มหาปรินิพพานสูตร (ตอนที่ ๑)
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๗
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสวยราชย์ได้ ๗ ปี ทรงใช้วัสสการพราหมณ์ให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแทนพระองค์บนเขาคิชฌกูฎ ให้ทูลถามถึงความทุกข์สุขก่อน แล้วให้กราบทูลถึงพระราชดำริของพระองค์ที่จะโจมตีแคว้นวัชชี และเมื่อพระพุทธองค์รับสั่งอย่างไร ก็ให้จำมากราบทูลอย่างนั้น ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีพรรษา ๗๙ พระพรรษา ก่อนที่จักทรงปรินิพพาน ๑ ปี
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตรทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย
ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสเรียกวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐมาตรัสสั่งว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจงถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา แล้วทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลัง การประทับอยู่สำราญดีหรือไม่ โดยกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่าพระกำลัง การประทับอยู่สำราญ และจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ดังนี้ และพระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำข้อนั้นมาบอกเรา พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่ไม่จริงเลย ฯ
วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ รับพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร แล้วเทียมยานที่ดีๆ ขึ้นยานออกจากพระนครราชคฤห์ตรงไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดภูมิประเทศเท่าที่ยานจะไปได้ จึงลงจากยานเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐนั่งเรียบร้อยแล้วทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ขอถวายบังคมพระบาททั้งสองของท่านพระโคดมด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง ความกระปรี้กระเปร่า พระกำลังการประทับอยู่สำราญ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทรงปรารถนาจะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี ท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ว่า ก็เราจักตัดพวกเจ้าวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ๆ จักให้แคว้นวัชชีพินาศถึงความวอดวาย ฯ
ก็สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองๆ มีอยู่หรือ
ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักหมั่นประชุมกันเนืองๆ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
(ด้วยพุทธดำรัสอย่างนี้แหละ หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาควรน้อมนำมาประพฤติ ปฏิบัติเพื่อความเจริญถาวร มั่นคงของหมู่คณะ)
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุมพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำดีอยู่หรือ
(ด้วยพระพุทธดำรัสนี้ หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาพึงน้อมนำมาปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่คณะ)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักพร้อมเพรียงกันประชุม จักพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และจักพร้อมเพรียงกันทำกิจที่เจ้าวัชชีพึงกระทำอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ได้บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้แล้วมีอยู่หรือ
(และด้วยพระพุทธดำรัสอย่างนี้แหละ ที่ทำให้หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาสามารถธำรงรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยขององค์พระบรมศาสดามาได้จนถึง ๒๕๖๗ ปี)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จักไม่ถอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานประพฤติอยู่ในวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้
แล้วอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นมีอยู่หรือ
(ด้วยพระดำรัสนี้นี่แหละ ทำให้หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาควรให้ความเคารพต่อภิกษุผู้ทรงไตรสิกขาผู้มีอายุพรรษาแก่กว่าตนอยู่เสมอๆ จึงจักทำให้สังฆมณฑลดูสง่างาม มั่นคง ดำรงศรัทธาของพุทธบริษัทเอาไว้ได้)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะเคารพนับถือบูชาท่านที่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเจ้าวัชชี และจักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านเหล่านั้นอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุลให้อยู่ร่วมด้วยหรือ
(ด้วยพระดำรสนี้ทำให้หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขา จักต้องมีความสำรวม สังวร ระวัง ในอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในสมณสารูป)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักไม่ฉุดคร่าขืนใจสตรีหรือกุมารีในสกุล ให้อยู่ร่วมด้วยอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีสักการะเคารพ นับถือบูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไปมีอยู่หรือไม่
(ด้วยพระพุทธดำรัสนี้นี่แหละหมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาและพุทธบริษัทพึงกระทำ สั่งสม อบรมต้นทุนบุญกุศลให้ดำรงตั้งมั่นอยู่อย่างต่อเนื่อง เนืองๆ อย่าให้ขาด จนกลายเป็นอุปนิสัย เป็นแรงบันดานใจ เป็นตบะ เป็นพลังของกาย วาจา ใจ)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ของพวกเจ้าวัชชีทั้งภายในภายนอก และจักไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลี ที่เคยให้ ที่เคยกระทำ แก่เจดีย์เหล่านั้น เสื่อมทรามไปอยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ดูกรอานนท์ เธอได้ยินมาอย่างไร พวกเจ้าวัชชีจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่าไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้นและที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้น ดังนี้มีอยู่หรือ
(ด้วยพระพุทธดำรัสนี้หมู่สงฆ์ผู้ทรงไตรสิกขาและพุทธบริษัททั้งหลาย พึงกระทำการปฏิสันถาร คารวะตา ต่อผู้มาเยือนโดยธรรมอย่างนอบน้อม จริงใจ มีไมตรี)
ข้าพระองค์ได้ยินมาอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ พวกเจ้าวัชชีจักจัดแจงไว้ดีแล้ว ซึ่งความอารักขา ป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยตั้งใจว่า ไฉนหนอ พระอรหันต์ที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นผาสุกในแว่นแคว้นดังนี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม เพียงนั้น ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะวัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐว่า ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ แก่พวกเจ้าวัชชี ก็อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ จักตั้งอยู่ในพวกเจ้าวัชชี และพวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ นี้ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น
(และด้วยอำนาจพลังแห่งอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ จึงทำให้สังฆมณฑลและพุทธบริษัททั้ง ๔ ตั้งมั่น ดำรงอยู่อย่างมั่นคง ปลอดภัย รุ่งเรืองเจริญ โดยเภทภัย อันตรายทั้งปวง ก็มิอาจทำอันตรายใดๆ ได้เลย)
อปริหานิยธรรม หมายถึง ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม แต่เป็นธรรมเพื่อความเจริญ กล่าวคือ ถ้าบุคคล ปฏิบัติตามอปริหานิยธรรม บุคคลนั้น จะมีแต่ความเจริญความก้าวหน้าในชีวิต ไม่มีความเสื่อม ความเสียหาย อันเป็นอุปการะมากสำหรับผู้ปฏิบัติ ผู้บริหาร หมู่ชน และคนในสังคม มี ๗ ประการ คือ
1. จัดประชุม และหารือกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เป็นนิตย์
2. การประชุมต้องให้มีหมู่คณะมาพร้อมเพรียงกัน รวมถึงการเลิกประชุม และการทำกิจอันสมควรกระทำให้พร้อมเพรียงกัน
3. บัญญัติหรือมีมติในสิ่งในเรื่องใหม่ และข้อบัญญัติไม่ขัดหรือตัดรอนบัญญัติเก่า และเมื่อในที่ประชุมมีมติตกลงในเรื่องใดๆ ทุกคนก็ควรพร้อมยอมรับ
4. ให้เคารพนับถือคำกล่าวของผู้อาวุโส
5. ไม่ล่วงละเมิดทางใจ และกายในสตรีที่มีสามีหรือสตรีสาวในสังคมที่เขามีผู้ปกครอง
6. ให้ความเคารพ และสักการะ รวมถึงการบูรณะเจดีย์หรือพุทธสถานที่ปลูกสร้างไว้ให้สมบูรณ์ แข็งแรง สวยงาม สม่ำเสมอ
7. ให้การสงเคราะห์ และอุปการะแก่สมณะ ชี พราหมณ์ ผู้ทรงศีลทั้งหลาย)
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหานิยธรรม แม้ข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อม จะป่วยกล่าวไปไยถึงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ข้อเล่า พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะปรองดอง นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมากจะขอลาไปในบัดนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านย่อมทราบกาลอันควรที่จะจากไปในบัดนี้เถิด
ลำดับนั้น วัสสการพราหมณ์ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฯ
สังคมไทยที่ชอบคุยอวดว่าตนมีประชาธิปไตย ถามว่าเคยได้ศึกษาคำสอนดังกล่าวมานี้แล้วหรือยัง
หากยัง นั้นก็เท่ากับประชาธิปไตยได้ตายไปจากคุณแล้ว
พุทธะอิสระ
——————————————–