พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ 7

0
44

พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๗
๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระบรมศาสดาทรงตั้งอนุบัญญัติห้ามและอนุญาตให้ภิกษุสามารถนอนร่วมกับอนุสัมปันได้ แต่ไม่เกิน ๓ ราตรี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหมู่สงฆ์ในเวลาต่อๆ มา
ในสมัยนั้น ตระกูลอุปฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนักท่านพระสารีบุตร ด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้ เมื่อเป็นดังนั้น ท่านพระสารีบุตร ได้มีความดำริว่า

พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถแม้รูปเดียวก็สามารถรับสามเณรสองรูปไว้อุปัฏฐากได้ หรือเธออาจจะให้โอวาท อนุศาสน์สามเณร มีจำนวนเท่าใดก็ให้รับไว้อุปัฏฐากตามจำนวนเท่านั้น

ท่านพระราหุลถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ ท่านพระราหุล

เธออย่าได้กระทำความอยากในจีวรดังนี้ ท่านพระราหุลจึงได้สมาทานธุดงค์ ๒ ข้อที่เกี่ยวกับ จีวร คือ

ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๑ นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่เก็บมาจากกองขยะหรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วเท่านั้น

เตจจีวริกังคธุดงค์ ๑ ใช้ผ้าแค่ ๓ ผืนเท่านั้น คือ ผ้านุ่งเรียกว่า สบง ผ้าห่มเรียกว่า จีวร ผ้าห่มซ้อนนอกเรียกว่า สังฆาฏิ (ข้อนี้อาจจะเป็นผ้าที่ชาวบ้านเขานำมาถวายก็ได้ เรียกว่า คหบดีจีวร คือ ผ้าจีวรที่คฤหัสถ์นำมาถวายแต่ต้องไม่เกิน ๓ ผืน ที่จำเป็นต้องใส่)

กาลต่อมา องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสแก่พระราหุลว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในบิณฑบาต ท่านพระราหุลจึงได้สมาทานธุดงค์อีก ๕ ข้อที่เกี่ยวกับบิณฑบาต คือ

ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ๑ ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร (ถ้าผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดก็จะไม่รับกิจนิมนต์ใด ๆ นอกจากนิมนต์ไปรับบาตรเท่านั้น และเป็นการรับบาตรครั้งเดียวของวันนั้นเท่านั้น

สปทานจาริกังคธุดงค์ ๑ ถือการบิณฑบาตไปเป็นแถว ไปตามลำดับอายุพรรษา หรือตามลำดับมาก่อนมาหลัง จะไม่มีการแก่งแย่งแซงกัน

เอกาสนิกังคธุดงค์ ๑ ถือการฉันมื้อเดียว และต้องไม่เลยเวลาที่พระวินัยกำหนดไว้

ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ๑ ถือการฉันในบาตรเท่านั้น ไม่มีภาชนะใส่อาหารคาวหวานอื่นใด นอกจากทุกอย่างรวมกันอยู่ในบาตร

ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ๑ ถือการปฏิเสธอาหารที่ไม่ได้มาจากการบิณฑบาต แม้อาหารนั้นจะปราณีอย่างดีมีราคาแพงก็ตาม ก็ห้ามรับ

กาลต่อมาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนแก่พระราหุลว่า เธออย่าได้ทำความอยากในเสนาสนะดังนี้ ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์เพิ่มอีก ๖ ข้อ ที่เกี่ยวข้องด้วยเสนาสนะ คือ

อารัญญิกังคธุดงค์ ๑ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร โดยมีระเบียบอยู่ว่า ต้องอยู่ห่างจากบ้านคน ๕๐๐ ชั่วธนู

อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ๑ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร

รุกขมูลิกังคธุดงค์ ๑ ถือการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นวัตร โดยมีระเบียบปฏิบัติว่า ที่โล่งเจ้งนั้นจะต้องไม่มีร่มเงาพาดผ่าน

ยถาสันถติกังคธุดงค์ ๑ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ท่านให้พิจารณาอยู่ในที่เหนือลม อย่าอยู่ใต้ลมเพราะอาจทำให้ให้เกิดโรค

โสสานิกังคธุดงค์ ๑ ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดเอาไว้ให้

เนสัชชิกังคธุดงค์ ๑ ถือการยืน เดิน นั่ง เป็นวัตร แต่ห้ามนอน

กาลต่อมาองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสสอนแก่พระราหุลว่า เธออย่าได้กระทำความอยากในคิลานปัจจัย ท่านพระราหุลจึงเป็นผู้ถือสันโดษแล้วด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัยทั้งปวงคือ

ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนควรได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น

ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้

ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม

ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา

ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตน แต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน

ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ทานผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน

พระราหุลเถระท่านเป็นผู้ถือธุดงควัตรในข้อ ถือการนั่งเป็นวัตร โดยไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลา ๑๒ ปี

ความเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาของพระราหุลนับว่า เลิศกว่าหมู่ภิกษุทั้งหลาย แม้จักเรียนรู้มากเท่าไหร่ ท่านก็ยังอ่อนน้อมเชื่อฟังและเคารพในคำสั่งคำสอนของพระเถระทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ดุจดังรวงข้าว ยิ่งสุก ก็ยิ่งนอบน้อมโค้งคำนับแผ่นดิน

วัตรปฏิบัติของท่านที่บำเพ็ญอยู่ทุกวัน หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรราหุล ท่านได้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอามือกอบทรายขึ้นแล้วตั้งสัจจะอธิษฐานว่า วันนี้เราพึงได้สดับโอวาท ได้รับการตักเตือน อบรมสั่งสอนให้มากเท่าจำนวนเม็ดทรายนี้จากพระทศพล และอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลาย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการสนทนากันในท่ามกลางสงฆ์อย่างเซ็งแซ่ว่า “ราหุลสามเณร ทนต่อพระโอวาทหนอ เป็นโอรสที่คู่ควรแก่พระชนกจริงหนอ”

พระศาสดาทรงทราบวาระจิตแห่งภิกษุทั้งหลาย ทรงพระดำริว่า เมื่อเราไปสู่ที่ประชุมของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ธรรมเทศนาอย่างหนึ่งจักบังเกิด และคุณของราหุลจักปรากฏ จึงเสด็จไปประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรหรือหนอ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เจ้า พวกข้าพระองค์สนทนากันถึงความที่ราหุลสามเณรเป็น ผู้ขยันหมั่นเพียร อดทนต่อการสดับฟังโอวาทพระเจ้าข้า

พระศาสดาเพื่อทรงจักแสดงถึงคุณของราหุลสามเณร จึงทรงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน แม้ บังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนกัน แล้วทรงนำนำอดีตนิทานเรื่องมิคชาดก มาแสดงต่อเหล่าภิกษุนี้

โปรดติดตามตอนต่อไปนะจ๊ะ

แม้….กำลังสนุกเลย หมดเวลาเสียแล้ว จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0JsKVNT66vuspFZYzpvBfJamnRytvXwjad8Vaw7weKTHVbQQ2jU3pZN4t1uDiq8ebl