พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ 16

0
30

พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๖
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ กวางลักขณะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพญากวาง เนื่องจากมีปัญญา ไม่ดื้อดึง สามารถปกครองบริวารได้ ส่วนกวางกาฬะนั้นโง่เขลา อวดดี และดื้อดึง ทำให้บริวารต้องล้มตาย ในลักขณชาดก

เมื่อพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้าปรินิพพานแล้ว ณ ห้องที่ท่านเกิด ในหมู่บ้านนาลกะ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๒ พระมหาโมคคัลลานะปรินิพพานในวันอมาวสี (สิ้นเดือน) ในกาฬปักษ์ของเดือน ๑๒ นั่นเอง.

พระศาสดาทรงพระดำริว่า เมื่อคู่อัครสาวกปรินิพพานแล้วอย่างนี้ แม้เราก็จักปรินิพพานในเมืองกุสินารา เสด็จจาริกไปโดยลำดับในเมืองนั้น. เสด็จบรรทมด้วยอนุฏฐานไสยาเหนือพระแท่น ผันพระเศียรทางอุตตรทิศ ระหว่างไม้รังทั้งคู่.

ครั้งนั้น พระอานนทเถระเจ้ากราบทูลวิงวอนพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองเล็กๆ นี้เลยพระพุทธเจ้าข้า ที่แห่งนี้เป็นเมืองดอน เป็นเมืองเขิน เป็นเมืองกิ่ง ทูลเชิญพระองค์เสด็จปรินิพพาน ณ เมืองมหานครเมืองใดเมืองหนึ่ง เช่น มหานครมีจัมปากะและราชคฤห์เป็นต้น

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ เธออย่ากล่าวว่า นครกุสินารานี้เป็นเมืองเล็กๆ เมืองดอน เมืองกิ่ง. ครั้งก่อนในรัชกาลแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์สุทัสสนะ เราอยู่ในเมืองนี้. ในครั้งนั้น เมืองนี้แวดล้อมด้วยกำแพง ๑๒ โยชน์ เป็นมหานครอันยิ่งใหญ่มาแล้ว.

พระเถระเจ้ากราบทูลอาราธนา องค์พระบรมศาสดา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก.

มหาสุทัสสนสูตร ดังต่อไปนี้ :-

ก็ในครั้งนั้น เมื่อพระนางสุภัททาเทวีทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จลงจากปราสาทสุธัมมา เสด็จบรรทมโดยอนุฏฐานไสยา โดยพระปรัศว์เบื้องขวา เหนือพระแท่นอันสมควรล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ อันราชบุรุษจัดไว้ในป่าตาลไม่ไกลนัก. จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระนครแปดหมื่นสี่พัน มีราชธานีกุสาวดี เป็นประมุขเหล่านี้เป็นของทูลกระหม่อม โปรดพอพระทัยในพระนครเหล่านี้เถิด.

พระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสว่า เทวี อย่าได้พูดอย่างนี้เลย จงตักเตือนเราอย่างนี้เถิดว่า พระองค์จงกำจัดความพอใจในพระนครเหล่านี้เสีย ให้จงได้เถิด. อย่าทรงกระทำความเพ่งเล็งเลย.

พระเทวีทูลถามว่า เพราะเหตุไรเล่า พระเจ้าข้า?

ตรัสว่า เราจักต้องตายในวันนี้.

ทันใดนั้น พระเทวีทรงพระกรรแสง มิได้ตรัสถ้อยคำอย่างไรแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้เลย เอาแต่ทรงพระกรรแสงร่ำไห้ เหล่าสตรีบริวารทั้งแปดหมื่นสี่พันนาง แม้ที่เหลือก็พากันร้องไห้ร่ำไร ถึงในหมู่อำมาตย์เป็นต้นแม้คนเดียวก็ไม่อาจอดกลั้นความโศกไว้ได้ ต่างร้องไห้ระงมทั่วกัน.

พระโพธิสัตว์ห้ามคนทั้งหมดว่า อย่าเลยพนาย อย่าได้ส่งเสียงคร่ำครวญไปเลย เพราะสังขารนี้ชื่อว่า เที่ยง แม้เท่าเมล็ดงาก็ไม่มีเลย ทุกอย่างไม่เที่ยง มีความแตกดับเป็นธรรมดา ทั้งนั้น.
เมื่อจะทรงสั่งสอนพระเทวี ตรัสพระคาถานี้ ความว่า

ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ สังขารทั้งหลายมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น อันปัจจัยมีประมาณเท่าใด มาประชุมก่อกำเนิดไว้ ทั้งหมดนั้น ชื่อว่าไม่เที่ยงไปทั้งหมด เพราะบรรดาสังขารเหล่านี้ รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง จักษุไม่เที่ยง ฯลฯ ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง. รวมความว่า สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิด ทั้งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ มีอันใดบ้าง อันนั้นทั้งหมด ไม่เที่ยงทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ จงกำหนดถือเอาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ.

เพราะเหตุไรเล่า ?

เพราะเหตุว่าเป็นอุปปาทวยธรรม คือ เพราะสังขารเหล่านี้ทั้งหมดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วย และมีความเสื่อมเป็นธรรมดาด้วย ล้วนมีความเกิดขึ้นและความแตกดับเป็นสภาวะทั้งนั้น เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงทราบเถิดว่า เป็นของไม่เที่ยง แลก็เพราะไม่เที่ยง จึงเกิดแล้วก็ดับ หากแม้จะเกิดแล้ว ถึงความดำรงอยู่ได้ ก็ต้องดับทั้งนั้น.

แท้จริง สังขารเหล่านี้ทุกอย่างกำลังเกิด ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น. กำลังสลาย ชื่อว่าย่อมแตกดับ. เมื่อความเกิดขึ้นแห่งสังขารเหล่านั้น มีอยู่ ชื่อว่าฐีติ จึงมีได้. เมื่อฐีติมีอยู่ ชื่อว่าภังคะ จึงมีได้. เพราะเมื่อสังขารไม่เกิดขึ้น ฐีติก็มีไม่ได้. ฐีติขณะปรากฏแล้ว ชื่อว่าความไม่แตกดับ ก็ไม่มี. เพราะฉะนั้น สังขารแม้ทั้งหมด ถึงขณะทั้ง ๓ แล้วก็ย่อมดับไป ในขณะนั้นๆ เอง. เพราะเหตุนั้น สังขารเหล่านี้แม้ทั้งหมดจึงเป็นของไม่เที่ยง เป็นไปชั่วขณะ เป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ยั่งยืน เปื่อยเน่า หวั่นไหว โยกคลอน ตั้งอยู่ได้ไม่นาน แปรผันได้ เป็นของชั่วคราว ไร้สาระ เป็นเช่นกับของหลอกลวง พยับแดดและฟองน้ำ ด้วยอรรถว่า เป็นของเป็นไปชั่วขณะ.

ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ เพราะเหตุไร เธอจึงยังมีสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ให้บังเกิดขึ้นในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นเล่า อย่าได้ถือเอาอย่างนั้นเลย.

ดูก่อนสุภัททาเทวีผู้เจริญ สภาพที่ชื่อว่าระงับเสียซึ่งสังขารเหล่านั้น เพราะระงับดับเสียได้ซึ่งวัฏฏะทั้งมวล ได้แก่พระนิพพาน และพระนิพพานนี้อย่างเดียวเท่านั้น ชื่อว่าเป็นสุขโดยส่วนเดียว อื่นๆ ที่จะชื่อว่าเป็นสุขไม่มีเลย ดังนี้.

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยอมตมหานิพพานด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประทานโอวาท แม้แก่มหาชนที่เหลือว่า ท่านทั้งหลายจงให้ทาน จงรักษาศีล จงกระทำอุโบสถกรรม ดังนี้แล้ว ได้เป็นผู้มีเทวโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

สุภัททาเทวีในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระนางยโสธรา

ขุนพลแก้ว ได้มาเป็น พระราหุล.

ส่วนพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid023tthTS62T7TCJyEgjWf8CTFkaARvozdK4FRn4P9JQsK31ReqnY1ZtDbeEsr9GLy2l