ประวัติของพระธรรมทินนาเถรี (ตอนที่ 1)

0
46

ประวัติของพระธรรมทินนาเถรี (ตอนที่ ๑)
๑๘ มกราคม ๒๕๖๗

พระธรรมทินนาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัย ได้เป็น ภริยาของวิสาขเศรษฐี ผู้ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งพระนครราชคฤห์

ต่อมาครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเทศนาโปรดเหล่าชฏิลทั้งสามพร้อมทั้งบริวาร ณ อุรุเวลาเสนานิคมแล้ว ก็ทรงระลึกถึงปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสารเมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ว่า ถ้าตรัสรู้แล้วก็จะทรงมาโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จึงได้เสด็จดำเนินไปยังกรุงราชคฤห์กับหมู่ภิกษุขีณาสพชฏิลทั้ง ๓ พี่น้องและบริวาร แล้วทรงแสดงธรรมถวายพระเจ้าพิมพิสารพร้อมบริวารแสนสองหมื่นคนที่มาเฝ้าสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า

ในชนแสนสองหมื่นคนที่มาพร้อมกับพระราชาในครั้งนั้น หนึ่งหมื่นคนประกาศตนเป็นอุบาสก อีกหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคนพร้อมกับพระเจ้าพิมพิสาร ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล วิสาขอุบาสกผู้เป็นสามีของนางธรรมทินา เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นซึ่งเป็นผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลในการสดับพระพุทธธรรมครั้งแรกนั่นเอง

ในวันต่อมา วิสาขอุบาสกก็ได้มีโอกาสฟังธรรมด้วย อุบาสกผู้นี้ได้สำเร็จสกทาคามิผล

ในวันต่อมาเขาได้ฟังธรรมอีก จึงได้บรรลุอนาคามิผล ในวันที่วิสาขอุบาสกสำเร็จเป็นเป็นพระอนาคามีแล้วได้เดินทางกลับบ้าน แต่มิได้กลับมาด้วยกิริยา พฤติกรรมเช่นเดิมที่เคยดูโน่นดูนี่ หรือพูดจา หัวเราะยิ้มแย้มแต่กลับกลายเป็นคนสำรวมกาย สำรวมใจเดินเข้าบ้าน

ขณะนั้นนางธรรมทินนามองดูวิสาขอุบาสกผู้เป็นสามีทางหน้าต่าง เห็นพฤติกรรมของเขา แล้วก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีของเรา นางจึงออกมายืนอยู่ที่บันไดทำการต้อนรับเขาพลางก็เหยียดมือยื่นออกไปให้สามีจับ อุบาสกกลับหดมือของตนเสียแล้วนิ่งเฉย

นางจึงคิดว่าจะไปถามให้รู้ความในเวลารับประทานอาหาร แต่ก่อนมาอุบาสกผู้นี้รับประทานพร้อมกันกับนาง แต่วันนี้กลับไม่ยอมมองหน้านาง ทำราวกะว่าเป็นคนแปลกหน้า หรือเหมือนกับพวกภิกษุที่รับประทานอาหารคนเดียว นางคิดว่าจะเก็บเอาไว้ไปถามเวลานอน แต่ในวันนั้นอุบาสกสามีของนางกลับไม่ยอมเข้าห้องนอนตามที่เคย แต่กลับสั่งให้บริวารจัดห้องอื่นให้ตั้งเตียงและปูเสื่อเอาไว้ให้ตนนอน

นางธรรมทินนาเห็นเช่นนี้จึงคิดว่าตนคงกระทำความผิดอันใดไว้ วิสาขอุบาสกผู้เป็นสามีจึงไม่ยอมพูดด้วย ไม่กินร่วมด้วย ไม่นอนร่วมห้องด้วย ก็เกิดความเสียใจอย่างแรง จึงเข้าไปหาสามีอุบาสกแล้วถามว่า

“คุณพี่ ตัวน้องนี้มีความผิดอะไรหรือ ท่านพี่จึงไม่ยอมถูกเนื้อต้องตัว ไม่ยอมพูดด้วย และ ไม่ยอมนอนร่วมห้องด้วย”

วิสาขอุบาสกได้ยินนางถามดังนั้นก็คิดว่า “ชื่อว่าโลกุตตรธรรมนี้เป็นภาระหนักไม่พึงเปิดเผย แต่ถ้าเราไม่บอก ธรรมทินนานี้จะพึงหัวใจแตกตายในที่นี้เอง”

เพื่อที่จะอนุเคราะห์นาง วิสาขอุบาสกเศรษฐีจึงบอกว่า “ธรรมทินนา พี่ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วได้บรรลุโลกุตตรธรรม ผู้ได้บรรลุโลกุตตรธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่กระทำแบบโลกๆ อย่างที่เคยทำมาแต่กาลก่อน ถ้าน้องหญิงต้องการ ทรัพย์ทั้งหมดของฉัน ก็จงถือเอาไป แล้วจงอยู่ดำรงตำแหน่งแม่บ้าน หรือตำแหน่งน้องสาวของฉันก็ได้ ฉันจะขอเลี้ยงชีพด้วยเพียงก้อนข้าวที่เธอให้ หรือเธอเอาทรัพย์เหล่านี้ไปแล้วกลับไปอยู่กับตระกูลของก็ได้ หรือถ้าเธอต้องการมีสามีใหม่ ฉันก็จะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งน้องสาว หรือตำแหน่งลูกสาวแล้วยกเธอให้กับชายนั้นเขาไปเลี้ยงดู”

นางคิดว่า “ผู้ชายปกติ จะไม่มีใครพูดอย่างนี้ เขาคงบรรลุโลกุตตรธรรมเป็นแน่ แล้วมีแต่ผู้ชายเท่านั้นหรือที่พึงบรรลุธรรมนั้นได้ หรือแม้เป็นผู้หญิงก็สามารถบรรลุได้”

นางจึงพูดกับวิสาขะสามีว่า “ธรรมนั้นผู้ชายเท่านั้นหรือหนอที่พึงเข้าถึงได้ หรือแม้เป็นผู้หญิงก็สามารถบรรลุได้ด้วย”

วิสาขอุบาสกตอบว่า “พูดอะไร ธรรมทินนา ผู้ที่เป็นนักปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นทายาทของธรรมนั้น ผู้ที่มีอุปนิสัยก็ย่อมได้รับธรรมนั้น”

นางธรรมทินนา “เมื่อเป็นอย่างนั้น ขอให้ท่านยินยอมให้ดิฉันบวชเถิด”

วิสาขอุบาสกผู้สามีครั้งได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า “ดีแล้วน้องหญิง ฉันเองก็อยากจะแนะนำในทางนี้ให้แก่เธอเหมือนกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่าเธอจักยอมรับได้หรือไม่ จึงยังไม่พูดชักชวน”

แล้ววิสาขอุบาสกจึงให้นางธรรมทินนาอาบน้ำหอม ให้ประดับประดาด้วยเครื่องสำอางทุกอย่าง ให้นั่งบนวอทอง แวดล้อมด้วยหมู่ญาติ บูชาด้วยดอกไม้หอมเป็นต้น พาไปสู่สำนักภิกษุณีแล้วเรียนภิกษุณีสงฆ์พวกนั้นว่า “ขอให้นางธรรมทินนาผู้เป็นอดีตภรรยาของข้าพเจ้าได้บวชในสำนักของ แม่เจ้าเถิด”

พวกภิกษุณีคิดว่าท่านเศรษฐีจะลงโทษภรรยาที่กระทำความผิดโดยการให้ออกบวชจึงพูดว่า” คฤหบดี กับความผิดอย่างหนึ่งหรือสองอย่าง ท่านก็ควรจะอดทนได้”

วิสาขอุบาสกจึงเรียนว่า “ไม่มีความผิดอะไรหรอก คุณแม่เจ้า เธอบวชด้วยใจศรัทธา”

ลำดับนั้น ภิกษุณีผู้สามารถรูปหนึ่ง จึงบอกกัมมัฏฐานอันมีฐานเป็นที่ตั้งห้าแห่งที่ปรากฎอยู่ภายในร่างกายนี้ให้แก่นางธรรมทินนา พร้อมให้โกนผมแล้วบวช

ใจความสำคัญของกรรมฐานทั้ง ๕ หรือเรียกอีกอย่างว่า ตะจะปัญจะกะกัมมัฏฐาน ,ตจปัญจกกรรมฐาน อันได้แก่ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (ผิวหนัง)

คำว่า ตะจะ หมายถึง หนังทั้งหลายที่ห่อหุ้มเนื้อที่อยู่ในตัวเราและตัวผู้อื่น

คำว่า ปัญจะกะกัมมัฏฐาน หมายถึง กรรมฐาน หรือที่ตั้งแห่งจิตที่มีหนังเป็นลำดับที่ ๕ ซึ่งเริ่มต้นจากผม ขนในลำตัว เล็บมือเล็บเท้า ฟันในช่องปาก และหนังที่ห่มเนื้อ

๑. เกสา (ผม) อันเป็นประโยชน์แก่ระบบประสาท และเนื้อสมอง เพราะผมช่วยปกคลุมศีรษะ เพื่อป้องกันลม แดด เหลือบ ยุง ริ้น ไร และการกระเทือนต่อระบบประสาท พร้อมทั้งเนื้อสมองได้ในระดับหนึ่ง

๒. โลมา (ขน) อันมีประโยชน์เพื่อป้องกันผิวหนัง

๓. นะขา (เล็บ) ทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยสนับสนุนทำการงาน

๔. ทันตา (ฟัน) ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร และป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ร่างกาย

๕. ตะโจ (ผิวหนัง) ทำหน้าที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้ออยู่ถึง ๓ ชั้น คือ ชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ซึ่งแต่ละชั้นต่างทำหน้าที่ร่วมกัน คือ ป้องกันแรงกดดัน ต้านทานแรงปะทะ ปกป้องเส้นเลือด และเส้นประสาทสัมผัส ที่มีอยู่ภายใต้ผิวหนังในแต่ละชั้น อีกทั้งยังปกป้องร่างกายให้บรรเทาจากความหนาว ร้อน อ่อน แข็ง ทั้งยังช่วยรักษา ปกป้องอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมพอดี ที่จะดำรงอยู่ได้

********************************************

วิสาขะอุบาสก เมื่อได้รับรู้ถึงความพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา ด้วยความทุ่มเทของนางธรรมทินนา จึงได้พูดว่า “แม่หญิง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมไว้ดีแล้ว ท่านจงยินดีและมุ่งมั่นปฏิบัติตามธรรมนั้นให้เห็นผลโดยชอบ พร้อมกันเถิด” ไหว้แล้วหลีกไป

ตั้งแต่วันที่นางบวชแล้ว ลาภสักการะก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุณีธรรมทินนามากมาย เพราะเหตุนั้นนางจึงยุ่งจนหาโอกาสทำสมณธรรมไม่ได้ ทีนั้น พวกพระเถรีที่เป็นอาจารย์และอุปัชฌาย์จึงพานางไปบ้านนอก แล้วก็ให้เรียนกัมมัฏฐานตามชอบใจในอารมณ์สามสิบแปดอย่างเริ่มทำสมณธรรม

(สมาธิในอารมณ์สามสิบแปด ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับธรรมฝ่ายดี มีปัญญา ที่ขณะนั้น ตั้งมั่นมั่นคงในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และ ไม่ฟุ้งซ่าน)

(เอาไว้วันหลังจะนำมาอธิบายขยายความให้ได้รู้ว่า อารมณ์ในสมาธิทั้ง ๓๘ มีอะไรบ้าง)

สำหรับนางธรรมทินนา ปฎิบัติอยู่ไม่นาน เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอานุภาพแห่งความปรารถนา ที่กระทำไว้เมื่อครั้งพระศาสดาทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงอุบัติในโลก ด้วยอำนาจแห่งความปรารถนานั้น นางจึงไม่ใช้เวลาในการปฏิบัติมากนัก สองสามวันเท่านั้นเองก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ

ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พระธัมมทินนาเถรีคิดว่าใจของเราหมดกิเลสแล้ว บัดนี้เราจักอยู่ทำอะไรในที่นี้ เราจักไปกรุงราชคฤห์ถวายบังคมพระศาสดา และสงเคราะห์แก่พวกญาติของเราเป็นจำนวนมากพวกเขาจักได้กระทำบุญ พระเถรีจึงกลับมากรุงราชคฤห์พร้อมทั้งหมู่ภิกษุณีทั้งหลาย

วิสาขอุบาสกได้ฟังข่าวมาว่านางธรรมทินนากลับมาจึงคิดว่า นางบวชแล้วไปบ้านนอกยังไม่นานเลย ก็กลับมา นางคงจะยังยินดีอยู่ในโลกีย์วิสัยละมัง แล้วก็ได้ไปสำนักนางภิกษุณี ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง แล้วจึงคิดว่าจะ ถามถึงเรื่องที่ตนสงสัยก็เห็นจะไม่สมควร จึงถามปัญหาด้วยการยกเอาปัญจขันธ์ขึ้นมาเป็นเหตุ

ธรรมทินนาภิกษุณีได้แสดงธรรมแก่วิสาขอุบาสก ดังนี้

สักกายะ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประกอบด้วย

๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)

๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานเวทนา เวทนาความรู้สึก ที่ประกอบหรือแอบแฝงด้วยความยึดมั่นด้วยกิเลส เพื่อความพึงพอใจของตัวตน)

๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานสัญญา สัญญาความจำ ที่ประกอบหรือแอบแฝงด้วยความยึดมั่นด้วยกิเลส เพื่อความพึงพอใจของตัวตน)

๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานสังขาร การกระทำต่างๆ ที่ประกอบหรือแอบแฝงด้วยความยึดมั่นด้วยกิเลส เพื่อความพึงพอใจของตัวตน)

๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานวิญญาณ การรู้แจ้งที่ประกอบหรือแอบแฝงด้วยความยึดมั่นด้วยกิเลส เพื่อความพึงพอใจของตัวตน)

สักกายสมุทัย คือ ตัณหาอันทำให้เกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่

-กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ความอยากหรือไม่อยาก ใน สัมผัสทั้ง 5 เพราะความยินดีพอใจในกามคุณ5 ที่ตนปรารถนา

-ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น คือความอยากเป็นเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เมื่อได้เป็นแล้วหรือได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลงไป

-วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นนั่นไม่อยากเป็นนี่ หรือไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ตลอดจนความอยากดับสูญ

สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพันด้วยตัณหานั้น

สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา คือ อริยะมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ปัญญาอันเห็น ชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ

อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่ จะเป็นคนละอย่างก็ไม่ใช่ แต่ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ถือเป็นอุปาทานซ้อนอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นั้น

สักกายทิฏฐิ (หมายถึง ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน คือความเห็นที่ยึดติดอยู่กับขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน) จะมีได้ โดยปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ไม่ฉลาดและไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้

สักกายทิฐิ จะไม่มีได้ โดยอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นพระอริยะ และสัปบุรุษ ฉลาดและฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ และของสัปบุรุษ ย่อมไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณโดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงจะไม่มี
อริยะมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตะ (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น, สังขารทุกอย่างที่มีการปรุงแต่งขึ้นจากหลายๆ สิ่งรวมกัน เรียกว่า สังขตะ) ประกอบด้วย ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งจิตไว้ชอบ

ส่วนขันธ์ ๓ ประกอบด้วย กองแห่งศีล กองแห่งสมาธิ กองแห่งปัญญา

อริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ คือ

– วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทรงสงเคราะห์ลงในข้อศีลขันธ์

– ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ ทรงสงเคราะห์ลงในข้อสมาธิขันธ์

– ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ ทรงสงเคราะห์ลงในปัญญาขันธ์

ธรรมที่เป็นสมาธิ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว

ธรรมที่เป็นนิมิตของสมาธิ คือ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรมทั้งปวง

ธรรมที่เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ คือ สัมมัปปธาน ๔ หรือ ปธาน ๔ คือ ความเพียรชอบหรือความเพียรใหญ่ ๔ ประการ คือ

– สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น

– ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

– ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี

– อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและให้เจริญยิ่ง

และการทำให้สมาธิเจริญ คือ การทำความคุ้นเคย ความเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้น

สังขาร มี ๓ ประการ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร

1. กายสังขาร ได้แก่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เนื่องจากเป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย

2. วจีสังขาร ได้แก่ วิตกและวิจาร เนื่องจากบุคคลย่อมตรึก ย่อมตรองก่อน แล้วจึงเปล่งวาจา

3. จิตตสังขาร ได้แก่ สัญญาและเวทนา เนื่องจากเป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต

วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวผู้ศึกษาจักมึนนะจ๊ะ

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02xudS3Y8UFYXuyG8qVRBGpyGP3u41Red38JxojtnG3e98SNTJM3LGMAZKiL9W5enMl