พระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๔
๒๖ เมษายน ๒๕๖๗
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระบรมศาสดาได้ตรัสเล่าจันทกินรีชาดกแก่พระนางภัททากัจจานา หลังจากทรงตรัสจบพระนางภัททากัจจานาก็ได้ทรงบรรลุโสดาปัตติผล
หลังจากที่พระภัททากัจจานาได้บรรลุพระโสดาบันแล้ว ๗ วันต่อมา พระนางได้ส่งพระราหุลราชบุตร ไปเข้าเฝ้าองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยพระภัททากัจจานาได้ทรงตรัสแนะนำว่า
ลูกรัก พระสมณะองค์นั้นเป็นพระบิดาของลูก ลูกจงเข้าไปถวายบังคม แล้วทูลขอพระราชมรดกต่อเสด็จพ่อของลูกเถิด
พระราชกุมารราหุลจึงได้เสด็จตรงเข้าไปเฝ้าถวายบังคมเบื้องยุคลลบาท
เมื่อได้ทรงเพ่งพินิจพระสิริโฉมขององค์พระบรมศาสดาโดยละเอียดแล้ว ทำให้บังเกิดความสนิทสิเน่หา เคารพรักในพระราชบิดายิ่งนัก จนลืมทูลขอพระราชสมบัติใดๆ เลย
จวบจนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภัตกิจแล้วทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ราหุลกุมารจึงได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง พลางทูลขอว่า
ข้าแต่พระมหาสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกของพระองค์ให้แก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกของพระองค์ให้แก่หม่อมฉัน
พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงให้พระกุมารกลับ เหล่าข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จพระกุมารจึงต้องตามเสด็จพระกุมารราหุลไปยังพระอารามพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินจนถึงที่ประทับแล้ว ทรงพระดำริว่า
กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดาซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ ที่มีความคับแค้น นำเข้าไปสู่หนทางอันเสื่อมเช่นนั้น เราจะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการแก่กุมารนี้ เราจะกระทำให้กุมารนี้เป็นเจ้าของโลกุตระสมบัติ แล้วตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร เธอจงให้ราหุลกุมารบวชเสียเถิด
พระสารีบุตรจึงนำพระราหุลกุมารให้ผนวชแล้ว โดยมีพระมหาโมคคัลลานเถระปลงพระเกศาของพระกุมารแล้วถวายผ้ากาสายะ พระสารีบุตรได้ให้ไตรสรณคมน์ พระมหากัสสปเถระได้ให้โอวาทเรื่องสมณะจริยา
สำหรับพระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทราบข่าวภายหลังว่า พระราหุลได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก เพราะเดิมจะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้สืบราชสมบัติ พระองค์ก็เสด็จออกบวช ต่อมาจะยกให้เจ้าชายนันทะๆ ก็ออกบวช ครั้นจะยกให้พระราหุล ต่างก็ออกบวชตามพระพุทธเจ้าไปหมด หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เกรงว่าบรรดาราชกุมารในศากยวงศ์อาจจะออกบวชกันหมด จนสิ้นผู้สืบราชสันติวงศ์
ดังนั้น พระองค์จึงคิดว่า ความทุกข์โทมนัสว่าจะสิ้นสกุลเช่นนี้ อาจจะเกิดกับบิดามารดาสกุลอื่นได้เช่นกัน จึงเสด็จไปตัดพ้อต่อว่า พร้อมทูลขอว่า นับแต่นี้ต่อไป ถ้ากุลบุตรใดประสงค์จะออกบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องให้บิดามารดาของผู้นั้นอนุญาตเสียก่อน มิฉะนั้นจะบวชมิได้
พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตตามที่พระองค์ขอ
พระพุทธองค์ในฐานะพุทธบิดาของพระราหุล ได้กล่าวโอวาทสอนสั่งพระราหุลอยู่เนืองๆ วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปยังที่อยู่ของสามเณรราหุล โดยก่อนจะขึ้นไปประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดถวาย สามเณรราหุลได้ทรงล้างพระบาทพระพุทธองค์ด้วยน้ำ ซึ่งใส่ไว้ในภาชนะที่ตั้งเตรียมไว้
ครั้นประทับนั่งแล้วจึงตรัสให้สามเณรราหุลมองดูภาชนะใส่น้ำที่เทล้างพระบาทแล้ว ทรงถามว่ามีน้ำเหลืออยู่ในภาชนะนั้นเท่าไหร่
เณรราหุลตอบว่า “เหลือติดอยู่เพียงเล็กน้อย”
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “การพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ย่อมทำให้ไม่มีความเป็นสมณะ ที่แปลว่าผู้สงบ”
ครั้นแล้วทรงสั่งเทน้ำออกจากภาชนะนั้นให้หมดสิ้น แล้วตรัสถามว่า “ในภาชนะนั้นมีน้ำเหลืออยู่อีกหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
พระพุทธเจ้าจึงตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ ในบุคคลผู้ไร้ความละอายในการกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนอย่างภาชนะที่ปราศจากน้ำเหลืออยู่นี้”
จากนั้นทรงสั่งให้คว่ำภาชนะนั้น แล้วก็สั่งให้หงายภาชนะขึ้น แล้วตรัสว่า “มีน้ำอยู่ในภาชนะทั้งที่คว่ำลงและหงายขึ้น เหลือติดอยู่ในภาชนะนั้นหรือไม่?” เณรราหุลกราบทูลว่าไม่มี
พระพุทธองค์ก็ตรัสอบรมว่า “ย่อมไม่มีความเป็นสมณะ แก่ผู้ที่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ เหมือนกับภาชนะนั้น ไม่ว่าจะคว่ำหรือหงายขึ้นก็ตาม ย่อมเป็นภาชนะว่างเปล่า ฉะนั้น”
ครั้นแล้วจึงตรัสอุปมาต่อไปอีกว่า
“ช้างศึกของพระราชาที่ฝึกหัดให้เป็นผู้ที่เสียสละร่างกาย ในเวลาเป็นราชพาหนะเข้าสู่สงครามเพื่อพระราชา ช้างที่ฝึกหัดแล้วนั้น ย่อมเสียสละกายได้ สละเท้าหน้าทั้งสองได้ สละเท้าหลังทั้งสองได้ สละศีรษะ หูทั้งสอง งาทั้งสองได้ สละหางได้ แต่ยังรักษางวงไว้ ยังไม่ยอมสละงวง ก็ยังไม่ชื่อว่าได้สละชีวิตเพื่อพระราชา ต่อเมื่อช้างศึกเชือกนั้นสละได้ทุกอย่าง คือยอมสละได้แม้แต่งวงอันเป็นที่ห่วงแหน จึงจะชื่อว่าสละชีวิตเพื่อพระราชาได้อย่างแท้จริง”
ดูกรราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน.
เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุลเธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร?
เณรราหุลกราบทูลว่า มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า.
ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กรรมนั้นๆ จึงจักไม่ผิด ไม่พลาด ไม่บกพร่อง ถูกต้อง สมบูรณ์
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
——————————————–