ประวัติพระภิกษุณีอุบลวรรณาเถรี (ตอนที่ 2)

0
50

ประวัติพระภิกษุณีอุบลวรรณาเถรี (ตอนที่ ๒)
๓๑ มกราคม ๒๕๖๗

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่นางอุบลวรรณาเถรี หลังจากบรรลุพระอรหันต์แล้ว แต่ต้องมาถูกลูกพี่ลูกน้องที่หลงรักนางมาตั้งแต่นางยังไม่บวช แอบมาซ่อนอยู่ในห้องนอนของนางภิกษุณี แล้วใช้กำลังขืนใจนาง

นางจึงนำเรื่องไปโพทนาแก่หมู่สงฆ์ จนองค์พระบรมศาสดาทรงทราบ แล้วจึงแสดงโทษของบุคคลที่ทำชั่วว่า จักมีผลอันเป็นทุกข์

เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภิกษุผู้เป็นปุถุชนทั้งหลายได้พากันซุบซิบนินทาสนทนากันในโรงธรรม เกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระภิกษุณีอุบลวรรณาเถรี นั้นว่า:-

“ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังจะ พอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้ง เนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่ายังยินดีในการเสพ กาม”

พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามทรงทราบเนื้อความ ที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากัน แล้วจึงตรัสว่า:-

“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้น ไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามเปรียบเสมือน หยาดน้ำตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ย่อมไม่ ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระ ขีณาสพ ฉันนั้น” ดังนี้แล้ว

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ ในพราหมณวรรคว่า :-

“เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย

เหมือนน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว

เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่

ที่ปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์.”

ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดา ผู้เข้ามาบวชแล้วพักอาศัย อยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาล ลามก เบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้ เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า แล้วตรัสว่า

“มหาบพิตร แม้กุลธิดาทั้งหลาย ในพระศาสนานี้ ละหมู่ญาติอันใหญ่และกองแห่งโภคะมาก บวชแล้ว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนอย่างกุลบุตรทั้งหลายเหมือนกัน

คนลามก ถูกราคะยอมแล้ว ย่อมเบียดเบียนภิกษุณีเหล่านั้น ผู้อยู่ในป่า ด้วยสามารถแห่งการดูถูกดูหมิ่นบ้าง ให้ถึงอันตรายแห่งพรหมจรรย์บ้าง เพราะฉะนั้น พระองค์ควรทำที่อยู่ภายในพระนครแก่ภิกษุสงฆ์”

พระราชา ทรงรับว่า “ดีละ” ดังนี้แล้ว รับสั่งให้สร้างที่อยู่เพื่อภิกษุสงฆ์ ที่ข้างหนึ่งแห่งพระนคร จำเดิมแต่นั้นมา พวกภิกษุณีย่อมอยูในละแวกบ้านเท่านั้น

ในวันที่พระบรมศาสดาประกาศว่า จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบพวกเดียวถีย์ที่เมืองสาวัตถีในราวพรรษาที่ ๖ นั้น

พระอุบลวรรณเถรีก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาสาวก สาวิกาผู้ทรงฤทธิ์ทั้งหลายที่ทูลขันอาสาแสดงฤทธิ์แทนพระบรมศาสดา โดยท่านจะแสดงฤทธิ์แปลงตัวเองเป็นจักรพรรดิราช มีข้าราชบริพารห้อมล้อมกว้างไกลถึง ๓๖ โยชน์ แล้วจะเข้าถวายบังคมพระบรมศาสดา

พระองค์ทรงปฏิเสธบรรดาสาวก-สาวิกาผู้ทรงฤทธิ์เหล่านั้น รวมทั้งปฏิเสธพระอุบลวรรณาเถรีด้วย ตรัสว่า

“ตถาคตรู้ว่าเธอทำได้ แต่พวงดอกไม้นี้มิได้ผูกไว้เพื่อเธอ” ท่านจึงถอยกลับไปนั่ง ณ ที่สมควร
และทรงอาศัยเหตุนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณา เถรี นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสาวิการฝ่ายซ้าย

ทีนี้เราท่านทั้งหลายมาตามไปดูอดีตชาติของมหาเถรีอุบลวรรณาว่ามีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร

เรื่องที่มีมาแล้วในอดีตของพระเถรีรูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ก็บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้วก็ไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมกับมหาชนฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วันปรารถนาตำแหน่งนั้น นางกระทำกุศลจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์

ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี(ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา(ธรรมา) นางสุธัมมา(สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗

พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗

ทรงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วบังเกิดในเทวโลก

ครั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็กลับมาสู่มนุษยโลกอีก บังเกิดในสถานที่ของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีวิต ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง วันหนึ่งนางกำลังเดินไปกระท่อมกลางนา ระหว่างทางเห็นดอกปทุมบานแต่เช้าตรู่ในสระแห่งหนึ่ง จึงลงสู่สระนั้น เก็บดอกปทุมนั้นและใบปทุม สำหรับใส่ข้าวตอก ตัดรวงข้าวสาลีที่คันนา นั่งในกระท่อม คั่วข้าวตอก จัดวางข้าวตอกไว้ ๕๐๐ ดอก

ขณะนั้น ที่ภูเขาคันธมาทน์ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ มายืนไม่ไกลนาง นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ถือเอาดอกปทุมพร้อมด้วยข้าวตอกลงจากกระท่อม ใส่ข้าวตอกลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า เอาดอกปทุมปิดบาตรถวาย

ขณะนั้น เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปได้หน่อยหนึ่ง นางก็ปริวิตกว่า ธรรมดานักบวชไม่ต้องการดอกไม้จำเราจะไปถือดอกไม้มาประดับเสียเอง จึงไปถือดอกไม้มาจากมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็คิดอีกว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการดอกไม้ ก็จักไม่ให้วางไว้บนบาตร พระผู้เป็นเจ้าคงจักต้องการแน่แท้ จึงไปวางดอกไม้ไว้บนบาตรอีก ขอขมาพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กระทำความปรารถนาว่า เจ้าพระคุณเจ้าข้า ด้วยผลของข้าวตอกเหล่านี้ของข้าพเจ้า ขอบุตรของข้าพเจ้าจงมีเท่าจำนวนข้าวตอก [๕๐๐] ด้วยผลของดอกปทุม ขอดอกปทุมจงผุดขึ้นทุก ๆ ย่างก้าว ในสถานที่ข้าพเจ้าบังเกิดแล้วบังเกิดอีก พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะไปยังภูเขาคันธมาทน์ ทั้งที่นางเห็นอยู่นั่นแล แล้วก็วางดอกปทุมนั้นไว้เป็นเครื่องเช็ดเท้า ใกล้บันไดเหยียบของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ

ด้วยผลของกรรมนั้น แม้นางก็ถือปฏิสนธิในเทวโลก นับแต่นางบังเกิดแล้ว ปทุมดอกใหญ่ ก็ผุดทุก ๆ ย่างก้าวของนาง นางจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็บังเกิดในดอกบัวในสระปทุมแห่งหนึ่งใกล้เชิงภูเขา ดาบสองค์หนึ่งอาศัยเชิงภูเขานั้นอยู่ ดาบสนั้นไปสระแต่เช้าตรู่ เพื่อล้างหน้า เห็นดอกปทุมนั้น ก็ครุ่นคิดว่า

ปทุมดอกนี้ ใหญ่กว่าดอกอื่น ๆ แต่ดอกอื่น ๆ บานแล้วดอกนี้ยังตูมอยู่ น่าที่จะมีเหตุในดอกปทุมนั้น จึงลงน้ำจับปทุมดอกนั้น ปทุมดอกนั้น พอดาบสนั้นจับเท่านั้นก็บาน ดาบสก็เห็นเด็กหญิงนอนอยู่ภายในห้องดอกปทุม และนับแต่เห็นแล้ว ก็ได้ความรักประดุจธิดา จึงนำไปบรรณศาลาพร้อมกับดอกปทุมให้นอนบนเตียง ลำดับนั้น น้ำนมก็เกิดที่หัวนิ้วแม่มือด้วยบุญญานุภาพของนาง เมื่อปทุมดอกนั้นเหี่ยว ดาบสก็นำปทุมดอกอื่นมาใหม่ให้นางนอน นับตั้งแต่นางสามารถวิ่งมาวิ่งไปได้ ดอกปทุมก็ผุดขึ้นทุกย่างก้าว ผิวพรรณแห่งเรือนร่างของนางก็เหมือนสีทองบัวบก ผิวนางไม่งามเสมอผิวพรรณเทวดา แต่ก็งามล้ำผิวพรรณมนุษย์ เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล นางก็ถูกปล่อยทิ้งไว้ ณ บรรณศาลา

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ วันหน้าค่อยมาติดตามกันต่อ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02PQMLpGFU7UfPwCJgLkDfoVpPDcTW6E8bK3yiHoFw95UzVL55iinLsoErdW3rGB6tl