พระภัททกาปิลานีเถรี (ตอนที่ 3)

0
38

พระภัททกาปิลานีเถรี (ตอนที่ ๓)
๘ มีนาคม ๒๕๖๗

ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่ นางภัททกาปิลานี กับ ปิบผลิมาณพ ได้แยกทางกันเดินในทาง ๒ แพร่ง โดยปิบผลิมาณพได้แยกทางไปทางขวา จนได้เมาห็นพระฉัพพรรณรังสีของพระบรมศาสดา จึงตรงเข้าไปซบเศียรลงบนหลังพระบาท หลังจากทำประทักษิณ

พระบรมศาสดาทรงให้การอุปสมบทปิบผลิมาณพด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา หลังจากได้อุปสมบทแล้ว ได้นามว่า กัสสปะ (เป็นชื่อเรียกกันตามโคตร ตามวงศ์ตระกูลของท่าน)

ส่วนนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา จนได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้

กาลต่อมา พระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนา พระภัททกาปิลาเถรีนี้ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้บุพเพนิวาสานุสสติญาณ สมดังที่นางเคยตั้งอธิษฐานเอาไว้ในอดีตชาติ

ในกาลครั้งอดีตยุค พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ นางภัททกาปิลานีบังเกิดในเรือนแห่งสกุล กรุงหังสวดี เมื่อเติบใหญ่แล้วได้เป็นภรรยาของวิเทหเศรษฐี

วันหนึ่งนางได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาผู้มีบุพเพนิวาสญาณ จึงกระทำมหาทานแด่พระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์จำนวนมากพร้อมทั้งตั้งความปรารถนาที่จะได้ตำแหน่ง เป็นผู้เลิศในบุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติได้มากกว่าภิกษุทั้งหลาย) ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต

จากนั้นท่านก็ได้กระทำบุญกุศลตลอดมา โดยเป็นการทำกุศลร่วมกับสามีของท่าน ท่านและสามีของท่านจึงได้เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นสามีภรรยาร่วมกันมาโดยตลอด

ในส่วนของสามีของท่านคือ ท่านวิเทหเศรษฐี ในสมัยนั้นก็ได้กระทำมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาที่จะได้ตำแหน่งเอตทัคคะผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร รายละเอียดสามารถอ่านได้จากประวัติของท่านพระกัสสปมหาเถระ

กาลต่อมา พระปทุมุตตระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เศรษฐีนั้นเชิญญาติและมิตรมาประชุมแล้วได้พร้อมใจกันสร้างพระสถูปสำเร็จด้วยรัตนะ สูง ๗ โยชน์ งดงามเหมือนดวงอาทิตย์ พร้อมทั้งปลูกต้นพญารังที่มีดอกบานเอาไว้รอบๆ พระเจดีย์ เพื่อสักการะบูชาพระศาสดา

ส่วนท่านผู้เป็นภรรยาของท่านเศรษฐีก็จัดเครื่องบูชา และตกแต่งพระมหาเจดีย์นั้น โดยได้ให้ช่าง ๗ คนเอารัตนะ ๗ อย่างทำตะเกียง ๗ แสนดวง แล้วเอาน้ำมันหอมใส่เต็มทุกถ้วย ตามประทีปไว้ ณ ที่นั้น ลุกโพลงงดงาม เพื่อบูชาพระศาสดา

ท่านให้ช่างทำหม้อ ๗ แสนหม้อ เต็มด้วยรัตนะต่างๆ มีพวงทองตั้งไว้ในระหว่างหม้อ ๘ ใบ รุ่งเรืองด้วยสีเหมือนดวงอาทิตย์ในสารทสมัย เพื่อบูชาพระศาสดาผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่

ที่ประตูซุ้มทั้ง ๔ มีเสาระเนียดสำเร็จ ด้วยรัตนะ มีแท่นมากสำเร็จด้วยรัตนะตั้งไว้งดงามน่ายินดี ทั้งยังให้มีการขุดคูน้ำเพื่อปลูกพรรณดอกไม้น้ำเป็นระเบียบดี และมีธงรัตนะยกขึ้นไว้ ทุกอย่างล้วนแต่งามไพโรจน์ รุ่งเรืองยิ่งนัก

พระเจดีย์ที่สำเร็จด้วยรัตนะนั้นๆ สร้างไว้มีสีสุกงามดี รุ่งโรจน์ด้วยสีเหมือนดวงอาทิตย์ที่มีรัศมีงาม พระสถูปของท่านมี ๓ ด้าน ด้านหนึ่งท่านบรรจุเต็มไปด้วยหรดาล ด้านหนึ่ง ท่านบรรจุเต็มไปด้วยมโนศิลา ด้านหนึ่งท่านบรรจุเต็มไปด้วยแร่พลวง ท่านให้ช่างสร้างเครื่องบูชาที่น่ายินดีเช่นนี้แล้ว ได้ถวายทาน แก่พระสงฆ์ผู้กล่าวธรรมอันประเสริฐตามกำลัง

นางและสามีตั้งมั่นอยู่ในธรรมนั้นตลอดชั่วชีวิต พร้อมทำการบูชาพระธาตุเจดีย์ขององค์พระบรมศาสดาปทุมุตตระ นั้นโดยประการทั้งปวงจนตลอดชีวิต

เมื่อถึงกาลกิริยา ได้ไปสู่สุคติภพพร้อมกัน เสวยสมบัติทั้งหลายในเทวดาและมนุษย์ ท่องเที่ยวไปกับเศรษฐีนั้น เสมือนเงาติดตามไปกับตัว ฉะนั้น

นับแต่นั้น ท่านทั้งสองได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี กัสสปะนั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.ส่วนนางก็มาเกิดเป็นนางพราหมณีผู้เป็นภรรยา

พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่งอยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์มีการประชุมกันด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม

ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาทุก ๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เหล่าเทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกข่าวนั้นแก่เอกสาฏกพราหมณ์ว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีภรรยาว่า

แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน

นางพราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด
แล้วให้พราหมณ์สามีอยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าที่มีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกาคนอื่นๆ

ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำคืน พราหมณ์จึงได้รับผ้านุ่งผ้าห่มจากนางพราหมณี ซึ่งต้องอยู่บ้าน ตนจึงรับเอาห่มผ้าห่มนั้นมาคุมกายไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร

เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร

ขณะที่พราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ได้บังเกิดปิติ ขนลุกขนพอง ปิติสุขไปทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง

พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาแล้วคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล แต่ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งมีอยู่แค่เพียงผืนเดียว ทำให้บังเกิดความตระหนี่ขึ้นแก่พราหมณ์นั้น พร้อมคิดว่า พราหมณีภรรยาเรากับตัวเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใด ๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง

ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์นั้นขณะที่สดับพระธรรมเทศนาอยู่ ก็บังเกิดปิติ มีอาการตัวพอง ขนลุก น้ำตาไหล อิ่มเอิบ ปิติสุข จึงคิดที่จะถวายผ้าผืนนั้นอีก แต่พอเวลาผ่านไปถึงมัชฌิมยาม พราหมณ์นั้นกลับคิดเหมือนตระหนี่หวงแหนผ้าผืนนั้นขึ้นมาอีก จึงไม่ได้ถวาย

ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สามในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน อะไรจะเกิดขึ้นค่อยว่ากันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม (เราชนะแล้ว ๆ ๆ)

ชัยชนะใดไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับการชนะตนเอง

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02QjUVPsSHgQ6Wt2fbtKkPuVBzXSKuz9ANgdGFzNzUL6EeC793WVuEdCiRKyRKrMoql