พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑๐
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระราชาปเสนทิโกศลทรงมีรับสั่งให้ชาวพนักงานของพระองค์ทำน้ำมะม่วงคั้น เพื่อแก้โรคลมกำเริบ ถวายแก่พระภัททากัจจานาเถรีเป็นประจำ
ในวันหนึ่งเวลาวิกาล พระเถระเป็นอันมากเข้า ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่เป็นที่อยู่ของพระราหุลเถระแล้วก็ไล่ท่านให้ลุกขึ้น ท่านเมื่อไม่เห็นที่เป็นที่อยู่ในที่อื่น จึงไปนอนที่หน้ามุขพระ คันธกุฎีของพระตถาคต คราวนั้น ท่านผู้มีอายุนั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว แต่เป็นผู้ยังไม่มีพรรษาเลย
มารชื่อวสวัตดี ดำรงอยู่ในภพนั่นแหละ เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จึงคิดว่า
“พระหน่อน้อยผู้แทงใจของพระสมณ โคดมนอนข้างนอก ส่วนพระองค์ผทมในภายในพระคันธกฎี เมื่อเราเข้าไปทำร้าย บีบคั้นพระหน่อน้อย พระองค์เองก็จักเป็นเหมือนถูกบีบคั้นด้วย ”
มารนั้นจึงนิรมิตเพศเป็นพระยาช้างใหญ่ เอางวงมารัดกระหม่อมพระเถระ แล้วร้องดุจนกกระเรียนด้วยเสียงดัง
พระศาสดาผทมในพระคันธกุฎี ทรงทราบว่าช้างนั้นเป็นมาร จึงตรัสว่า “มาร คนเช่นท่านนั้นแม้จะมาตั้งแสน ก็ไม่สามารถเพื่อจะให้ความ กลัวเกิดแก่บุตรของเราได้ เพราะว่าบุตรของเรามีปกติไม่สะดุ้ง มีตัณหา ได้ปราศจากแล้ว มีปัญญาความเพียรตั้งมั่นอันใหญ่ มีปัญญารุ่งเรืองเจริญมากแล้ว”
ฝ่ายมารผู้มีบาปเมื่อได้สดับพระสุรเสียงขององค์พระบรมศาสดา จึงทำให้รู้สึกครั่นคร้าม สะดุ้งกลัวพลันคิดว่า “พระสมณโคดม ย่อมรู้จักแจ่มแจ้งในตัวเราเป็นอย่างดี หากเรายังดื้อดึง รุกไล่ ทำร้ายพระลูกเจ้าราหุลอยู่เช่นนี้ เห็นทีเราต้องพ่ายแพ้อับอายอีกคราเป็นแน่” แล้วพญามารนั้นจึง อันตรธานหายไปในที่นั้นนั่นเอง
แรงอธิษฐานในอดีตของท่านพระราหุล บังเกิดขึ้นในกัปแห่งพระปทุมุตตรพระพุทธเจ้า คือหนึ่งแสนกัปนับถอยหลังไปจากกัปปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในช่วงเวลาที่พระปทุมุตรพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พระราหุลเถระ และพระรัฐปาลเถระ เป็นสหายกัน ต่างก็บังเกิดในครอบครัวคฤหบดีในกรุงหงสวดี ไม่มีการกล่าวถึงชื่อและตระกูลของท่านทั้งสองในสมัยนั้น
พอท่านเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาส เมื่อบิดาของแต่ละคนสิ้นชีวิตลง ก็ตรวจดูทรัพย์สินที่ตนได้รับมรดกมา เห็นว่ามีทรัพย์มากมายจนหาประมาณมิได้ จึงคิดว่า บรรพชนของตนทั้งหลายมีปู่ และปู่ทวดเป็นต้น ก็ไม่สามารถนำเอาทรัพย์นี้ไปกับตนได้ ดังนั้นเราจึงควรหาทางนำเอาทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้ไปกับเราให้ได้ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดดังนั้นแล้วคนทั้ง ๒ นั้นจึงเริ่มให้บริวารตั้งโรงมหาทานแจกแก่คนกำพร้าและคนเดินทาง ในทิศทั้ง ๔
สหายทั้งสอง คนหนึ่งเป็นผู้ชอบสอบถามคนที่มาแล้วมาอีกในโรงทานของตนว่า พวกเขาชอบใจสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นข้าวยาคูและของขบเคี้ยว แล้วก็ให้สิ่งนั้นแก่คนผู้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงมีชื่อว่า “ผู้มีวาจาเอื้อเฟื้อกะผู้ที่มารับทาน”
อีกคนหนึ่ง ไม่ถามเลย เมื่อมีผู้ถือภาชนะมาเพื่อขอรับของแจก เขาก็ใส่ของที่ผู้มาขอต้องการให้จนเต็มภาชนะ ด้วยเหตุนั้นแหละ เขาจึงมีชื่อว่า “ไม่พูด ไม่ถาม มีแต่จะให้”
วันหนึ่งชนทั้ง ๒ นั้นออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ ได้พบดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป ที่เหาะมาแต่ป่าหิมพานต์ เพื่อภิกขาจาร มาลงในที่ที่ไม่ไกลจากที่สหายทั้งสองยืนอยู่ เมื่อดาบสทั้ง ๒ นั้น จัดแจงบริขารมีภาชนะน้ำเต้า เป็นต้นแล้วก็เดินไปตามทางเพื่อภิกขาจาร สหายทั้งสองจึงมาไหว้ใกล้ ๆ
ครั้งนั้นดาบส กล่าวกะสหายใจบุญทั้ง ๒ นั้นว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาแต่ไหนเพื่อการใด
สหายทั้ง ๒ นั้นตอบว่า มาแต่บ้าน เพื่อนิมนต์พระคุณเจ้าทั้ง ๒ ไปรับภิกขาจารในเรือนของพวกข้าพเจ้าขอรับ แล้วรับภาชนะใส่น้ำและอาหารที่ทำจากน้ำเต้า ของดาบสทั้ง ๒ นั้นไปถือไว้แล้วนำไปยังเรือนของตน พร้อมทั้งถวายภัตตาหาร ครั้นในเวลาเสร็จภัตรกิจ สหายทั้งสองจึงขอให้ท่านฤๅษีทั้งสองรับปากว่า จะมารับภิกษาจากตนเป็นประจำ เพื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฎฐากของตน ก็ให้พรว่า ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ด้วยมีเหตุว่า
ดาบสรูปหนึ่งใน ๒ รูป ท่านเป็นคนมีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือน มักจะร้อน เมื่อรู้สึกร้อนก็จะลงไปแช่ตัวอยู่ในมหาสมุทรพร้อมทั้งใช้มือทั้งสองแหวกน้ำให้ออกเป็น ๒ ฝั่งด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ของตน แล้วเหาะไปยังภพของปฐวินทรนาคราชเพื่อนั่งพักในตอนกลางวัน
ครั้งได้แลเห็นสมบัติต่าง ๆ ในภพนาคราชอยู่ทุกวัน เมื่อพักพอสบายกายแล้ว จึงกลับมายังโลกมนุษย์ สหายผู้ใจบุญนั้นเมื่อประสงค์จะรู้ความหมายของท่านดาบสที่ให้พรตนอย่างนั้น แต่ก็ยังมิมีโอกาสถาม
จนอยู่มาวันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสถามดาบสนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าอยู่ทุกวันว่า จงสำเร็จเหมือนภพปฐวินทรนาคราช คำนี้ท่านหมายความว่าอะไรขอรับ
ดาบสกล่าวว่า ที่เรากล่าวนั้นหมายความว่า ขอให้สมบัติของท่านจงมีเหมือนสมบัติของพญานาคชื่อว่า ปฐวินทร ยังไงหละโยม
ตั้งแต่นั้นมา กฎุมพีผู้นั้นก็ตั้งจิตมั่น ปรารถนาอยู่แต่ในภพของพญานาคชื่อว่า ปฐวินทร เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งตลอดมา
ที่กฎุมพีผู้นั้นตั้งความปรารถนาเช่นนี้ก็เพราะ ท่านเกิดในยุครอยต่อของพระศาสดา ซึ่งคำสอนเก่าก็จืดจาง เบาบางลง คำสอนใหม่ก็ยังมิได้เกิดขึ้น
ทั้งดาสบและสหายทั้งสองจึงยังไม่รู้รายละเอียดของสัจจะธรรมใดๆ มากนัก นอกจากศรัทธา ทาน และศีลเท่านั้น ส่วนคำภาวนาก็กลายเป็นการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อบำเพ็ญตบะให้บังเกิดเดช อำนาจ เดชา ดังท่านพระดาบสทั้งสองที่มี
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–