พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๘
๙ มิถุนายน ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระศาสดาทรงตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า พวกโจรมากมายที่เรือนจำแม้ถูกจองจำด้วยขื่นคาและเครื่องจองจำต่างๆ ก็คงไม่สู้เครื่องจองจำแห่งอารมณ์ ในพันธนาคารชาดก
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกา พอเจริญวัย ได้เป็นหัวหน้ากาทั้งปวง ได้เป็นพระยากาชื่อว่าสุปัตต์
ส่วนอัครมเหสีของพระยากาสุปัตต์ ได้เป็นนางกาชื่อว่าสุปัสสา เสนาบดีชื่อว่า สุมุขะ พระยากาสุปัตต์นั้นแวดล้อมด้วยกาบริวารถึงแปดหมื่นตัว อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี
วันหนึ่ง พระยากาสุปัตต์พานางกาสุปัสสาไปหาอาหาร ได้บินไปทางเหนือโรงครัวของพระเจ้าพาราณสี ต้นเครื่องผู้ปรุงโภชนะอันมีปลาและเนื้อชนิดต่างๆ เป็นเครื่องประกอบไปทูลถวายพระราชา แล้วทรงเปิดภาชนะไว้หน่อยหนึ่ง ให้ไอร้อนระเหยออกไป
กาลต่อมา นางกาสุปัสสาได้กลิ่นปลาและเนื้อแล้ว ประสงค์จะกินโภชนะของพระราชา ตลอดวันนั้นนางไม่ยอมพูดเลย
ในวันที่สอง พระยากาสุปัตต์กล่าวว่า มาเถิด นางผู้เจริญ พวกเราจักไปหากินกัน
นางกาสุปัสสาจึงกล่าวว่า ท่านไปเถิด ดิฉัน มีการแพ้ท้องอย่างหนึ่ง
เมื่อพระยากาสุปัตต์กล่าวว่า แพ้ท้องอะไร
นางจึงกล่าวว่า ดิฉันอยากกินโภชนะของพระเจ้าพาราณสี แต่ไม่สามารถจะได้โภชนะนั้น ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้นหากดิฉันจะยังไม่ได้กินโภชนาหารของพระราชาพาราณสีในวันนี้ จักยอมตายเสียดีกว่า
ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังครุ่นคิดอยู่ว่า เราจักได้โภชนาหารของพระราชาพาราณสีมาได้อย่างไร พอดีสุมุขเสนาบดีกา ได้เข้ามาถามว่า ข้าแต่มหาราช ท่านไม่สบายใจเพราะอะไรอยู่หรือ ถึงยังมิออกไปหาอาหาร
พระโพธิสัตว์ จึงบอกเนื้อความนั้นให้เสนาบดีกาได้รับทราบ
กาเสนาบดีจึงทูลให้พระโพธิสัตว์และภรรยากาทั้งสองนั้นเบาใจว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าคิดร้อนใจไปเลย แล้วทูลไปว่า วันนี้ท่านทั้งสองจงรออยู่ที่นี้แหละข้าพเจ้าจักไปนำโภชนาหารของพระราชาพาราณสีนั้นมาถวายให้ แล้วเสนากาก็ลาจากไป
ต่อมาเสนากานั้นส่งสัญญาณให้พวกบริวารกามาประชุมกันแล้วบอกเหตุนั้นให้ทราบพร้อมทั้งกล่าวว่า มาเถอะท่านทั้งหลาย พวกเราจักไปนำโภชนาหารขององค์ราชาพาราณสีมาถวายให้แก่องค์ราชากาและมเหสีได้เสวย
เสนากาพร้อมกับพวกกาทั้ง ๘ หมื่น จึงบินเข้าไปยังพระนครพาราณสี แบ่งกองกำลังกาเป็นพวกๆ ไว้ในที่ไม่ไกลโรงครัว แล้ววางกองกำลังกาไว้เป็นกองอารักขาในที่นั้นๆ ส่วนตนเองนั่งจับอยู่บนหลังคาโรงครัวพร้อมกับกานักรบ ๘ ตัว
ครั้นเมื่อคอยเวลาที่พ่อครัวจะนำพระกระยาหารไปถวายพระราชา เสนากาได้กล่าวกะกาเหล่านั้นว่า เมื่อพ่อครัวนำพระกระยาหารของพระราชาออกมาแล้ว เราจักบินเข้าไปจู่โจมทำภาชนะที่ใส่อาหารให้ตกลงมา ก็เมื่อภาชนะตกลงไปแล้ว พวกราชบุรุษพ่อครัวคงจะรุมกันจับเราฆ่า ท่านทั้งหลาย ๔ ตัว จงรีบตรงไปคาบพระกระยาหารให้เต็มปาก อีก ๔ ตัว จงคาบปลาและเนื้อ แล้วนำไปทูลถวายให้พระยากาพร้อมทั้งมเหสีให้ได้ทรงเสวย เมื่อพระยากาถามว่า เสนากาไปไหน พวกท่านจงบอกว่า คงจะตามมาทีหลัง
ขณะนั้น พ่อครัวชาวพนักงานห้องเครื่องได้จัดแจงโภชนะของพระราชาเสร็จแล้ว นำโภชนาหารอันมีปลาและเนื้อเป็นต้น จัดใส่ลงในภาชนะ แล้วนำวางเรียงเอาไว้ในหาบนำเข้าไปยังห้องทรงเสวย
ในเวลาที่พ่อครัวไปถึงพระลานหลวง กาเสนาบดีจึงส่งสัญญาณแก่กาทั้งหลาย แล้วตนเองจึงโฉบลงจิกตีเข้าที่อกของคนเชิญโภชนาหาร กระหน่ำจิกตีด้วยกรงเล็บ เอาจงอยปากจิกปลายจมูกของคนเชิญเครื่องนั้น บินขึ้นเอาปีกและเท้าทั้งสองปิดปากของเขาไว้ พระราชาเสด็จดำเนินอยู่บนท้องพระโรง ทอดพระเนตรไปทางพระแกลใหญ่ ทรงเห็นกิริยาของกานั้น จึงทรงให้เสียงแก่คนเชิญเครื่องตรัสว่า ต้นเครื่องเจ้าจงทิ้งภาชนะทั้งหลายที่แบกหามมาเสีย แล้วจับเอาเฉพาะกาที่มาจิกตีเจ้าเท่านั้น
คนเชิญเครื่องนั้นจึงทิ้งภาชนะทั้งหลายแล้วใช้สองมือรวบจับกาไว้แน่น
ฝ่ายพระราชาก็ตรัสว่า จงนำกาใจกล้าตัวนั้นมาทางนี้ ให้เราดู
ขณะเดียวกันบริวารกาทั้ง ๘ ที่เป็นหน่วยจู่โจม ก็บินตรงเข้ามากินโภชนาหารจนเพียงพอแก่ตน แล้วจึงได้คาบเอาส่วนที่ดีที่สุดไปทูลถวายพระยากา
กาทั้ง ๘ ตัวนั้นเมื่อได้อาหารอันมีปลาและเนื้อมามากเพียงพอแล้ว จึงได้บินไปทูลถวายพระยากาพร้อมทั้งมเหสีบริโภคภัตนั้น ความแพ้ท้องของนางกาสุปัสสาก็สงบลง
กาลต่อมา คนเชิญเครื่องต้นจึงนำตัวกาเข้าไปถวายพระราชา
พระราชาได้ตรัสถามกานั้นว่า นี่แนะเจ้ากา เจ้าไม่ละอายต่อความผิดบาปเลยหรือ ทั้งยังจิกจมูกของคนเชิญเครื่องให้แหว่งด้วย ทำลายภาชนะภัตตาหารให้แตกด้วย เจ้าช่างกล้านัก ไม่กลัวตายบ้างหรือไง เพราะเหตุไรเจ้าจึงได้กระทำการเช่นนี้
กาเสนา จึงกราบทูลว่า ข้าแต่องค์มหาราช ราชาของพวกข้าพระองค์อาศัยอยู่ ณ ชานเมืองในกรุงพาราณสี ข้าพระองค์เป็นเสนาบดีขององค์พระราชากานั้น พระองค์มีมเหสีนามว่าสุปัสสา นางกำลังแพ้ท้อง ประสงค์จะบริโภคโภชนะขององค์พระราชา
กาจึงเล่าเรื่องการแพ้ท้องของภรรยานั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงยอมคิดสละชีวิตเพื่อตอบแทนคุณแห่งองค์พระราชากานั้น จึงได้มาทำร้ายพนักงานต้นเครื่อง เพื่อขโมยโภชนาหารอันมีปลาและเนื้อเป็นต้นไปให้แก่มเหสีของพระยากานั้น บัดนี้ ความปรารถนาแห่งใจของข้าพระองค์ได้สำเร็จแล้ว ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงยอมสละชีวิต เพื่อองค์ราชากาพระเจ้าข้า
เสนากานั้นเมื่อจะแสดงเนื้อความให้แจ่มแจ้ง จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :
ข้าแต่มหาราช พระยากาชื่อสุปัตตะ เป็นกาอยู่ในเมืองพาราณสี อันกาแปดหมื่นแวดล้อมแล้ว
นางกาสุปัสสาภรรยาของพระยากานั้นแพ้ท้อง ปรารถนาจะกินพระกระยาหารมีค่ามาก ที่คนหุงต้มแล้วในห้องเครื่อง
ข้าพระองค์เป็นทูตของพระยากาทั้งสองนั้น เมื่อรับรู้ถึงความต้องการของเจ้านายจึงรับอาสาเป็นผู้มาในที่นี้ ข้าพระองค์จะกระทำความจงรักภักดีต่อเจ้านาย จึงได้จิกจมูกของคนเชิญเครื่องให้เป็นแผล
พระราชาได้สดับคำของกานั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ก่อนนี้พวกเราที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน เราอวยยศใหญ่ให้แก่ผู้เป็นมนุษย์ด้วยกัน ข้าเหล่านั้นก็ยังไม่อาจทำความสบายใจแก่เราได้ แม้จะให้สมบัติ ทรัพย์สิน แผ่นดิน และบ้านเป็นต้น ก็ยังไม่ได้บุคคลผู้จะยอมเสียสละชีวิตให้แก่เรา สัตว์ตัวนี้แม้จะเป็นแค่กา มันยังยอมสละชีวิตแก่พระราชาของตนได้ นับว่าเป็นสัปบุรุษชั้นเยี่ยม อีกทั้งยังมีเสียงไพเราะ เป็นธรรมกถึก จึงทรงเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของกานั้น และทรงบูชากานั้นด้วยเศวตฉัตร พร้อมโภชนาหารอันเลิศเป็นจำนวนมาก
กานั้นก็บูชาพระราชานั้นด้วยการแสดงธรรมโอวาทให้องค์ราชาทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ อันมี
๑. ทาน การให้ การเสียสละ รวมถึงการมีน้ำใจให้แก่ผู้อื่น
๒. ศีล ความประพฤติตนดีงามที่ปราศจากโทษ ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ทั้งในด้านส่วนตัวและในด้านหน้าที่การงาน อันไม่ขัดกับพระราชประเพณี กฎหมาย และศีลธรรมจรรยาอันดี
๓. ปริจจาคะ การบริจาค เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
๔. ความซื่อตรง ต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อตนเอง ซื่อตรงต่อคนอื่น
๕. ความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ไม่ยกตนข่มท่าน
๖. ความเพียร ต่อหน้าที่การงาน และเพียรละชั่ว เพียรทำดี เพียรทำจิตนี้ให้ผ่องแผ้วขาวรอบ
๗. ความไม่ผูกโกรธ แม้จะลงโทษผู้กระทำผิดก็ต้องไม่กระทำด้วยความโกรธ
๘. ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๙. ความอดทน ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อสิ่งเร้าเครื่องล่อทั้งปวง
๑๐. ความยุติธรรม หนักแน่น มั่นคง ในความถูกต้อง ไม่ตกอยู่ในอคติทั้ง ๔ คือ ลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง และเพราะกลัว
แล้วจึงกล่าวคุณทั้งหลายของพระยากาโพธิสัตว์ให้แก่องค์ราชาพาราณสีได้ทรงสดับ
พระราชาครั้งได้สดับ จึงทรงเลื่อมใส ทรงมีรับสั่งให้อัญเชิญพระโพธิสัตว์กานั้นมาแล้วทรงขอฟังธรรม พร้อมทั้งได้ทรงตั้งภัตตาหารเครื่องเสวยของพระองค์ เพื่อพระยากาและประชาบดีแม้ทั้งสอง
กาลต่อมาทรงให้หุงข้าวสุกจากข้าวสารทนานหนึ่งทุกวัน เพื่อพวกกาที่เหลือ และพระองค์เองทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์กา ทรงประทานอภัยธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงรักษาศีลห้าเป็นประจำ และด้วยโพธิธรรมที่พระยากานั้นได้แสดงไว้ดีแล้ว โอวาทของพระยากาสุปัตต์ดำรงตั้งมั่นอยู่ถึงเจ็ดร้อยปี
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้
กาเสนาบดีในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรในบัดนี้
กาสุปัสสาในครั้งนั้น ได้เป็นมารดาพระราหุลในบัดนี้
ส่วนกาสุปัตตะ คือเรา ตถาคต ฉะนี้แล
พระชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ยังเจริญรุ่งเรืองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–