พระกังขาเรวตะ (ตอนที่ 3)

0
47

พระกังขาเรวตะ (ตอนที่ ๓)
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

ความเดิมตอนที่แล้ว

นางเปรตมารดาของอุตตรมาณพ ได้มาขอร้องให้พระกังขาเรวตะช่วยให้น้ำนางดื่มหน่อย ด้วยเพราะเวรกรรมที่นางทำไว้ในอดีตที่นางขัดขวางและสาปแช่งบุตรชาย ให้ได้รับผลจากการบริจาคทานของบุตรชาย กลายเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง ในภพชาติต่อไป

ต่อมาด้วยผลกรรมนั้น นางจึงมาเกิดเป็นเปรต อดยาก แม้น้ำนางก็กินเองไม่ได้ น้ำนั้นจักกลายเป็นน้ำเลือด น้ำหนองไปในทันที ที่นางดื่มน้ำ

จนต่อมาพระเถระได้กรุณาอนุเคราะห์แก่นางเปรต จนทำให้นางพ้นจากทุคติภพได้ในที่สุด

ในกาลต่อมา ท่านพระกังขาเรวตะท่านได้ฝากจีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งไปถวายให้ท่านพระสารีบุตร พร้อมสั่งว่า จงถวายจีวรผืนนี้แก่พระเถระ ขณะที่ภิกษุรูปนั้นเดินทาง จึงได้ถือวิสาสะเอาจีวร นั้นไปใช้เสียเอง

กาลต่อมา ท่านพระกังขาเรวตะมาพบท่านพระสารีบุตร จึงเรียนถามว่า ผมได้ฝากจีวรมาถวายพระเถระ พระเถระได้รับจีวรนั้นแล้วหรือยังขอรับ?

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ผมยังไม่เห็นจีวรนั้นเลย คุณ

ท่านพระเรวตะจึงได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส ผมฝากจีวรมาแก่ท่านให้ถวายพระเถระ แล้วไหนหละจีวรนั้น?

ภิกษุนั้นตอบว่า ผมได้ถือเอาจีวรนั้นไปใช้เสียแล้ว เพราะถือวิสาสะ เห็นว่าท่านกับผมก็เป็นคนคุ้นเคยกัน ขอรับ

ภิกษุทั้งหลายพอได้ทราบจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสชี้ให้เห็นคุณและโทษ ดังต่อไปนี้:

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งไปแล้ว สั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้นั้นรับฝากจีวรนั้นมาแล้วถือเอาเสียในระหว่างทาง เพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ภิกษุผู้ที่จะรับจีวรนั้นได้ถึงแก่มรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของตน ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้องแล้ว ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อว่า ถือเอาไม่ถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ภิกษุผู้รับจีวรนั้นได้ถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดก คือ ตายยกให้ ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา ถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้งสองรูป คือ ผู้ฝากและผู้รับผากได้ถึงมรณภาพเสียแล้ว จึง อธิษฐานเป็นมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐาน ไม่ถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้ฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้ฝากถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐานเป็น จีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้รับถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอา ไม่ถูกต้อง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปแล้วสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้งสองรูปถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐาน ถูกต้อง

ครั้นเมื่อพระกังขาเรวตะท่านได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว โดยมากท่านมักจะเข้าสมาบัติอยู่เป็นอาจิน เป็นผู้มีชำนาญในฌานทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน พิจารณาอยู่ ซึ่งกังขาวิตรณวิสุทธิ ของตน คือความบริสุทธิ์ด้วยหมดสงสัยในนามรูป ซึ่งสามารถกำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ว่า เพราะอะไรเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

เพราะเหตุที่ท่านมีความสงสัยเป็นปกติมานาน ท่านจึงนั่งพิจารณาอริยมรรคที่ตนบรรลุแล้วนั้น ให้หนักแน่นว่า เราละความสงสัยเหล่านี้ได้เด็ดขาด เพราะอาศัยมรรคธรรมนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ในสมัยนั้น ท่านพระกังขาเรวตะนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่นัก พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระกังขาเรวตะ นั่งพิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ จึงได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า

“ความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดในอัตภาพนี้ หรือในอัตภาพอื่น ในความรู้ของตน หรือในความรู้ของผู้อื่น บุคคลผู้เพ่งพินิจ มีความเพียร ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ย่อมละความสงสัยเหล่านั้นได้ทั้งหมด”

ต่อมาภายหลังพระศาสดาทรงถือเอาคุณอันนี้ ทรงสถาปนาท่านไว้ใน ตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เพ่งฌาน

ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

ทีนี้เราท่านทั้งหลายลองมาตามดูอดีตชาติของท่านกังขาเรวตะกันต่อ

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ แห่งกรุงหังสวดี ครั้นเติบใหญ่เรียนจบไตรเพทแล้ว วันหนึ่งท่านได้ไปยังสำนักของพระปทุมมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้เพ่งในฌาน จึงคิดว่าอยากเป็นอย่างนั้นในอนาคตบ้าง

ท่านได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ครั้นเมื่อครบ ๗ วันแล้ว จึงตั้งความปรารถนาของตนกับพระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ๗ วันก่อนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงได้สถาปนาภิกษุองค์ใดไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้เพ่งในฌาน ในอนาคตกาล ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้น คือ พึงเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้เพ่งในฌาน ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมมุตตระ ทรงตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณแล้ว ทรงทราบว่าความปรารถนาของเขาจักสำเร็จผล จึงทรงพยากรณ์ว่า ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่ากังขาเรวตะ ท่านจักได้เป็นผู้เลิศในการเพ่งฌาน นี้สมดังความปรารถนา ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วเสด็จกลับ

เขาได้ทำบุญไว้เป็นอันมากจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ครั้งถึงพุทธกาลแห่งองค์พระบรมศาสดา สมณโคดมนี้จึงได้จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในมนุษยโลก ในตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า “เรวตะ” เป็นผู้มีศรัทธา ในพระพุทธศาสนา

ในคราวที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระนครกบิลพัสดุ์ ท่านได้ไปยืนฟังธรรมกถาของพระทศพลอยู่ท้ายกลุ่มของพุทธบริษัทในพระวิหาร ได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ขอบรรพชา แล้วบรรลุพระอรหันต์พร้อมได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้เพ่งฌานเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย

สมดังพุทธภาษิตที่ทรงตรัสว่า

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ

บุคคลล่วงทุกข์ได้ เพราะความเพียร

ผู้มีความเพียรตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมนำความสำเร็จมาให้

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0KfkG7KBaUQRhpCHWLTbmDb7DVrJVZnQfdAzWJsum7ytwjFWY1GYKM5VUuSbdWCzal