คำอธิบายในพระธรรมคำสอนของภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ที่แสดงแก่วิสาขอุบาสกผู้เป็นอดีตสามีของนาง

0
37

คำอธิบายในพระธรรมคำสอนของภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ที่แสดงแก่วิสาขอุบาสกผู้เป็นอดีตสามีของนาง
๒๑ มกราคม ๒๕๖๗

สักกายะ ความมีตัวมีตน อันมาจากเหตุอุปาทาน คือ ความยึดถือทั้ง ๕ อันได้แก่

อุปาทานในรูป เรียกว่า รูปูปาทานขันธ์

อุปาทานในอารมณ์ เรียกว่า เวทนูปาทานขันธ์

อุปทานในสัญญา ความจำได้หมายรู้ เรียกว่า สัญญูปาทานขันธ์

อุปาทานในความปรุงแต่งทั้งปวง เรียกว่า สังขารูปาทานขันธ์

อุปทานในความรับ จำ คิด รู้ เรียกว่า วิญญาณูปาทานขันธ์

ความยึดถือทั้ง ๕ ล้วนเกิดมาจากตัณหาทั้ง ๓ คือ

กามตัณหา ความทะยานอยากในกามคุณทั้ง ๕

ภวตัณหา ความทะยานอยากในความอยากมี อยากเป็น

วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

สักกายะ สมุทัย คือ มูลเหตุที่ทำให้เกิดตัวกู ของกู อันได้แก่ อุปาทานทั้ง ๕ และตัณหาทั้ง ๓

สักกายะนิโรธ คือ ความดับ ความผ่อนคลายจากกำหนัดยินดีในตัณหาทั้ง ๓ และอุปาทานทั้ง ๕

สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ กายนี้ ตัวตนนี้ อุปาทานนี้ ตัณหานี้ จักละได้ วางได้อย่างสมบูรณ์ด้วยปัญญาเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตเอาไว้ชอบ

ภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ได้แสดงว่า อุปาทาน กับ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันได้แก่ ความยึดถือในรูป ความยึดถือในเวทนา ความยึดถือในสัญญา ความยึดถือในสังขาร ความยึดถือในวิญญาณ

คำว่า อุปาทานและอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ จะเป็นอย่างเดียวกันก็มิได้ จะเป็นคนละอย่างก็มิใช่

อธิบายได้ว่า

อุปาทาน หมายถึง ความยึดถือในทุกอย่าง

อุปาทานขันธ์ หมายถึง ความยึดถือเป็นเรื่องๆ เป็นอย่างๆ เช่น ยึดถือในกองแห่งขันธ์ทั้ง ๕ อันมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เช่นนี้ชื่อว่า อุปาทานขันธ์

ภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ได้แสดงว่า คำว่า ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอุปาทานในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

อธิบายได้ว่า

เมื่อมีอุปาทานในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแล้ว ยังมีอุปาทานในอารมณ์ที่เกิดจากรูป เกิดจากเวทนา เกิดจากสัญญา เกิดจากสังขาร เกิดจากวิญญาณ ซ้อนขึ้นมาอีก และยิ่งมีมูลเหตุมาจากตัณหาความทะยานอยาก เป็นต้นทุนรองอนุสัยอย่างหนาแน่น มากมายอยู่แล้ว อุปาทานก็จักเกิดซ้อนอุปาทานไปเป็นหมื่นเท่าแสนทวี ไม่มีวันสิ้นสุด

ทีนี้เราท่านทั้งหลายมาตามดูกันว่า สักกายทิฏฐิ จักเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุปัจจัยอะไรบ้าง
ภิกษุณีธรรมทินนาเถรี ท่านได้วิสัชนาเอาไว้ว่า

สักกายทิฏฐิ จะมีได้ด้วยเหตุที่ปุถุชนเป็นผู้ตั้งอยู่ในความมัวเมาประมาท ได้ชอบสดับธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นพระอริยะ และไม่คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ

ไม่มีสติปัญญาฝึกหัดปฏิบัติในธรรมของพระอริยะ ทั้งยังไม่ปฏิบัติตามคำสอนของสัตบุรุษ

ปุถุชนเช่นนี้ย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของตน เห็นว่า ตนมีอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เช่นนี้จึงได้ชื่อว่า ผู้มีสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่า มีตัวกู ของกู

และหากจะถามกลับไปว่า เช่นไรจึงชื่อว่า ไม่มีสักกายทิฏฐิ ภิกษุณีธรรมทินนาเถรีท่านได้วิสัชนาว่า

อริยชนทั้งหลายครั้นได้สดับแล้วยด้วยดีในพระธรรมวินัยนี้ ได้เห็นแล้วซึ่งพระอริยเจ้า ทั้งยังได้คบค้าสมาคม สั่งสนทนาอย่างดีแล้วกับท่านสัตบุรุษ มีสติปัญญาฝึกฝน ปฏิบัติ อบรมดีแล้วในธรรมของพระอริยเจ้าและเหล่าสัตบุรุษ

อริยชนทั้งหลายดังกล่าว ย่อมเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีตัวตนบ้าง

ไม่เห็นตัวตนมีอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อริยชนเช่นนี้จึงชื่อว่า เป็นผู้ละเสียได้ซึ่ง สักกายทิฏฐิ

ถามต่อไปว่า สักกายทิฏฐิ มีอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่

ท่านธรรมทินนาเถรี ภิกษุณีสงฆ์ ได้วิสัชนาเอาไว้ว่า

มรรคควิถีทั้ง ๘ ประการเป็นสังขตธรรม อันต้องประกอบด้วย ปัญญาเห็นธรรม ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรพยายามชอบ ความมีสติชอบ ความตั้งจิตเอาไว้ในธรรมที่ชอบ

ธรรมทั้ง ๘ ประการดังกล่าวนี้ เป็นคุณเครื่องกำจัดสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีตัวมีตน และกำจัดความยึดถือว่าเป็นตัวกู ออกจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

อธิบายขยายความมานี้ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รู้จัก เข้าใจ แจ่มชัดในพระอริยสัทธรรมของภิกษุณีธรรมทินนาเถรีผู้ทรงคุณอันประเสริฐ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0WfgPvZEw7ytsqP23wJC5Rf9iQQXpXuY1YH3H7jbAaZcXj4sYvWDAbAeLmTUkUvuXl