พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๖
๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระราหุลเถระได้บรรลุอรหันต์จากการฟังธรรมของพระบรมศาสดาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
หลังจากที่พระราหุลเถระได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณแล้ว
อธิบายคำว่า ปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาอันแตกฉาน ๔ ได้แก่
1. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาเห็นแจ้งในความหมายในหัวข้อธรรมทั้งที่กว้างขวางและย่นย่อ ทั้งยังสามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปโดยพิสดาร เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึงเหตุและผลอย่างกระจ่างชัด
2. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ่มแจ้งใจหลักของข้อธรรมต่างๆ อย่างลุ่มลึกพิสดาร สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืนกับวิถีโลกและวิถีธรรมโดยไม่ขัดแย้งกัน ทั้งยังแสดงหลักธรรมอันลุ่มลึกนั้นให้เข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ผลจริง สำหรับผู้สนใจปฏิบัติ
3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาต่างๆ ที่ใช้สื่อความ ทั้งของคนและสัตว์, ปรีชาแจ้งชัดในรากศัพท์หรือถ้อยคำที่บัญญัติขึ้น รวมทั้งเข้าใจใช้คำพูดและถ้อยคำที่รวบรัด ชัดเจนให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้
4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความเห็นปัญหา แก้ปัญหา, ปรีชาแจ้งชัดในการชี้แจง ตอบโต้ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ โดยฉับพลันด้วยไหวพริบ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าโดยแม่นยำ และมองเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเข้าใจแจ่มชัด ทะลุปรุโปร่ง
กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปอาศัยเมือง อาฬวีประทับอยู่ในอัคคาฬวเจดีย์ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ และภิกษุณี จำนวน มาก ไปวิหารเพื่อฟังธรรม ตอนกลางวันมีการฟังธรรม ก็แลเมื่อกาลเวลาล่วงไป อุบาสิกาและภิกษุณีทั้งหลายไม่ไป มีแต่พวกภิกษุและอุบาสกทั้งหลาย ตั้งแต่นั้น จึงเกิดมีการฟังธรรมตอนกลางคืน
ในเวลาเสร็จสิ้นการฟังธรรม ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระพากันไปยังที่อยู่ของตน ๆ ภิกษุหนุ่มกับพวกอุบาสก นอนที่อุปัฏฐานศาลาคือ โรงฉัน เมื่อพวกภิกษุหนุ่มและพวกอุบาสกเหล่านั้นหลับ บางคนนอนกรนเสียงครืด ๆ นอนกัดฟัน บางคนนอนครู่เดียวแล้วลุกขึ้น พวกอุบาสกเห็นประการอันแปลกของภิกษุหนุ่ม จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ก็ภิกษุใดนอนร่วมกับ อนุปสัมบัน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนี้แล้วได้เสด็จไปยังนครโกสัมพี
เมื่อทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นแล้ว ต่อมาภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านราหุลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ ท่านจงหาที่อยู่ของท่านเอาเองเถิด
เมื่อก่อน ภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์ท่านราหุลนั้นผู้มายังไม่มีที่อยู่ของตนๆ เป็นอย่างดีเพราะอาศัยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมักลาดเตียงเล็กและให้จีวรเพื่อหนุนศีรษะ แต่มาวันนี้ แม้ที่อยู่ก็ให้ไม่ได้แล้วเพราะกลัวต่อสิกขาบทที่ทรงบัญญัติขึ้น
ฝ่ายพระราหุลก็ไม่ไปยังสำนัก ของพระทศพล ด้วยคิดว่า เป็นพระบิดาของเรา หรือของพระธรรมเสนาบดี ด้วยคิดว่า เป็นอุปัชฌายะของเรา หรือของพระมหาโมคคัลลานะด้วยคิดว่า เป็น อาจารย์ของเรา หรือของท่านพระอานนท์ด้วยคิดว่าเป็นอาของเรา แต่ได้เข้าไปนอนอยู่ในยังเวจกุฏีของพระทศพลตลอดคืนยังรุ่ง
ครั้นเวลาก่อนอรุณทีเดียว พระศาสดาประทับยืนที่ประตูเวจกุฏีแล้ว ทรงไอ ขึ้น ส่วนท่านพระราหุลนั้นขณะกำลังนอนอยู่ก็กระแอมรับ พระศาสดาตรัสถามว่า ใครนั่น ?
ท่านพระราหุลกราบทูลว่า ข้าพระองค์ราหุล แล้วออกมาถวายบังคม
พระศาสดาตรัสถามว่า ราหุล เพราะเหตุไรเธอจึงนอนที่นี่ ?
พระราหุลกราบ ทูลว่า เหตุเพราะไม่มีที่อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยว่าเมื่อก่อน ภิกษุทั้งหลาย กระทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์ บัดนี้ไม่ให้ที่อยู่เพราะกลัวตนต้องอาบัติ ข้าพระองค์นั้นคิดว่า ที่นี้เป็นที่ไม่เบียดเสียดผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ จึงนอนในที่นี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดธรรมสังเวชขึ้นว่า ภิกษุทั้งหลาย ทำไมถึงได้กระทำแก่ราหุลได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้ากุลบุตรในตระกูลทั้งหลายอื่นที่บวชเข้ามาแล้ว คงจักไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากหมู่ภิกษุที่บวชมาก่อนเป็นแน่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันแต่เช้าตรู่ แล้วตรัสกับพระธรรมเสนาบดีว่า สารีบุตร เมื่อคืนนี้ราหุลต้องไปอยู่ที่เวจกุฏี ดูก่อนสารีบุตร ท่านทั้งหลายเมื่อละราหุลได้รับการปฏิบัติจากหมู่สงฆ์อย่างนี้ ต่อไปภายหน้าเด็กในตระกูลอื่นๆ ทั้งหลายเหล่าอื่นบวชแล้ว จักกระทำอย่างไร แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น กุลบุตรผู้ บวชในพระศาสนานี้จักเป็นผู้ไม่มีที่พึง เช่นนั้นตั้งแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายจงให้ อนุสัมปันทั้งหลายอยู่ในสำนักของตนได้วันหนึ่ง สองวัน ในวันที่สาม เมื่อรู้ที่จะให้เป็นที่อยู่ของอนุสัมปันเหล่านั้นแล้วจงให้อยู่ภายนอก แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ดังนี้:
ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า ๒-๓ คืน เป็นปาจิตตีย์
ด้วยเพราะพระราหุลเถระ ท่านมีความเคารพในพระพุทธ ในพระธรรม และในพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง โดยมิได้คิดว่า ท่านเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของพระบรมศาสดา จักต้องมีอภิสิทธิ์พิเศษกว่าภิกษุอื่นๆ เมื่อพระสงฆ์ไม่ให้ท่านนอนรวม ท่านก็ยอมมานอนอยู่ในส้วมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าที่มีร่มเงาของต้นไม้อยู่ดาษดื่น จนเป็นเหตุให้องค์พระบรมศาสดาทรงผ่อนคลายสิกขาบทที่ห้ามมิให้นอนกับอนุสัมปัน คือ บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุ
นี่เรียกว่า มูลบัญญัติ ครั้งเมื่อทรงเห็นปัญหาจึงทรงตั้งอนุบัญญัติขึ้นว่า ภิกษุสามารถนอนรวมกับอนุสัมปันได้ แต่ไม่เกิน ๓ ราตรี นับว่าเป็นคุณูปการต่อหมู่สงฆ์ในเวลาต่อๆ มาเป็นอย่างยิ่ง
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–