พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ 20

0
43

พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๒๐
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ ท้าวสักกะเทวราชได้ทรงลูบหลังวิสัยหเศรษฐี ร่างกายที่อ่อนเปลี้ยหมดเรี่ยวแรงก็กลับมามีกำลังวังชา ผิวพรรณผ่องใส แล้วทรงบันดานมหาทรัพย์ปรากฎเพื่อให้วิสัยหเศรษฐีบริจาคทานต่อไป เพื่อในวิสัยหชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกฎุมพีคนหนึ่งผู้มีภรรยาตาย จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

ได้ยินว่า กฎุมพีนั้น เมื่อภรรยาตายแล้วไม่อาบน้ำ ไม่รับประทานข้าว ไม่ประกอบการงาน ถูกความโศกครอบงำ ไปป่าช้าเที่ยวปริเทวนาการอยู่อย่างเดียว แต่อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคโพลงอยู่ในภายในของกฎุมพีนั้น เหมือนประทีปโพลงอยู่ในหม้อฉะนั้น.

ในเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ได้ทอดพระเนตรเห็นกฎุมพีนั้นอยู่ในข่ายพระญาณ ทรงพระดำริว่าเว้นเราเสียแล้ว ใครๆ อื่นผู้จะนำความโศกออกจากกฎุมพีผู้นั้นเป็นไม่มี แม้ชี้ทางโสดาปัตติมรรคแก่กฎุมพีผู้นี้นั้นก็ย่อมไม่มี เราจักเป็นที่พึ่งของกฎุมพีนั้น

ครั้นเมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาตร ภายหลังเสวยภัต ทรงพาปัจฉาสมณะไปยังประตูเรือนของกฎุมพีนั้น กฎุมพีได้สดับการเสด็จมา ได้ถวายสักการะมีการลุกรับจากกฎุมพี แล้วทรงประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาด

พร้อมตรัสถามกฎุมพีผู้นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งว่า อุบาสก ท่านคิดอะไรอยู่หรือ?

เมื่อกฎุมพีนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของข้าพระองค์ตาย ข้าพระองค์เศร้าโศกถึงเธอผู้นั้นเป็นอย่างยิ่ง ข้าพระองค์คิดอยู่อย่างนี้

พระศาสดาจึงทรงตรัสว่า อุบาสก ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป เมื่อมันแตกไปจึงไม่ควรคิด เพราะไม่ว่าจะคิดหรือไม่คิด สุดท้ายมันก็ย่อมแตกไปอยู่ดี แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อภรรยาตายแล้วเขาก็ยังไม่เก็บมาคิด ด้วยคิดว่า ประโยชน์อันใดที่จะมาเฝ้าคิดถึงสิ่งที่มีปกติที่ต้องแตกดับ สิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดาได้แตกไปแล้ว

ครั้นกฎุมพีได้สดับเช่นนั้นจึงทูลอาราธนา

พระศาสดาทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาแสดงให้ตนได้สดับดังนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว เล่าเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกสิลา แล้วได้กลับไปยังเรือนของบิดามารดา.

พระโพธิสัตว์ได้ครองความเป็นพรหมจารีตั้งแต่ยังเป็นกุมาร จนกระทั้งเป็นมานพ

ลำดับนั้น บิดามารดาของพระโพธิสัตว์ได้แจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่า เราจักจัดการแสวงหาภรรยาให้แก่เจ้า.

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ลูกไม่มีความต้องการครองเรือน เมื่อท่านทั้งหลายล่วงไปแล้ว ลูกจักบวช แต่ไม่ว่ามานพ โพธิสัตว์จักบ่ายเบี่ยงปฏิเสธสักเพียงใด บิดามารดาก็เฝ้ารบเร้าอยู่บ่อยๆ พระโพธิสัตว์จึงให้ช่างทำรูปหญิงงามด้วยทองคำรูปหนึ่ง แล้วพูดว่า หากมีกุมาริกางดงามดังรูปปั้นทองคำนี้ ลูกก็ยินดีที่จักครองเรือนด้วย

บิดามารดาของพระโพธิสัตว์นั้นจึงให้ยกรูปทองคำนั้นขึ้นบนยานที่มีความปลอดภัยสูง แล้วให้ส่งคนทั้งหลายพร้อมทั้งบริวารเป็นอันมาก ป่าวร้อง เชิญชวนให้ผู้ใด บ้านไหน เมืองใด ที่มีหญิงงามดุจดังรูปปั้นทองคำ เราจักยกรูปทองคำนี้ให้ แล้วมอบทรัพย์ให้อีกเป็นจำนวนมาก ขอให้มาแต่งงานกับบุตรชายของเรา

เหล่าบริวารของเศรษฐีนั้น จึงได้พากันป่าวร้องแห่รูปทองคำไปทั้งชมพูทวีป เพื่อนำนางกุมาริกานั้นมาแต่งงานแก่บุตรชายเศรษฐี

ในกาลนั้น สัตว์ผู้มีบุญคนหนึ่งจุติจากพรหมโลก บังเกิดเป็นกุมาริกาในเรือนพราหมณ์ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในนิคมคามแคว้นกาสีนั่นเอง บิดามารดาได้ขนานนามกุมาริกานั้นว่า สัมมิลลหาสินี. กุมาริกานั้นในเวลามีอายุ ๑๖ ปี เป็นผู้มีรูปงาม เปรียบด้วยนางเทพอัปสร สมบูรณ์ทั่วสารพางค์กาย
ชื่อว่าความคิดด้วยอำนาจกิเลสไม่เคยเกิดขึ้นแก่นางเลย นางได้เป็นสาวพรหมจารินีโดยแท้จริง.

ชนทั้งหลายพารูปทองคำนั้นเที่ยวไปถึงหน้าเรือนของพราหมณ์ผู้มั่งคั่งนั้น คนทั้งหลายในบ้านนั้นเห็นรูปทองคำนั้นแล้วพากันกล่าวว่า เพราะเหตุไร นางสัมมิลลหาสินี ธิดาของพราหมณ์จึงมายืนอยู่ที่นี้.

ชนทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปยังตระกูลพราหมณ์ สู่ขอนางสัมมิลลหาสินีนั้น.

นางกุมาริกาจึงแจ้งแก่บิดามารดาว่า เมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ดิฉันจักบวช ดิฉันไม่ต้องการครองเรือน.

บิดามารดานั้นจึงกล่าวว่า ลูกหญิง เจ้าเป็นลูกหญิงตัวคนเดียว เมื่อพ่อแม่ล้มลงไปแล้ว ใครจักปกครองดูแลทรัพย์สมบัติของพ่อแม่เล่า และหากเจ้าจักออกบวช มนุษย์และสัตว์ร้าย โจรภัย ก็จักทำร้ายเป็นอันตรายแก่ชีวิตเจ้าได้ เจ้าจงทำตามสิ่งที่พ่อแม่เลือกสรรให้เถิด กล่าวเช่นนี้แล้ว บิดามารดาของนางจึงรับเอารูปทองคำ พร้อมทั้งส่งนางไปพร้อมกับบริวารเป็นอันมาก.

เมื่อพระโพธิสัตว์และนางสัมมิลลหาสินีทั้งสองคน ไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน ไม่ปรารถนาที่จักละเสียซึ่งพรหมจรรย์ แต่เมื่อไม่สามารถขัดใจพ่อแม่ได้ นางจึงยินยอมให้บิดามารดาทำการมงคล สมรสให้.

หลังจากแต่งงานกันแล้ว คนทั้งสองนั้นอยู่ในห้องเดียวกัน แม้จะนอนอยู่บนที่นอนเดียวกัน ก็ไม่ได้แลดูกันและกันด้วยอำนาจกิเลส อยู่ในสถานที่เดียวกัน เหมือนภิกษุ ๒ รูปและเหมือนพรหม ๒ องค์ อยู่ในที่เดียวกันฉะนั้น.

จำเนียรกาลล่วงมา บิดามารดาของพระโพธิสัตว์ได้ทำกาลกิริยา พระโพธิสัตว์นั้นกระทำการฌาปนกิจสรีระของบิดามารดาแล้ว เรียกนางสัมมิลลหาสินีมากล่าวว่า นางผู้เจริญ เธอจงถือเอาทรัพย์นี้ มีประมาณเท่านี้ คือทรัพย์ ๘๐ โกฏิอันเป็นของตระกูลพี่ และทรัพย์ ๘๐ โกฏิอันเป็นของตระกูลเธอ แล้วปกครองทรัพย์สมบัตินี้เถิด พี่จักบวช.

นางสัมมิลลหาสินีกล่าวว่า ข้าแต่นาย เมื่อท่านบวชแล้วทิ้งดิฉันไว้ ได้ชื่อว่าเป็นแม่ม่าย แม่ร้าง ชนทั้งหลายจักตำหนิติเตียนดิฉันได้ว่า บกพร่องในหน้าที่ภรรยาและการบ้านการเรือน ดิฉันก็จักบวช ดิฉันไม่อาจทอดทิ้งท่านได้.

คนทั้งสองนั้นจึงสละทรัพย์ทั้งหมดแจกทานเสียจนสิ้น ดุจดังก้อนเขฬะ เข้าไปยังหิมวันตประเทศทั้งสองคน บวชเป็นฤาษี มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่ในหิมวันตประเทศนั้นช้านาน เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงลงจากหิมวันตประเทศ ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ แล้วอยู่ในพระราชอุทยาน.

เมื่อดาบสและดาบสินีทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยาน ต่อมาดาบสินีผู้สุขุมาลชาติบริโภคภัตอันเจือปนสิ่งที่มีพิษ ก็เกิดอาพาธลงโลหิต. นางเมื่อไม่ได้เภสัชอันเป็นสัปปายะก็ได้อ่อนกำลังลง.

ในเวลาภิกขาจาร พระโพธิสัตว์ได้พยุงนางนำไปยังประตูพระนคร แล้วให้นอนบนแผ่นกระดาน ณ ศาลาริมทางหลังหนึ่ง ส่วนตนเข้าไปภิกขาจาร. นาง เมื่อพระโพธิสัตว์ยังไม่กลับมา ก็ได้ทำกาลกิริยาเสียก่อน

มหาชนเห็นรูปสมบัติของปริพาชิกา พากันห้อมล้อมร้องไห้ร่ำไร.

พระโพธิสัตว์เที่ยวภิกขาแล้วกลับมารู้ว่านางตายแล้ว ดำริว่า สิ่งที่มีอันจะแตกไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมแตกดับไป สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงหนอ มีที่สุดเป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วนั่งบนแผ่นกระดานที่นางนอนอยู่นั่น บริโภคโภชนะที่ตนบิณฑบาตรมาได้ แล้วนำคนปนแปรกันฉันเสร็จแล้วบ้วนปาก.

มหาชนที่ยืนห้อมล้อมเห็นเช่นนั้น รู้สึกแปลกใจ จึงพากันถามว่า ท่านผู้เจริญ ดาบสินีนี้เป็นอะไรกับท่านหรือ

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางเป็นบาทบริจาริกาของเรา.

มหาชนกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราเห็นนางตายไปยังอดทนไม่ได้ พากันร้องไห้ร่ำไร เพราะเหตุไร? ท่านจึงไม่ร้องไห้ทั้งที่เคยเป็นภรรยาท่านมาก่อน

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า นางปริพาชิกานี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ย่อมเป็นอะไรๆ กับเรา ตามหน้าที่ที่พึงมี แต่มาบัดนี้เมื่อนางตายไป ก็มิได้เป็นอะไรๆ กับเราแล้ว อีกทั้งนางเป็นผู้ถึงกาลที่แตกดับเอง ไปสู่อำนาจของกฎแห่งกรรมแล้ว เราจะร้องไห้เพราะเหตุอันใด

เมื่อจะแสดงธรรมแก่มหาชน จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

นางสัมมิลลหาสินีผู้เจริญได้ไปอยู่ในท่ามกลางหมู่สัตว์ที่ตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก เมื่อนางไปอยู่กับพวกสัตว์เหล่านั้น จักชื่อว่าเป็นอะไรกับเราได้อย่างใด เพราะฉะนั้น เราจึงมิได้เศร้าโศกถึงนางสัมมิลลหาสินีผู้เป็นที่รักนี้ต่อไป

ถ้าบุคคลจะเศร้าโศก ถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงนั้น พึงเศร้าโศกถึงตนซึ่งตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราชอยู่ทุกเวลาน่าจะถูกตรงกว่า

อายุสังขารใช่ว่าจะติดตามเฉพาะสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือเดินอยู่เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในเวลาชั่วลืมตา หลับตา วัยก็เสื่อมไปแล้วอย่างต่อเนื่องทุกเวลา

ชีวิตนี้หนีไม่พ้นทางอันตรายสายนี้ดอกหนอ และต้องมีความพลัดพรากจากกัน โดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังอยู่ควรเมตตา การุณ อนุเคราะห์ เกื้อกูล เอ็นดูกัน ส่วนที่ตายไปแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจักเศร้าโศกถึง.

พระโพธิสัตว์ เมื่อแสดงอาการไม่เที่ยงด้วยคาถา ๔ คาถาดังกล่าวแล้ว.

มหาชนพากันกระทำฌาปนกิจสรีระของนางปริพาชิกาแล้ว.

พระโพธิสัตว์ก็เหาะกลับไปยังหิมวันตประเทศ ทำฌานและอภิญญาให้เจริญขึ้น ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ กฎุมพีได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

นางสัมมิลลหาสินีในครั้งนั้น ได้เป็น มารดาราหุลในครั้งนี้

ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

พระชาดกเรื่อนี้สอนให้เรารู้ว่า การเสียใจให้แก่คนที่ตายไปแล้วไม่มีประโยชน์ แต่ควรจะต้องเสียใจต่อสิ่งมีชีวิตที่จักต้องเผชิญ เจอะเจอกับสารพันธุ์อันตราย และสารพัดทุกข์อยู่ทุกเวลา
นี่สิจึงจะน่าเสียใจ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02cpL8YpJihKwtbthb2JA3cqKQGwx35evauYXMucRGHo5LtARtsdHFumurSyEnyqyTl