ประวัติของพระภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธรา,พระนางพิมพา) ตอนที่ ๑
๒๑ เมษายน ๒๕๖๗
พระภัททากัจจานาเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ ในพระนครเทวทหะ กับพระนางอมิตาแห่งสักกะ มีพระเชษฐาพระองค์หนึ่งนามว่าพระเทวทัต พระชนกเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยะวงศ์ ส่วนพระชนนีเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งสักกะ พระชนกและพระชนนีเป็นเครือญาติกัน สืบสันดานมาแต่พระเจ้าโอกกากราช โดยตระกูลสักกะและโกลิยะจะสมรสกันระหว่างสองตระกูลเท่านั้น
กล่าวกันว่ายโสธรามีพระสิริโฉมงดงาม มีพระสรีระและผิวพรรณงามดุจทองคำเนื้อดีที่สุดจึงมีพระนามว่าภัททากัจจานา หรือที่นิยมเรียกพระนามว่า “ยโสธราพิมพา” แม้เจ้าหญิงรูปนันทาซึ่งเป็นพระญาติจะทรงงดงามจนได้สมญาว่าชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียมเท่าพระนางยโสธรา
กาลต่อมาพระนางยโสธราได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งราชวงศ์สากยะ ขณะพระชันษา 16 ปี และได้ทรงมีพระประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกและพระองค์เดียวคือ ราหุลกุมาร ขณะมีพระชันษา 29 ปี ซึ่งช่วงเวลานั้นเจ้าชายสิทธัตถะกำลังตัดสินพระทัยที่จะทรงออกบวช หลังพบเทวทูต 4
ขณะนั้นพระเจ้าสุทโธทนะนำข่าวพระกุมารประสูติใหม่มาแจ้งให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงทราบ ครั้งเมื่องทรงได้ยินว่า พระองค์มีพระราชบุตรแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงอุทานออกมาว่า “ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ” แปลว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้ว” ทั้ง ๆ ที่พระองค์กำลังทรงตัดสินพระทัยที่จะทรงออกบวช พระสลัดออกจากห่วงอาลัยอื่นแล้ว แต่กลับมีห่วงใหม่ขึ้นมาผูกมัดมิให้พระองค์ออกผนวช
ก่อนจะเสด็จออกไปผนวช หลังจากจากที่พระกุมารราหุล ได้ประสูติได้ ๗ วัน เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงเสด็จไปห้องพระบรรทมของพระยโสธราก่อน เมื่อเห็นว่าพระชายาหลับสนิทและทอดพระกรไว้เหนือเศียรพระราหุล ทรงเกิดสิเน่หาอาลัย ครั้นจะอุ้มพระโอรสก็เกรงพระชายาจะตื่น จึงข่มพระทัยเสด็จออกจากพระราชวังไปบวช
ครั้นรุ่งสาง พระนางยโสธราทรงทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะพระสวามีได้เสด็จหนีออกไปจากพระราชวังเสียแล้ว จึงทรงเศร้าโศกพระทัยยิ่งนัก ที่พระสวามีหายไป ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางยโสธราก็เพียรพยายามออกติดตามข่าวเจ้าชายสิทธัตถะอยู่เสมอด้วยความรักและห่วงใย
เมื่อพระนางยโสธราทรงทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้ออกไปแสวงหาวิโมกข์ พระองค์จึงทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างเรียบง่ายตามอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ
พระนางยโสธราเมื่อได้ทราบข่าวพระสวามีว่าทรงนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด ก็ทรงนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดบ้าง
ทราบว่าพระสวามีเสวยภัตตาหารหนเดียว พระนางก็เสวยพระกระยาหารเพียงหนเดียว
ทราบว่าพระสวามีทรงละที่นอนใหญ่ ก็ทรงเอาผ้าปูนอนบนพระแท่นบรรทมขนาดน้อย
ทราบว่าพระสวามีเว้นจากเครื่องหอมและดอกไม้ พระนางก็เว้นจากเครื่องหอมและดอกไม้
จนกระทั่งเจ้าชายสิทธัตถะบรรลุโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนางก็พยายามบำเพ็ญเพียรทุกเช้าค่ำ
กาลต่อมา ครั้นตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดง พระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ “ยสะ” ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒-๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์
ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารทั้ง ๑,๐๐๐ รูปให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จในพระ อรหันต์ทั้งหมด
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป นั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ได้ทรงให้ปฏิญญาไว้เมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
——————————————–