พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๔
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระราหุลเถระกราบทูลลาพระบรมศาสดาไปนิพพานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ทีนี้เรามาตามดูเหตุการณ์หลังจากที่องค์พระบรมศาสดาทรงเสด็จโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ จนพระกุมารราหุลพระราชโอสรทรงออกบรรพชาแล้วบรรลุพระอรหันต์
ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนมหาราช หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนา ทรงบรรลุพระอรหันต์จากการที่องค์พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดจนมีดวงตาเห็นธรรม และได้บรรลุธรรมมาตามลำดับจนปรินิพพานภายใต้พระเศวตฉัตร
ต่อมาพระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมกับบริวารมาตุคาม ๕๐๐ นาง ก็ทูลขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา หลังจากที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรพชาแล้ว พระนางภัททากัจจานา ก็ทรงดำริว่า พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็สวรรคตไปแล้ว พระสวามีก็ทรงออกบวชไปแล้ว ราหุลราชกุมารลูกของเราก็บรรพชาไปแล้ว พระญาติพระวงศ์ต่างก็ทรงผนวชตามเสด็จไปเป็นอันมาก
บัดนี้ไม่เหลือกิจอันใดที่จะต้องทรงทำในพระราชวังแล้ว ดังนั้นพระนางจึงได้เสด็จไปยังสำนักแห่งพระนางปชาบดีเถรี และทูลขอบวช
พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีก็ทรงบวชให้ตามพระประสงค์
ครั้นเมื่อบวชแล้วก็ทรงบำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือนก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย เป็นหนึ่งในสี่พระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่
****************
อภิญญาใหญ่ หมายถึง ความรู้ยิ่งกว่าความรู้ปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน โดยพระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่นั้น จะสามารถระลึกชาติได้ถึง อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป โดยการระลึกถึงครั้งเดียว ส่วนผู้ได้อภิญญาปกตินั้นจะระลึกได้ไม่เกินแสนกัป และต้องระลึกทีละครั้งๆ ละกัป
อภิญญา คือ คุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มี 6 อย่าง คือ
1.อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
2.ทิพพโสต มีหูทิพย์
3.เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
4.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
5.ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
6.อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป (มีเฉพาะพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น)
****************
สมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ นั้น จะมีอริยสาวกที่ได้อภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่าน ซึ่ง ๔ ท่านนั้นได้แก่ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา)
ครั้นกาลเวลาล่วงเลยไปจนพระเถรีมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา อยู่มาวันหนึ่งพระเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบถวายบังคมลา เพื่อเสด็จดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้น
พระมีผู้พระภาคทรงตรัสให้พระเถรีแสดงฤทธิ์ เพื่อตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงที่มีอยู่ในศาสนาเถิด ด้วยเพราะในเวลานั้นปุถุชนทั้งหลายพากันซุบซิบนินทากันว่า พระนางภัททากัจจานาเถรีอาศัยความคุ้นเคย เป็นถึงอดีตพระมเหสีขององค์พระโพธิสัตว์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในด้านอภิญญา
พระยโสธราเถรีจึงได้แสดงฤทธิ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล แสดงศีรษะเท่าอุตรกุรุทวีป แสดงแขนสองข้างเท่าทวีปทั้งสอง แสดงสรีระเป็นต้นหว้าประจำทวีปมีกิ่งด้านใต้มีลูกเป็นพวง กิ่งต่างๆ ก็มีลูกดก แสดงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เป็นนัยน์ตา แสดงเขาสุเมรุเป็นกระหม่อม แสดงเขาจักรวาลเป็นหน้า เอาต้นหว้าพร้อมทั้งรากทำเป็นพัดเดินเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดาผู้เป็นนายกของโลก
แสดงเป็นช้าง เป็นม้า ภูเขา และทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เขาสุเมรุ และท้าวสักกเทวราช พระเถรีเอาดอกไม้ปิด โลกธาตุทั้งพันเอาไว้ และนิรมิตเป็นเพศพรหมแสดงสุญญตาธรรมอยู่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันผู้ชื่อว่า ยโสธราขอถวายบังคมพระยุคลบาท หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
หม่อมฉันทั้งหลายเผากิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว กิจในพระธรรมวินัยนี้หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว หม่อมฉันทั้งหลายได้มีทุกข์อันวิบัติหมดสิ้นแล้ว และสุขสมบัติก็วิบัติหมดสิ้นแล้ว เช่นนี้ถึงพร้อมแล้ว ซึ่งความเป็นผู้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง
บุคคลผู้ถวายตนของตนแก่พระเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่บุญ ก็ย่อมพรั่งพร้อมไปด้วยสหาย ลุถึงนิพพานบทเป็นอสังขตะกรรมทั้งปวง ส่วนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหม่อมฉันทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุของโลก หม่อมฉันทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาท เพื่อทูลลาปรินิพพาน พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน เราจะกล่าวอะไรให้ยิ่งกะเธอทั้งหลายเล่า แล้วพระเถรีก็ได้กราบถวายบังคมลากลับไป และได้ทรงดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้นเอง ณ คันธกุฎีของตน
จบแล้วจ้า
เขียนและอ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้เกิดธรรมปีติยิ่งนัก
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–