พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ 19

0
31

พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๙
๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระเจ้าพรหมทัตแห่งนครพาราณสี ได้ฟังโอวาทจากโพธิสัตว์กา ได้ทรงตั้งมั่นอยู่ในโอวาท ทรงประทานอภัยธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงรักษาศีลห้าเป็นประจำ และด้วยโพธิธรรมที่พระยากานั้นได้แสดงไว้ดีแล้ว โอวาทของพระยากาสุปัตต์ดำรงตั้งมั่นอยู่ถึงเจ็ดร้อยปี ในสุปัตตชาดก

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีนามว่าวิสัยหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ได้เป็นผู้ประกอบด้วยศีล ๕ มีอัธยาศัยชื่นชอบในทางบริจาคทาน ยินดียิ่งในทานที่ตนให้แล้วด้วยดี.

พระโพธิสัตว์นั้นให้สร้างโรงทานในที่ ๖ แห่ง คือที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ท่ามกลางพระนครและที่ประตูเรือนของตน ทำการให้ทานอยู่ทุกวัน ๓ เวลา ใช้ทรัพย์ในการนี้วันละหกแสนกหาปณะทุกวัน.

พระโพธิสัตว์และยาจกทั้งหลาย บริโภคภัตตาหารชนิดเดียวกัน.

เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นให้ทานจนกระทำให้หมู่มนุษย์ในชมพูทวีปทั้งสิ้นแทบจะไม่ต้องทำไร่ไถนา ด้วยทานบารมีที่พระโพธิสัตว์ได้กระทำ จึงยังให้เทวะภพของท้าวสักกะเทวราชกัมปนาทหวั่นไหวด้วยอานุภาพของการให้ทาน บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวเทวราชแสดงอาการแข็งกระด้างเร้าร้อน.

ท้าวสักกะจึงทรงดำริว่า ใครหนอประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ จึงทรงพิจารณาใคร่ครวญดู ทรงเห็นท่านมหาเศรษฐีวิสัยหโพธิสัตว์ บำเพ็ญมหาทานจนกลายเป็นตบะอันแก่กล้า จึงทรงพระดำริว่า วิสัยหเศรษฐีนี้มีทานบารมีแผ่ไปกว้างขวางยิ่งนัก ให้ทานเสียจนทำให้มนุษย์ในชมพูทวีปทั้งสิ้นไม่ต้องทำไร่ไถนา ชะรอยจักให้เราเคลื่อนจากที่แล้วอุบัติขึ้นมาเป็นท้าวสักกะเสียเองด้วยอานุภาพแห่งทานนี้เป็นแน่ อย่ากระนั้นเลยเราจักทำทรัพย์ของเขาให้ฉิบหายเสีย กระทำเศรษฐีผู้นี้ให้เป็นคนขัดสนจนไม่สามารถให้ทานได้ จึงบันดาลทรัพย์ทั้งปวง ของวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์อันตรธานหายไปเสียสิ้น แม้แต่ข้าวเปลือก น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย ก็ไม่หลงเหลือแม้แต่หยดเดียว พร้อมทั้งบรรดาเหล่าทาส กรรมกรก็ให้อันตรธานหายไปด้วย

พวกชนทั้งหลายผู้แจกทานจึงมาบอกแก่ท่านเศรษฐีว่า

ข้าแต่นาย ข้าวของในโรงทานขาดหายไป พวกข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรๆ ในที่ที่เก็บไว้ แม้แต่เมล็ดข้าวสาลีสักเม็ดก็ไม่มี

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า พวกท่านจงนำทรัพย์สำหรับจับจ่ายไปจัดหาซื้อข้าวของเถิด อย่าให้การทานล่าช้าเลย แล้วเรียกภรรยามาพูดว่า น้องหญิงเธอจงนำเอาทรัพย์ในเรือนมาส่งมอบให้ชนเหล่านั้นเถิด เพื่อให้ทานดำเนินไปโดยสะดวก

ภรรยานั้นเมื่อได้ฟังคำสั่งของสามีจึงเข้าไปค้นหาทรัพย์จนทั่วเรือนก็ไม่พบทรัพย์แม้แต่กึ่งมาสก จึงกล่าวว่า ข้าแต่สามีดิฉันไม่เห็นทรัพย์ใดๆ เลย แม้แต่ครึ่งมาสก ยกเว้นผ้าที่เรานุ่งห่มอยู่ในเรือน ล้วนว่างเปล่าไปทั้งเรือน.

เศรษฐีวิสัยหะ จึงได้ไปเปิดประตูห้องเก็บรัตนะ ๗ พร้อมทั้งเครื่องทอง ซึ่งแต่เดิมมีอยู่เต็มห้อง แต่บัดนี้มีแต่ห้องว่างเปล่า ไม่หลงเหลือแม้แต่เศษทองและอัญมณี แม้ทาสและกรรมกรอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ ยกเว้นเศรษฐีกับภรรยา

มหาสัตว์เรียกภรรยามาอีกแล้วกล่าวว่า น้องหญิงเราไม่อาจละเว้นการให้ทานได้ เธอจงไปค้นหาให้ทั่วเรือนดูว่า เรายังมีสิ่งของที่มีค่า มีประโยชน์อะไรเหลืออยู่บ้าง

ขณะนั้น คนหาบหญ้าคนหนึ่งทิ้งเคียวคานและเชือกมัดหญ้าไว้ระหว่างประตูแล้วหนีไป.

ภรรยาของเศรษฐีเห็นดังนั้น จึงได้นำมาให้โดยพูดว่า ข้าแต่สามี เว้นสิ่งนี้ ดิฉันไม่เห็นของอย่างอื่นเลย

พระมหาสัตว์กล่าวว่า น้องหญิงตั้งแต่เราเกิดมา หญ้าเราไม่เคยเกี่ยวจวบจนมาถึงปัจจุบัน แต่วันนี้ เราจักเกี่ยวหญ้านำไปขายแล้วนำทรัพย์นั้นมาซื้ออาหารเพื่อให้ทานตามกำลังที่เราหาได้ เราไม่ต้องการให้ทานขาดหายไป

วิสัยหเศรษฐี จึงถือเอาเคียว คานและเชือกออกจากพระนครไปยังทุ่งหญ้า ทอดพระเนตร แล้วเกี่ยวหญ้าด้วยคิดว่า หญ้าฟ่อนหนึ่งจักเป็นของเรา และภรรยาอีกฟ่อนหนึ่งจักเป็นทานให้แก่มหาชน แล้วจึงมัดหญ้าเป็น ๒ ฟ่อน คล้องที่คานถือเอาไปขายที่ประตูเมืองได้มาสกมาแล้ว ได้ให้ส่วนหนึ่งแก่พวกยาจก แต่พวกยาจกมีมากด้วยกัน เมื่อพวกเขาร้องขอว่า ให้ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้ายังไม่ได้เลย อดข้าวมาหลายวันแล้ว

วิสัยหโพธิสัตว์ จึงได้ให้ส่วนของตนและภรรยาไปอีก วันนั้นเขาและภรรยาจึงไม่มีอาหาร จนเวลาล่วงผ่านไปเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ถึง ๖ วัน.

ครั้นวันที่ ๗ เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังนำหญ้ามา ทั้งที่อดอาหารมา ๗ วัน ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยอดยาก ลำบากขนาดนี้ เป็นสุขุมาลชาติ (สุขสบายมาตลอด) ด้วยร่างกายที่อิดโรย พอเมื่อแสงอาทิตย์กระทบหน้าผาก นัยน์ตาทั้งสองข้างก็พร่ามัว

เศรษฐีนั้นไม่อาจดำรงสติไว้ได้ จึงล้มทับหญ้าหมดสติไป.

ท้าวสักกะเสด็จเที่ยวตรวจดูกิริยาอาการของเศรษฐีนั้นอยู่ ทันใดนั้น ท้าวเธอเสด็จมาประทับยืนในอากาศ ตรัสกล่าว ว่า :

ดูก่อนวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น ความเสื่อมจึงได้มีแก่ทรัพย์ของท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าหากท่านไม่ให้ทานแล้วไซร้ รู้จักเก็บหอมรอมริบประหยัด ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็คงดำรงอยู่ตามเดิม.

พระมหาสัตว์พอได้ฟังดำรัสของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงถามว่า ท่านเป็นใคร.

ท้าวสักกะตรัสว่าเราเป็นท้าวสักกะ.

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาชนกกรรมของท้าวสักกะ เกิดมาได้ด้วยการให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ บำเพ็ญวัตรบท ๗ ประการ ได้แก่

– เลี้ยงมารดา บิดาจนตลอดชีวิต

– ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต

– พูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต

– ไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต

– มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการสละ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต

– พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต

– ไม่โกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้น ก็กำจัดเสียโดยฉับพลัน

ท่านจึงได้มาเกิดเป็นท้าวสักกะ แต่มาวันนี้พระองค์ทำไมถึงได้มาห้ามการให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์ ทรงทำกิริยาอันมิใช่ของอารยชนเลย

แล้วได้กล่าวคาถา ว่า :-

ข้าแต่ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า บาปกรรมอันชั่วหยาบทั้งหลาย อารยชนถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ หากพระองค์ก็จะมาห้ามมิได้ ข้าพระบาทเลิกบริจาคทานละเสียซึ่งศรัทธา แล้วจะมีทรัพย์มากขึ้น เช่นนี้เราก็มิต้องการทรัพย์นั้นดอก.

รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าวสักกะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้นเถิด.

ถ้ายังมีชีวิต มีทรัพย์อยู่แม้ครึ่งมาสก ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มีทรัพย์ ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จะให้ได้อย่างไร แม้ข้าพเจ้าจะอดเจียนตายจนมีสภาพเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ยังจะให้ทานอยู่ดี เพราะข้าพระบาทจะลืมการให้ทานเสียมิได้.

ท้าวสักกะ เมื่อไม่อาจทรงห้ามวิสัยหเศรษฐีบริจาคทานได้ จึงตรัสถามว่า ท่านให้ทานเพื่อประโยชน์อะไร?

วิสัยหเศรษฐีทูลว่า ข้าพระบาทมิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ หรือความเป็นพระพรหม แต่ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ จึงให้ทาน.

ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำของวิสัยหะนั้นแล้วดีพระทัย จึงเอาพระหัตถ์ลูบหลังวิสัยหโพธิสัตว์
เมื่อพระโพธิสัตว์ถูกท้าวสักกะทรงลูบหลัง ในขณะนั้นนั่นเอง ร่างกายที่อ่อนเปลี้ยหมดเรี่ยวแรง ก็กลับมามีกำลังวังชา ผิวพรรณผ่องใส ด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ แล้วทรงบันดานให้มหาทรัพย์ปรากฎขึ้นแก่วิสัยหโพธิสัตว์เศรษฐี

แม้แต่ทรัพย์ที่เคยบริจาคทานไปก่อนหน้าทั้งปวง ท้าวสักกะเทวราชา ก็บันดาลให้ทรัพย์เหล่านั้นกลับมาเพิ่มพูนมากขึ้นเป็นร้อยเท่าพันทวี

ต่อมาท้าวสักกะจึงได้ตรัสว่าท่านมหาเศรษฐี จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงสละทรัพย์ ๑๒ แสน ให้ทานทุกวันเถิด

เมื่อทรงส่งพระโพธิสัตว์กลับมายังเรือน อันเต็มไปด้วยทรัพย์แล้ว จึงเสด็จไปเทวสถานของพระองค์.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

ภรรยาของเศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็น มารดาพระราหุล

ส่วนวิสัยหเศรษฐีได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

เขียนเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึง ครอบครัวของท่านแม่ที่แม้แต่อาหารมื้อสุดท้ายของตน ก็กล้าที่จะให้แก่คนอนาถาที่เดินมาขอข้าว น้ำ กิน

สาธุคุณบิดามารดา สาธุ สาธุ สาธุ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0HFCaqoa78sBLRxrb2AubKQC3afEXMLyvcRqVUxZxLM1gXjBZc3WSTeeEepDCbLGCl