท้ใจ ความง่วงเหงาหาวนอน อันเกิดแต่จิตเป็นเหตุ
ส่วนการนอนเพราะร่างกายต้องถือเป็นการพักผ่อนเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ หรือสภาวธรรมของชีวิต
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ คุณของศีล คุณของกรรมฐาน จึงต้องแก้ไขด้วยปัญญาให้กระจ่างแจ้งจนถึงที่สุด
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เสพมากไปเดี๋ยวจะกลายเป็นชาล้นถ้วย
พุทธะอิสระ
——————————————–