พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ 13

0
35

พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๓
๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ ปฐวินทรกุมาร ได้สร้างวิหาร ๕๐๐ แห่ง อาราม ๕๐๐ แห่ง แล้วทรงตระเวนบำเพ็ญกุศลตลอดชีพ เมื่อละจากอัตภาพนั้นไปแล้วจึงไปบังเกิดในเทวโลก

ครั้นมาในสมัยพระพุทธเจ้าพระสมณโคดมนี้ พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระราชกุมารสิทธัตถะทรงเจริญวัยโดยลำดับ แล้วทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ทรงครองเรือนอยู่จนพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ในเวลาที่พระนางยโสธราทรงพระครรภ์แก่นั้น ก็เกิดเหตุที่ทำให้พระโพธิสัตว์ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยใน ๔ วันก่อนที่จะทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวชนั้น ก็มีพระประสงค์จะออกประพาสอุทยาน และในระหว่างทางที่เสด็จนั้น เทวดาได้แปลงกายเป็นเทวทูต ๔ ให้ทรงเห็นรวม ๔ วันคือ เห็นคนแก่ในวันที่หนึ่ง เห็นคนเจ็บในวันที่สอง เห็นคนตายในวันที่สาม และเห็นบรรพชิตในวันที่สี่

และในวันที่ทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวช ทรงเสด็จออกประพาสอุทยานวันที่ ๔ นั้นเอง พระนางยโสธราก็ทรงประสูติพระโอรสอยู่ในพระราชวัง ในขณะที่พระโพธิสัตว์ยังทรงประพาสอุทยานอยู่

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับว่า ลูกสะใภ้ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรส จึงส่งสาสน์ไปแจ้งพระโพธิสัตว์ว่า ท่านทั้งหลายจงบอกความดีใจของเราแก่พระลูกเจ้าของเราด้วยว่า บัดนี้พระองค์มีพระราชบุตรแล้ว

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับข่าวการประสูติพระราชโอรส ลำดับนั้น ความสิเนหาในพระโอรสทำให้พระวรกายทุกส่วนของพระมหาบุรุษซาบซ่าน พระมหาบุรุษดำริว่า เมื่อบุตรเกิดเพียงคนเดียว ความสิเนหาในบุตรยังเป็นถึงเพียงนี้ ถ้าเราจักมีบุตรกว่า ๑,๐๐๐ คน ในบุตรเหล่านั้นเมื่อคนหนึ่งเกิดความผูกพันด้วยสิเนหาเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้ หัวใจจักแตกสลายเป็นแท้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ราหุล (ห่วงเกิดแล้ว, เครื่องจองจำเกิดแล้ว, เครื่องผูกเกิดแล้ว) พระเจ้าสุทโธทนมหาราชตรัสถามราชบุรุษว่า บุตรของเราได้พูดอะไรบ้าง

พระราชบุตรจึงได้ทูลว่า พระโอรสสิทธัตถะ ทรงตรัสว่า ราหุล ราหุล พระเจ้าข้า

ครั้นได้สดับคำนั้นแล้วจึงตรัสว่า ตั้งแต่นี้ไป หลานของเราจงมีชื่อว่า ราหุลกุมาร เถิด

ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรพชาแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จนที่สุดทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้ว พระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปบิณฑบาต โปรดพระบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล โปรดพระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล และในกาลเสร็จภัตกิจ ทรงอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัสจันทกินนรีชาดก โปรดพระราชบิดา ให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล

ในวันที่ ๒ แต่วันนั้นเอง พระนันทราชกุมาร มีมหามงคล ๕ อย่าง คือ (๑) แก้พระ เกศา (๒) ผูกพระสุพรรณบัฏ (๓) ฆรมงคล (๔) อาวาหมงคล (๕) ฉัตรมงคล โดยนันทกุมารจะอภิเษกกับนางชนบทกัลยาณีในวันนั้น พระบรมศาสดาได้รับนิมนต์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่ในวัง หลังจากทรงเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรแล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จพระดำเนินกลับไป โดยมิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ฝ่ายพระนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามิกล้าทูลให้พระบรมศาสดาทรงรับบาตรไป พระนันทจึงต้องตามเสด็จไปถึงวัดทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดให้บวชพระนันทกุมารนั้น

ในวันที่ ๗ มารดาพระกุมารราหุล ทรงส่งพระกุมาร ซึ่งขณะนั้นมีพระชนม์พรรษา ๗ ปี ไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า และทรงสั่งพระโอรสว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้น เป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์เถิด

ฝ่ายพระกุมารครั้นพอเสด็จไปสู่สำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กลับเกิดความรักในพระบิดา มีพระหฤทัยรื่นเริงยินดี ยืนรับสั่งถ้อยคำเรื่องโน้นเรื่องนี้เป็นอันมาก โดยมิได้รับสั่งเรื่องที่พระมารดาสั่งให้มาทูลพระบรมศาสดา

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเสร็จภัตกิจแล้ว กระทำอนุโมทนา เสด็จลุกจากพระที่นั่งกลับไป
ฝ่ายพระกุมารเมื่อทรงนึกถึงถ้อยคำที่พระมารดาสั่งไว้ได้จึงได้ทรงติดตามไปทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณเจ้า ขอพระองค์ประทานทรัพย์มฤดกแก่หม่อมฉันเถิด พระสมณเจ้า ขอพระองค์ประทานทรัพย์มฤดกแก่หม่อมฉันเถิด

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงพระอาราม แล้วทรงพระดำริว่าทรัพย์อันใดของบิดาที่ราหุลนี้ปรารถนา ทรัพย์อันนั้นเนื่องด้วยวัฏฏะ เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เราจักทำเธอให้เป็นเจ้าของมฤดกอันเป็นโลกุตตระ ดังนี้แล้วรับสั่งหาท่านพระสารีบุตรมา แล้วตรัสว่า ราหุลกุมารนี้ขอทรัพย์มฤดก เพราะเหตุนั้นท่านจงบวชราหุลกุมารนี้เถิด

ในสมัยนั้น ตั้งแต่พระบรมศาสดาทรงโปรดให้พระสารีบุตรอุปสมบทพระราธเถระ และทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วยวิธี ไตรสรณคมน์ ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิมแล้ว ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม อันเป็นวิธีอุปสมบท โดยมีสงฆ์เป็นใหญ่ พระสารีบุตรเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก และพระราธะเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เป็นรูปแรก การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบรรพชา (สามเณร) ยังมิได้เคยมีมาก่อน เพราะเหตุนั้น ความสงสัยจักเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายในอนาคตว่า ชื่อว่าบรรพชา (สามเณร) นี้ จะพึงทำด้วยกรรมวาจา เหมือนอุปสมบท (พระภิกษุ) หรือว่า พึงทำด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อตัดความสงสัยเช่นนี้พระธรรมเสนาบดี จึงทูลถามว่า ข้าพระองค์จะผนวชพระราหุลกุมารอย่างไร พระเจ้าข้า ?

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา เพราะเหตุนี้เป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตร เป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์

ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรผู้มีอายุ ยังพระราหุลกุมารให้ผนวชแล้ว โดยพระมหาโมคคัลลานเถระปลงพระเกศาของพระกุมารแล้วถวายผ้ากาสายะ พระสารีบุตรได้ถวายสรณะ พระมหากัสสปเถระได้เป็นโอวาทาจารย์

สามเณรราหุล เมื่อได้บรรพชาแล้วก็เป็นผู้ใคร่ในการศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างมาก จนสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุได้เพียงครึ่งพรรษา

ครั้งหนึ่งท่านได้กอบทรายเต็มกำมือแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอุปัชฌาย์ให้ได้มากเท่ากับเม็ดทรายในกำมือ”

ด้วยเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องพระราหุลว่าเป็นเอตทัคคะ (ผู้ประเสริฐสุด) ในทางด้านผู้คงแก่เรียนใฝ่ศึกษา

พระราหุลเถระนิพพานเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานระบุชัด ทราบเพียงว่า ท่านปรินิพพานก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง และก่อนพระพุทธเจ้า โดยการทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระชาดก ชีวประวัติของพระอสีติมหาสาวกแต่ละองค์ล้วนสำเร็จประโยชน์ได้จากการสั่งสม อบรม บุญ กุศล ศรัทธา ความเพียร จาคะ การให้การเสียสละ การแบ่งปัน สติ สมาธิ ปัญญา มาเป็นอย่างดีแล้วแต่กาลก่อน

ภพ ชาติปัจจุบันจึงส่งผลให้ได้พบพระบรมศาสดา พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม ได้บรรลุธรรม บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด สมดังที่ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเอาไว้แต่กาลก่อน

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid07MBMmXVeSKsrxu8xBU3WuxndD8uhLx2F9MZXHCjhBMSwMeSLcmAAj6yQ8gPxyEFDl