ประวัตินางวิสาขาอุบาสิกา (มหาอุบาสิกาเลิศในผู้ถวายทาน) (ตอนที่ ๒)
๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่ พระราชาปเสนทิโกศลได้พระราชทานที่ดินว่างเปล่า เป็นป่ารกร้าง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากพระนครสาวัตถีไป ๗ โยชน์ ให้แก่ธนญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ตระกูลเศรษฐีผู้มั่งคั่ง แห่งนครพาราณสีของพระราชาพิมพิสาร
เมื่อสร้างบ้านแปงเมืองเรียบร้อยแล้ว พระราชาปเสนทิโกศล จึงพระราชทานนามให้ว่า เมืองสาเกต อันหมายถึง เมืองที่มีเศรษฐีมาจับจอง
ต่อมา ณ กรุงสาวัตถี บุตรของมิคารเศรษฐี ชื่อปุณณวัฒนกุมารเจริญวัยแล้ว ขณะนั้น บิดาของเขารู้ว่า บุตรของเราเจริญวัยแล้ว เป็นเวลาสมัยที่จะผูกพันด้วยการครองเรือน ครั้งนั้น มารดาบิดากล่าวกะเขาว่า “พ่อ เจ้าจงเลือกเด็กหญิงคนหนึ่งอันเป็นที่ชอบใจของเจ้า.”
ปุณณวัฒน จึงได้ตอบแก่บิดาตนไปว่า ความกระสันอยากมีภริยาเห็นปานนั้น ของผมไม่มี.
มารดาบิดา จึงกล่าวว่า เจ้าอย่าทำอย่างนี้ ลูก ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตรตั้งอยู่ไม่ได้.
ปุณณวัฒนกุมารนั้นเมื่อถูกมารดาบิดาพูดรบเร้าอยู่ จึงกล่าวว่า
“ถ้ากระนั้น ลูกควรเลือกคัดสรรให้ได้หญิงสาวอันประกอบพร้อมด้วยความงาม ๕ อย่าง ลูกจึงจักทำตามคำของท่านพ่อท่านแม่.”
มารดาบิดาจึงถามว่า ก็ชื่อว่าความงาม ๕ อย่างที่เจ้าว่ามานั้น มีอะไรบ้างเล่า? ลูกเอ๋ย
ปุณณวัฒนกุมารตอบว่า
๑. ผมงาม คือ หญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น
๒. เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี
๓. กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน
๔. ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดัง ดอกกรรณิกา
๕. วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจ คลอดครั้งเดียว
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายปุณณวัฒนกุมารนั้น เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาให้บริโภคโภชนียาหารแล้วถามว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ หญิงที่ชื่อว่าต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี มีอยู่หรือ?”
พราหมณ์เหล่านั้น ตอบว่า “จ้ะ มีอยู่.”
เศรษฐีกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น พวกท่าน ๘ คนจงได้โปรดเมตตาแสวงหาหญิงเช่นนั้น มาให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อยกเธอขึ้นเป็นสะใภ้ของตระกูล” ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์เป็นอันมากแก่พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ พร้อมกับสั่งว่า
“ในเวลาที่พวกท่านกลับมาพร้อมกับหญิงที่มีคุณสมบัติทั้ง ๕ เช่นนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจักตอบแทนคุณท่านอย่างดียิ่ง ท่านทั้งหลายจงไปเถิด จงแสวงหาหญิงที่มีคุณนั้นมา หากพวกท่านพบแล้ว พึงประดับพวงมาลัยทองคำนี้แก่หญิงนั้น” แล้วมิคารเศรษฐีจึงให้พวงมาลัยทองคำอันมีราคาแสนหนึ่ง ส่งพวกพราหมณ์นั้นไป
พราหมณ์เหล่านั้น ไปยังนครใหญ่ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ แสวงหาอยู่หลายเดือน ก็ไม่พบหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี จึงกลับมาถึงเมืองสาเกตโดยลำดับ ในวันนั้นเมืองสาเกตมีงานนักขัตฤกษ์เปิดเผย (หมายเหตุ นักขัตฤกษ์เปิดเผย เป็นงานประจำปีของนครสาเกต ในงานนี้ชาวเมืองทุกคนเผยร่างโดยปราศจากผ้าคลุมปิดหน้า เดินเท้าไปยังแม่น้ำ) ด้วยความคิดที่ว่า
“การงานของพวกเราคงสำเร็จได้ในวันนี้เป็นแน่”
ก็ในนครนั้น ชื่อว่างานนักขัตฤกษ์ย่อมมีประจำทุกปี
ในกาลนั้นแม้กระกูลที่ไม่ออกภายนอก ก็ออกจากเรือนกับบริวาร มีร่างกายมิได้ปกปิด ให้มิดชิด เช่น ไม่โพกหัวสำหรับผู้ชาย ไม่ปิดหน้าสำหรับผู้หญิง แล้วพากันเดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำด้วยเท้าเปล่า
ในเวลานั้นมีบรรดาบุตรหลานของตระกูลขัตติยมหาศาลทั้งหลายเป็นต้น มายืนแอบซุ่มดูสาวๆ ตามข้างทางด้วยตั้งใจว่า จะได้พบหญิงตระกูลที่ตนพึงใจ มีชาติเสมอด้วยตนแล้วจะคล้องด้วยพวงมาลัย
พราหมณ์เหล่านั้น เข้าไปถึงศาลาแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำแล้วได้ยืนอยู่ ขณะนั้นนางวิสาขา มีอายุย่างเข้า ๑๕–๑๖ ปี ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง มีเหล่ากุมารี ๕๐๐ คนแวดล้อมกำลังมุ่งหน้าไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ
ครั้งนั้นแล เมฆตั้งเค้าขึ้นแล้วฝนก็ตกลงมา เด็กหญิง ๕๐๐ ก็รีบเดินเข้าไปสู่ศาลา
พวกพราหมณ์พิจารณาดูอยู่ ก็ไม่เห็นหญิงที่มีลักษณะเบญจกัลยาณี แม้แต่คนเดียว ส่วนนางวิสาขา เมื่อฝนตกลงมา นางจึงเดินเข้าไปยังศาลา ดุจดังฝนมิได้ตก ผ้าและอาภรณ์ของนางก็เปียกโชก
พวกพราหมณ์เห็นความงาม ๔ อย่างของนางแล้ว ประสงค์จะเห็นฟัน จึงกล่าวแก่กันและกันว่า
“หญิงผู้เฉื่อยชานี้ นางคงหาสามีไม่ได้ ด้วยเพราะเฉื่อยชา ล่าช้า จนทำนาไม่ได้แม้ข้าวติดก้นเกวียน”
นางวิสาขาได้ยินดังนั้นจึงพูดกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า “พวกท่านว่าใครกัน.”
พราหมณ์ : ว่าเธอ ล่ะแม่เอ๋ย
ได้ยินว่า เสียงอันไพเราะของนาง เปล่งออกประหนึ่งเสียงกังสดาล ลำดับนั้น นางจึงถามพราหมณ์เหล่านั้นด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า “เพราะเหตุไร? จึงว่าดิฉัน.”
พราหมณ์ : หญิงบริวารของเธอ ไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับเปียกรีบเดิน รีบวิ่งเข้าสู่ศาลา กิจแม้เพียงการรีบมาสู่ที่ประมาณเท่านี้ของเธอก็มิได้มี เธอปล่อยให้ผ้าและเครื่องอาภรณ์เปียกมากจนตัวชุ่มไปด้วยน้ำฝน เพราะฉะนั้น พวกเราจึงพากันว่าเธอเฉื่อยชา ล่าช้า แม้ทำนา ก็จักไม่ได้ข้าวพอกิน
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้ ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงเหล่านั้น แต่ฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่มาโดยเร็ว.
พราหมณ์ : เหตุอะไร? แม่คุณ
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวก เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม เหตุอันหนึ่ง แม้เหตุอื่นอีก ยังมีอยู่.
พราหมณ์ : ชน ๔ จำพวก เหล่าไหน? เมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม แม่
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เมื่อถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวงย่อมไม่งาม ย่อมได้ความครหาเป็นแน่นอนว่า ทำไม พระราชาองค์นี้จึงวิ่งเหมือนคฤหบดี ค่อย ๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม
แม้ช้างมงคลของพระราชา ประดับแล้ว วิ่งไป ก็ไม่งาม ต่อเมื่อเดินไปด้วยลีลาแห่งช้าง จึงจะงาม
บรรพชิต เมื่อวิ่ง ก็ไม่งาม ย่อมได้แต่ความครหาอย่างเดียวเท่านั้นว่า ‘ทำไม สมณะรูปนี้ จึงวิ่งไปเหมือนคฤหัสถ์ แต่ย่อมงาม ด้วยการเดินอย่างอาการของผู้สงบเสงี่ยม
สตรีเมื่อวิ่งก็ไม่งาม ย่อมถูกเขาติเตียนอย่างเดียวว่า ‘ทำไม หญิงคนนี้ จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย แต่ย่อมงามด้วยการเดินอย่างธรรมดา พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวกเหล่านั้นเมื่อวิ่งไป ย่อมไม่งาม.
พราหมณ์ : ก็เหตุอื่นอีกอย่างหนึ่ง เป็นไฉน? แม่.
วิสาขา : พ่อทั้งหลาย ธรรมดามารดาบิดา ถนอมอวัยวะน้อยใหญ่เลี้ยงดูธิดา เพราะว่า พวกฉัน ชื่อว่าเป็นสิ่งของอันมารดาบิดาพึงขาย มารดาบิดาเลี้ยงฉันมา ก็เพื่อต้องการจะส่งไปสู่ตระกูลอื่น ถ้าว่า ในเวลาที่พวกฉันวิ่งไป เหยียบชายผ้านุ่งหรือลื่นล้มลงบนพื้นดิน มือหรือเท้าก็จะพึงหัก พวกฉันก็จะพึงเป็นภาระของตระกูลนั้นแล ส่วนเครื่องแต่งตัว เปียกแล้วก็จักแห้ง ดิฉันกำหนดเหตุนี้ จึงไม่วิ่งไปไงล่ะพ่อ.
พวกพราหมณ์เห็นความถึงพร้อมแห่งฟันอันงดงามในเวลานางพูด จึงให้สาธุการแก่นางว่า “สมบัติเช่นนี้ พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย”
แล้วกล่าวว่า “แม่ พวงมาลัยทองคำนี้ สมควรแก่เธอเท่านั้น” ดังนี้แล้ว จึงได้คล้องพวงมาลัยทองนั้นให้แก่นางวิสาขากุมาริกา
ลำดับนั้น นางจึงถามพวกเขาว่า “พ่อทั้งหลาย พวกท่านมาจากเมืองไหน?
พราหมณ์ : จากเมืองสาวัตถีจ้ะ แม่คุณ
วิสาขา : ตระกูลเศรษฐี ชื่อไร? เป็นเจ้าของพวงมาลัยสุวรรณนี้
พราหมณ์ : ชื่อมิคารเศรษฐีจ้ะ แม่คุณ
วิสาขา : บุตรของท่านเศรษฐี ชื่อไร?
พราหมณ์ : ชื่อปุณณวัฒนกุมารจ้ะ แม่.
นางวิสาขานั้น รับรองว่า “ตระกูลของเรา เสมอกัน” ดังนี้แล้ว จึงส่งข่าวไปแก่บิดาว่า “ขอคุณพ่อและคุณแม่ จงส่งรถมาให้พวกดิฉัน.”
ก็ในเวลามา นางเดินมาจริง ถึงอย่างนั้น นับแต่เวลาที่ประดับด้วยมาลัยทองคำแล้ว ย่อมไม่เหมาะที่จะเดินไปเช่นนั้น และบิดาของนางวิสาขานั้นก็ส่งรถไป ๕๐๐ คัน พร้อมบริวาร นางวิสาขานั้นกับบริวารขึ้นรถไป พวกพราหมณ์ทั้งแปดก็ได้ไปหาเศรษฐีบิดามารดาของนางด้วยกัน
ที่นั้น ท่านเศรษฐี ถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า “พวกท่านมาจากไหน?”
พราหมณ์ : มาจากเมืองสาวัตถี ท่านมหาเศรษฐี.
เศรษฐี : เจ้าของพวงมาลาทองคำนี้เป็นเศรษฐีชื่อไร?
พราหมณ์ : ชื่อปุณณวัฒนกุมาร.
เศรษฐี : ทรัพย์มีเท่าไร?
พราหมณ์ : ๔๐ โกฏิ ท่านมหาเศรษฐี
เศรษฐีรับคำ ด้วยคิดว่า “ทรัพย์เท่านั้น หากจะมาเทียบทรัพย์ของเรา ก็เท่ากับกากณึกเดียว แต่ไม่มีประโยชน์ที่จะคิดในเรื่องอื่น นอกจากเรื่องที่บุตรสาวของเราได้มีผู้ดูแล” เศรษฐีนั้นทำสักการะแก่พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว ให้พักในปราสาทของท่านอยู่วัน ๒ วัน แล้วก็ส่งกลับ
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
——————————————–