ประวัติพระสกุลาเถรี

0
55

ประวัติพระสกุลาเถรี
๑๘ เมษายน ๒๕๖๗

พระสกุลาเถรี เกิดในตระกูลพราหมณ์ ผู้มีฐานะอยู่ในขั้นมหาเศรษฐี บิดามารดาตั้งชื่อว่า “สกุลา” เป็นผู้มีจิตศรัทธาน้อมไปในการบรรพชาอันเป็นผลมาจากบุญกุศลเก่าในอดีตชาติที่ได้เคยสั่งสมอบรมมา

ขณะที่ พระบรมศาสดา เสด็จเที่ยวจาริกเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ไปตามคามนิคมน้อยใหญ่ต่าง ๆ เพื่อยังหมู่สัตว์ทั้งหลายให้บรรลุมรรคผล ตามอุปนิสัยอำนาจวาสนาบารมีของแต่ละคน เสด็จมายังพระนครสาวัตถี ประทับ ณ พระมหาวิหารเชตะวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย นางได้เห็นพระบรมศาสดาผู้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ในครั้งนั้น เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ลืมเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ซึ่งมีราคา ๙ โกฏิไว้ในพระอาราม

กาลต่อมาพระอานนท์ได้เก็บรักษาไว้ เพื่อคืนให้นางแต่ภายหลังเมื่อนางวิสาขาทราบว่าพระเถระเก็บรักษาไว้จึงไม่รับคืนแต่ได้ให้ทาสีนำเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นั้นออกไปขาย เพื่อนำทรัพย์ที่ได้มาไปจัดซื้อที่ดิน สร้างพระวิหารถวายแด่องค์พระบรมศาสดา

ครั้งเมื่อเงินที่ได้จากการขายเครื่องประดับนั้นไม่พอ นางยังออกเงินส่วนตัวอีก ๙ โกฏิเพื่อสร้างพระอาราม

ครั้นเมื่อสร้างพระอารามเสร็จ จึงได้ใช้ทรัพย์อีก ๙ โกฏิเพื่อฉลองพระอาราม

ในวันงานถวายพระอารามแก่พระผู้มีพระภาคนั้นเอง นางสกุลาก็มีโอกาสได้ฟังธรรม และบังเกิดความเลื่อมใสจึงได้ประกาศตนเป็นอุบาสิกาในคราวนั้น

ต่อมาก็ได้มีโอกาสฟังธรรมในสำนักของพระภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพรูปหนึ่ง บังเกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วจึงได้สละบ้านเรือน บุตรและธิดา ออกบวช แต่เนื่องจากอายุยังไม่ครบบวช จึงเป็นได้เพียงนางสิกขมานา

(สิกขมานา หมายถึง สามเณรี (คือผู้หญิงที่บวชเป็นสามเณร) ผู้มีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปและสมาทานสิกขาบทเพื่อจะได้บวชเป็นภิกษุณีต่อไป. สิกขมานาถือศีล ๑๐ เหมือนสามเณร สิกขาบทที่สิกขมานาสมาทานอย่างเคร่งครัดมี ๖ ข้อ คือ ศีล ๖ ข้อแรกของศีล ๑๐ ตั้งแต่ข้อ ปาณาติปาตา จนถึง วิกาลโภชนา

สิกขมานาจะต้องรักษาศีล ๖ ข้อนี้อย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลยตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม ถ้าล่วงละเมิดสิกขาบทข้อใดข้อหนึ่งต้องตั้งต้นสมาทานศีล ๖ ข้อนั้นใหม่ และรักษาให้เคร่งครัดตลอด ๒ ปีเต็ม เมื่อครบแล้วภิกษุณีสงฆ์จะทำพิธีอุปสมบทให้เป็นภิกษุณี)

ต่อมา ขณะที่นางบวชเป็นสิกขมานาอยู่นั้น ก็ได้มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร ทำมรรคเบื้องบนให้เกิดขึ้นโดยการปฏิบัติตั้งมั่นอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา จนได้ตัดขาดซึ่งอาสวะทั้งหลาย ซึ่งสามารถทำลายได้ด้วยอนาคามิมรรค และนางได้บรรลุอนาคามิผล ขณะเมื่อนางมีอายุครบบวชเป็นภิกษุณีพอดี

ครั้งเมื่อนางบวชแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อด้วยความเพียรพยายามปฏิบัติอยู่ไม่นาน นางก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมทั้งวิชชา ๓ และอภิญญา ๖ มีความชำนาญในฤทธิ์และทิพโสตธาตุ รู้วาระจิตของผู้อื่น และบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

พระสกุลาเถรี เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ทั้งหลาย มีทิพพจักขุญาณ ทิพพโสตญาณ และบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นต้น

ซึ่งก็เป็นไปตามอธิษฐานธรรมที่นางได้เคยตั้งความปรารถนาอธิษฐานเอาไว้ เมื่อคราวพระศาสนาพระพุทธเจ้านามว่า กัสสปะ นางได้บวชเป็นปริพาชิกา คือ นักบวชนอกพระพุทธศาสนา นางได้มีศรัทธาจุดประทีบโคมไฟถวายบูชาพระเจดีย์ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอานิสงส์ ที่นางได้กระทำทุกเช้าค่ำอย่างต่อเนื่องมิได้ขาด พร้อมกับได้ตั้งความปรารถนาที่จักได้ตาทิพย์

กาลต่อมา นางเกิดในเมืองหงสวดีมีนามว่าขัตติยนันทนา มีรูปสวยงดงามอย่างยิ่งเป็นที่พึงใจ เป็นพระธิดาของพระราชาผู้ใหญ่ พระนามว่าอานันทะ เป็นพระภคินีต่างพระมารดาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ห้อมล้อมด้วยราชกัญญาทั้งหลาย ประดับด้วยสรรพาภรณ์ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วได้ฟังธรรมเทศนา

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่งใน ตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุณีผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัทสี่ พระนางได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้ว มีความร่าเริง ถวายทานและบูชาพระสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง

พระบรมศาสดาได้ตรัสกะพระนางว่า ดูกรขัตติยนันทนา เธอจักได้เป็นภิกษุณี ผู้เลิศกว่าภิกษุณีสงฆ์ทั้งหลายในการเป็นผู้มีทิพยจักษุ ในกัปที่หนึ่งแสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้า โอกกากราชจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักเป็นพระสาวิกา ของพระศาสดามีนามว่าสกุลา

ด้วยอานิสงส์ที่เธอได้บำเพ็ญถวายการจุดประทีปแก่เราตถาคต และคณะสงฆ์ตลอดทั้งเช้าค่ำ ครั้งเมื่อสิ้นพระศาสนาของพระปทุมุตระพุทธเจ้า

เธอกระทำกุศลกรรมอย่างยิ่งเช่นนี้ตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป

ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นทั้งในอดีตและปัจจุบันทั้งยังด้วยการตั้งเจตจำนงไว้ เมื่อนางละร่างกายมนุษย์นั้นแล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอำนาจบุญกรรมนั้น เมื่อนางไปเกิดในที่ใดๆ ดวงประทีปอันรุ่งเรืองเป็นอันมาก ก็สว่างไสวแก่นางในที่นั้นๆ เมื่อนางปรารถนาจะได้เห็นสิ่งที่อยู่นอกฝา หรือสิ่งที่อยู่ในภูเขาศิลา ก็เห็นได้ทะลุปรุโปร่ง ด้วยอำนาจของบุญฤทธิ์ที่นางเฝ้าถวายประทีปมาอย่างต่อเนื่องแก่พระพุทธเจ้าถึง ๒ พระองค์ นัยน์ตาของนางจึงแจ่มใส รุ่งเรืองด้วยยศ มีศรัทธา มีปัญญา

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงประกาศยกย่องพระสกุลาเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีทิพยจักษุ

คุณสมบัติพิเศษที่มีอยู่ในวิชา ๓ คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้

๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติเกิดของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น

กาลต่อมาพระสกุลาเถรีนั้นพิจารณาการปฏิบัติของตน เกิดปีติโสมนัสได้กล่าวคาถาเหล่านี้เป็นอุทานว่า

“เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในเรือน ฟังธรรมของภิกษุแล้วได้เห็นพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมปราศจากธุลีเป็นเครื่องถึงความสุข ไม่จุติ ข้าพเจ้าจึงละบุตรธิดาทรัพย์และข้าวเปลือก โกนผมบวชเป็นบรรพชิตข้าพเจ้าศึกษาอยู่ เจริญมรรคเบื้องบน จึงละราคะโทสะและอาสวะทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่ร่วมกับราคะโทสะนั้นได้ ข้าพเจ้าอุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว ระลึกชาติก่อนได้ ชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์ หมดมลทิน อบรมแล้วอย่างดี ข้าพเจ้าเห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นของเกิดแต่เหตุ มีอันทรุดโทรมไปเป็นสภาพ แล้วละอาสวะทั้งปวง เป็นผู้มีความเย็น ดับสนิทแล้ว”

จบแล้วจ้า ชาดกเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า บุญ คือ เครื่องยังให้สำเร็จประโยชน์ถึงสมบัติทั้งปวง ไม่เว้นแม้แต่นิพพานสมบัติ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0V8qDMxJjBRtcaiXAbFhS7gmhvNRkcf9kwxuTBtou4Bt1DD7wiAkM9bZRX5BDbhUNl