ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ 6)

0
54

ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (ตอนที่ ๖)
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ มิคารเศรษฐีพ่อสามีของกุมาริกาวิสาขาเกิดขัดใจที่นางวิสาขาพูดกระทบกระเทียบ เปรียบเปรยว่าตนกำลังกินของเก่าอยู่ ทั้งที่ข้าวมธุปายาสที่อยู่ในถาดทองคำ ก็เพิ่งทำสุกมาใหม่ๆ

ด้วยเหตุเพราะมิคารเศรษฐีทำเป็นมองไม่เห็นขอณะที่พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งมาบิณฑบาตร หน้าเรือนของเศรษฐี มิใยที่นางวิสาขาจะพยายามทำนิมิต ส่งสัญญาณให้เศรษฐีพ่อสามีได้รับรู้ว่า ขณะนี้มีพระสมณะผู้ประเสริฐ มาขอรับอาหารบิณฑบาตร ถึงหน้าบ้านก็ตาม

แต่ด้วยความเป็นผู้มีมิจฉาทิฐิจิต จึงไม่เลื่อมใสต่อบุคคลผู้น่าเลื่อมใส

นางวิสาขาผู้เป็นลูกสะใภ้จึงได้พูดไปว่า พระคุณเจ้าข้า พ่อสามีของดิฉันกำลังนั่งกินของเก่าอยู่ ขอพระคุณเจ้าจงไปโปรดสัตว์ข้างหน้าก่อนเถิดเจ้าข้า

มิคารเศรษฐีพอได้ฟังดังนั้น จึงพาลโกรธ บอกให้พวกบ่าวไพร่ในเรือนมาขับไล่กุมาริกาวิสาขา ผู้เป็นลูกสะใภ้ให้ออกไปเสียจากเรือนของตน

แต่นางวิสาขาจึงได้โต้แย้งถามพ่อสามีว่า ตนผิดอันใด จึงได้มาขับไล่กันดังพวกทาสในเรือนเบี้ย

มิคารเศรษฐีจึงกล่าวว่า เจ้าบังอาจมากล่าวหาว่า เรากำลังกินของเก่าที่ตกค้าง

เมื่อเศรษฐีผู้เป็นพ่อสามียืนกรานที่จะขับไล่นางเช่นนั้น วิสาขากุมาริกาจึงกล่าวอ้างว่า จะมาขับไล่ตนง่ายๆ โดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ เพราะตนมีบัณฑิตกุฎมพีผู้ใหญ่ทั้งแปดตามมาปกครองอยู่ เช่นนั้นพ่อสามีต้องถามบัณฑิตทั้ง ๘ นั้นดูก่อนว่า ตนผิดอะไร

มิคารเศรษฐีจึงยินยอมให้บัณฑิตทั้ง ๘ ที่ตามนางมาเข้ามาร่วมชี้ว่าใครกันแน่ที่ผิด

เมื่อบัณฑิตกุฎมพีทั้ง ๘ มาร่วมฟังข้อถกเถียงของพ่อและลูกสะใภ้ไปทีละข้อๆ บัณฑิตทั้ง ๘ ก็ตัดสินว่า นางวิสาขาไม่มีความผิด จวบจนมาถึงข้อถกเถียงที่มิคารเศรษฐียกขึ้นมาถามนางวิสาขาด้วยความไม่พอใจว่า

มิคารเศรษฐี : ท่านทั้งหลาย แม้ในเรื่องนี้ จะไม่มีโทษ ก็ช่างเถอะ แต่ว่า บิดาของนางวิสาขาก่อนที่จะออกจากเรือนมา ได้กล่าวสอนนางวิสาขาผู้นี้เอาไว้ ๑๐ ข้อซึ่งเป็นข้อความลี้ลับปิดบัง เราไม่ทราบเนื้อความแห่งโอวาทนั้น นางจงบอกเนื้อความแห่งโอวาทนั้นแก่เรามา ที่บิดาของนางผู้นี้ได้บอกว่า ‘ไฟในไม่พึงนำออกไปภายนอก’ พวกเราหากนำไฟในเรือนออกไปให้แก่คนนอกเรือนได้ เช่นนั้น แม้พวกที่เป็นหมู่ญาติและคนคุ้นเคย ก็จักไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่นนี้จักควรกระนั้นหรือ

กุฎมพี : จริงอย่างนั้นหรือ? แม่.

วิสาขา : พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันมิได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้หมายความดังนี้ว่า ‘แม่ เมื่อเจ้าเห็นโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามีของเจ้าแล้ว หรือคนในบ้านก็จงอย่านำไปกล่าวแก่ภายนอกเรือนให้ได้รับรู้ จึงขึ้นชื่อว่าไฟภายใน

มิคารเศรษฐี : ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นยกไว้ก่อน แล้วที่บิดาของนางวิสาขาผู้นี้กล่าวว่า ‘ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน จักเป็ํนการปฏิเสธรับความอนุเคราะห์จากหมู่ญาติ และคนใกล้ชิดกระนั้นหรือ หากไฟในเรือนของเราดับลง พวกเราจักอยู่กันอย่างไร

กุฎุมพี : จริงอย่างนั้นหรือ? แม่.

วิสาขา : พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉัน ไม่ได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้พูดหมายความดังนี้ว่า ‘ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลาย ในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของแม่ผัวพ่อผัวและสามี เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นเข้ามาพูดในบ้านอีกว่า ‘คนชื่อโน้นพูดกล่าวโทษอย่างนี้แก่ท่านทั้งหลายเช่นนี้จึงชื่อว่า ไฟภายนอก ไม่พึงนำเข้ามาในบ้าน’

ก็นางพ้นโทษในเพราะเหตุนี้ฉันใด แม้ในโอวาทที่เหลือ นางก็ได้พ้นโทษฉันนั้นเหมือนกัน.ดังนี้

อรรถาธิบายข้อโอวาทอื่นดังที่ยกมาอธิบายแล้วเบื้องต้นดังนี้

ก็คำที่บิดาของนางสอนว่า “แม่ เจ้าควรให้แก่ชนทั้งหลายที่ให้ เท่านั้น”

ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายเอาเนื้อความอย่างนี้ ว่า “ควรให้ แก่คนที่ถือเครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ส่งคืนเท่านั้น.”

แม้คำว่า “ไม่ควรให้ แก่คนที่ไม่ให้” ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า “ไม่ควรให้แก่ผู้ที่ถือเอา เครื่องอุปกรณ์ที่ยืมไปแล้ว ไม่ส่งคืน.”

ก็แลคำว่า “ควรให้แก่คนทั้งที่ ให้ทั้งที่ไม่ให้” นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า “เมื่อญาติและมิตรยากจน มาถึงแล้ว ชนเหล่านั้น อาจจะใช้คืน หรือไม่อาจใช้คืนก็ตาม ก็ควรให้แก่ญาติ และมิตรเหล่านั้นของหมู่ญาติ เพื่อรักษาน้ำใจ”

แม้คำว่า “พึงนั่งเป็นสุข” นี้ ธนญชัยเศรษฐี กล่าวหมายความว่า “การนั่งทับในที่นั่งของแม่ผัวพ่อผัวและสามีเช่นนี้ ไม่ควร.”

ส่วนคำว่า “พึงบริโภคเป็นสุข” นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าว หมายความว่า “การไม่ควรบริโภคก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี อีกทั้งต้องรับรู้ว่า ท่านเหล่านั้น ชมชอบในอะไร ไม่ชอบอะไร ทั้งยังของพ่อผัว แม่ผัวสามีชอบนั้น ต่างคนต่างได้รับอย่างพอเพียง แล้วหรือยัง”

แม้คำว่า “พึงนอนเป็นสุข” นี้ เศรษฐีกล่าว หมายความว่า “ไม่พึงขึ้นที่นอน นอนก่อนแม่ผัวพ่อผัวและสามี ควรทำวัตรปฏิบัติที่ตนควรทำแก่ท่านเหล่านั้นอย่างเสมอต้นเสมอปลาย”

คำว่า “พึงบำเรอไฟ” นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า“พึงบำเรอทั้งแม่ผัวพ่อผัวทั้งสามี ให้เป็นเหมือนฤๅษีบำเรอไฟ จึงควร.” (เรียกว่า ปรนนิบัติแก่พ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างสม่ำเสมออย่าให้บกพร่อง)

แม้คำว่า “พึงนอบน้อมเทวดาภายใน” นี้ ธนญชัยเศรษฐีกล่าวหมายความว่า “พึงนอบน้อมแม่ผัวพ่อผัวและสามี ให้เป็นเหมือนเทวดาจึงสมควร.”

มิคารเศรษฐีได้ฟังเนื้อความแห่งโอวาท ๑๐ ข้อนี้ อย่างนั้นแล้ว จึงรู้สึกตัวว่า ตนช่างโง่เขลานัก ไม่รู้ซึ้งถึงความนัยอันลุ่มลึกในโอวาทของบิดาลูกสะใภ้ ที่กล่าวสอนนางมา แล้วกลับมานั่งจับผิดต่อนาง มิคารเศรษฐีจึงบังเกิดความละอายเอาแต่นั่งก้มหน้าโดยไม่โต้เถียงใดๆ

ครั้งนั้น กุฎุมพีทั้งหลาย ถามเศรษฐีนั้นว่า

“ท่านเศรษฐี โทษอย่างอื่นแห่งธิดาของพวกข้าพเจ้า ยังมีอยู่หรือ?”

มิคารเศรษฐีละล่ำละลักโบกไม้โบกมือ ส่ายหัวพร้อมกล่าวว่า : ไม่..ไม่มี..ไม่มีแล้ว

กุฏุมพี : เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุไร ท่านจึงให้ขับไล่ นางผู้ไม่มีความผิด ออกจากเรือน โดยไม่มีเหตุเหล่า?

เมื่อกุฏุมพีทั้งหลาย พูดอย่างนั้นแล้ว นางวิสาขาได้พูดว่า

“พ่อทั้งหลาย การที่ดิฉันไปก่อนตามคำของพ่อผัว ไม่สมควรเลย ก็จริง แต่ในเวลาจะมา คุณพ่อของดิฉัน ได้มอบดิฉันไว้ในมือของพวกท่าน เพื่อต้องการชำระโทษของดิฉัน ก็ความที่ดิฉันไม่มีโทษ ท่านทั้งหลายทราบแล้ว บัดนี้ ดิฉันควรไปได้”

นางพูดดังนี้แล้ว จึงสั่งคนใช้หญิงชายทั้งหลายว่า

“พวกเจ้าจงไปช่วยกันเก็บข้าวของ ทรัพย์สมบัติ ยานพาหนะให้กับเราด้วย.”

เวลานั้นมิคารเศรษฐีจึงลุกขึ้นยึดกุฎุมพีเหล่านั้นไว้ แล้วกล่าวกะนางว่า

“แม่ ฉันไม่รู้ พูดไปแล้ว ยกโทษให้ฉันเถิด.”

วิสาขา : คุณพ่อ ดิฉันยกโทษที่ควรยกให้แก่คุณพ่อได้โดยแท้ แต่ดิฉันเป็นธิดาของตระกูลผู้มีความเลื่อมใสอันไม่ง่อนแง่น ในพระพุทธศาสนา พวกดิฉันเว้นภิกษุสงฆ์แล้ว เป็นอยู่ไม่ได้ หากคุณพ่อต้องการให้ดิฉันอยู่ที่นี้ ดิฉันก็ขอโอกาสบำรุงภิกษุสงฆ์ตามความพอใจของดิฉัน ดิฉันจึงจักอยู่.

มิคารเศรษฐี : แม่ เจ้าจงบำรุงพวกสมณะของเจ้า ตามความชอบใจเถิด

ผู้มีสัมมาทิฐิ มีปัญญา ย่อมแก่ปัญหาได้โดยไม่สร้างปัญหาใหม่มาเพิ่ม ชนเหล่าใดหากสั่งสมอบรมสัมมาทิฐิอยู่เนืองๆ อย่างต่อเนื่องย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงในทุกสิ่งรอบกายและภายในกาย

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0eVsSDTSBfTRreEyGqzK8iLwKQwNsAPr8AaXS8TcygpM1sVdpjGaTiJRQM6TzAibMl