ประวัติพระเขมาเถรี (ตอนที่ 1)

0
50

ประวัติพระเขมาเถรี (ตอนที่ ๑)
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖

พระนางเขมาเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าสาคลราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมัททะ เมืองมัทราษฎร์ ในรัฐปัญจาปตอนกลาง เพราะพระนางมีพระกายเขียวคล้ายปีกแมลงทับ จึงได้พระนามว่า “เขมา” พระนางมีรูปโฉมสวยงาม พระฉวีวรรณผุดผาดเปล่งปลั่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระนางทระนง เย่อหยิ่งมากในความเป็นผู้มีรูปสมบัติอันงดงามของตน เมื่อเจริญพระชันษาแล้วพระนางได้อภิเษกสมรสเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

ในเวลานั้นพระบรมศาสดา ทรงเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์นั้น พระนางได้สดับ ข่าวว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษในรูปสมบัติ และเพราะความที่พระนางเป็นผู้หลงมัวเมาในรูป โฉมของตนเอง จึงไม่กล้าไปเข้าเฝ้าพระทศพล ด้วยเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษ ในรูปโฉมของตน

ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงดำริว่า “เราเป็นอัครอุปัฏฐากของพระบรมศาสดา แต่อัครมเหสี ของอริยสาวกเช่นเรานี้ กลับไม่ไปเฝ้าพระทศพล ข้อนี้เราไม่ชอบใจเลย” ดังนั้น พระองค์จึงคิด หาอุบาย ด้วยการให้พวกนักกวีผู้ฉลาด แต่บทกวีประพันธ์ ถึงคุณสมบัติความงดงาม ของพระวิหาร เวฬุวันราชอุทยานแล้ว รับสั่งให้นำไปขับร้องใกล้ ๆ ที่พระนางเขมาเทวีประทับ เพื่อให้ทราบ ในความงดงาม สงบเย็น ร่มรื่น เป็นที่รมณียสถาน เหมาะแก่การได้พักผ่อน อยู่อาศัยของเวฬุวนาราม

ต่อมาเมื่อพระนางได้สดับคำพรรณนา ความงดงามของพระราชอุทยานเวฬุวันแล้ว ก็มีพระประสงค์จะ เสด็จไปชม จึงเข้าไปกราบทูลขอพระราชาผู้สามี ซึ่งท้าวเธอก็ทรงยินดีให้เสด็จไป ตามพระประสงค์ เมื่อพระนางได้เสด็จเยี่ยมชมพระราชอุทยาน จนสิ้นวันแล้ว ใคร่จะเสด็จกลับ พวกราชบุรุษทั้งหลายได้ออกอุบายชักชวนให้เสด็จไปเยี่ยมชมบริเวณพระวิหารอันโอฬารที่งดงามยิ่งกว่า ที่พระนางทรงทอดพระเนตรอยู่ในขณะนี้

พระนางจึงเสด็จมาจนถึงพระวิหารที่ประทับของพระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระนาง กำลังเสด็จมา จึงทรงเนรมิตนางเทพอัปสร นางหนึ่ง ซึ่งกำลังถือพัดก้านใบตาล ถวายงานพัดให้พระองค์อยู่เบื้องหลัง พระนางเขมาเทวี เห็น นางเทพอัปสรนั้นแล้ว ถึงกับตกพระทัยดำริว่า

“แย่แล้วสิเรา สตรีที่งามปานเทพอัปสร เห็นปานนี้ ยืนถวายงานพัดอยู่ด้านข้างพระทศพล ความงดงามของเทพธิดาเห็นปานนี้ แม้เราจะเป็นปริจาริกา หญิงรับใช้ของนาง ก็ยังไม่คู่ควรเลย ดูหรือชั่วชีวิตของเราเฝ้าหลงงมงายอยู่แต่ในรูปที่ตนคิดว่างดงามหาหญิงใดในปฐพีทัดเทียมได้ แต่วันนี้เราได้มาเห็นหญิงที่งดงามกว่าเราเป็นร้อยเท่า พันเท่า ทำให้เรารู้ว่า ที่ผ่านมาเราตกอยู่ในอำนาจของจิตที่มีอารมณ์หลงมัวเมา ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในรูปของตนที่ไม่มีอยู่จริงเช่นนี้ตลอดมา”

พระนางยืนทอดพระเนตร เพ่งดูสตรีนั้นอยู่ ในขณะนั้นเอง พระบรมศาสดา ทรงทราบวาระจิตของพระนางเขมา จึงได้ทรงอธิษฐานให้สตรีจำแลงนั้น มีสรีระเปลี่ยนแปลง ล่วงเลยจากปฐมวัย แล้วย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย ล่วงจากมัชฌิมวัย แล้วย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย จนกลายเป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหัก แก่หง่อม แล้วล้มลงพร้อมกับ พัดใบตาลที่นางถือคอยอยู่ไม่ไหวนั้น

พระนางเขมาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้น โดยตลอดแล้ว จึงดำริว่า

“สรีระที่ สวยงามเห็นปานนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ได้ แม้สรีระของเรา ที่ชั่วช้ากว่าก็จักคงหลีกไม่พ้นจากสภาพเปลี่ยนแปลง คร่ำคร่า เสื่อม แก่ชรา และวิบัติ ดุจดังหญิงรูปงามนางนี้เป็นแน่”

ขณะที่พระนางกำลังมีพระดำริอย่างนี้อยู่นั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตรัส พระคาถาภาษิตว่า

“ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปในกระแสราคา เหมือนแมลงมุมตกไปในข่ายใยที่ตนทำเอาไว้ดักตนเอง เมื่อชนเหล่านั้น ตัดกระแสนั้นได้ โดยไม่มีเยื่อใยแล้วละกามสุขเสียได้ ย่อมหลีกออกจากกาม เพื่อแสวงหาวิโมกธรรม”

เมื่อจบพระพุทธดำรัสคาถาภาษิตแล้ว พระนางเขมาเทวี ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อม ด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในอิริยาบถที่ประทับยืนอยู่นั่นเอง

นี่คือตัวอย่างของผู้มีทัสสนานุตริยะวิสุทธิ ความเห็นอันประเสริฐ จนเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์สูงสุดของความเป็นมนุษย์

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02vc3ZRd2NPqXB2EYC6B4gH2z8w98CpbArQo5t62z7XH4AJJkC8QDZRaTzYbEGzYb2l