พระกังขาเรวตเถระ (ตอนที่ 1)

0
37

พระกังขาเรวตเถระ (ตอนที่ ๑)
๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

พระกังขาเรวตะ เป็นบุตรเศรษฐี เกิดในตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นอันมากในพระนครสาวัตถี เดิมชื่อว่า “เรวตะ” เป็นผู้มีศรัทธา ในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมิเคยเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกถามาก่อนเลย คงเป็นด้วยอุปนิสัยวาสนาบารมีเก่าส่งเสริม

ต่อมาได้เห็นอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ถือดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะและของหอมไปยังพระเชตวันมหาวิหาร จึงติดตามไปด้วยแล้วนั่งอยู่ท้ายสุดของหมู่พุทธบริษัท เพราะตนเองเป็นผู้ใหม่ จึงนั่งรอเวลาที่พระบรมศาสดาจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา

โดยปกติธรรมดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทุกครั้งก่อนที่พระองค์จะแสดงธรรม จะทรงพิจารณาตรวจดูอุปนิสัยของพุทธบริษัทที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นว่าผู้ใดมีบุญวาสนาบารมีสั่งสมบารมี ซึ่งพอจะเป็นปัจจัยส่งผลให้บรรลุคุณธรรมพิเศษบ้างหรือไม่ พร้อมทรงพิจารณาว่าธรรมหมวดไหนเหมาะสมแก่ผู้ฟังนั้นๆ

เมื่อทรงพิจารณาไปโดยรอบ ก็ทอดพระเนตรเห็นเรวตมาณพ เข้าสู่ข่ายพระญาณของพระองค์ว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยบารมีสั่งสมมาดีแต่อดีตชาติ สามารถจะบรรลุมรรคผลได้

จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา เพื่อขัดเกล่าอุปนิสัยให้สะอาดปราศจากความยินดีในกามคุณที่เคยบริโภคใช้สอยมาก่อนใจความในอนุปุพพิกถา คือ ถ้อยคำที่กล่าวไปโดยลำดับ ๕ ประการ คือ

๑. ทานกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการบริจาคทาน

๒. สีลกถา กล่าวถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย

๓. สัคคกถา กล่าวถึงเรื่องสวรรค์อันอุดมด้วยทิพยสมบัติ

๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหตุนำทุกข์มาให้

๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการออกบวชว่า เป็นอุบายที่จะให้บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข

เมื่อจบพระธรรมเทศนา เรวตมาณพก็เกิดศรัทธาแก่กล้ายิ่งขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบทในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบทให้ตามความประสงค์

ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้วปลีกตัวอยู่ในสถานที่อันสงบสงัด อุตสาห์บำเพ็ญเพียรพระกรรมฐานจนได้บรรลุโลกิยฌาน แล้วทำฌานที่ได้แล้วนั้น ให้เป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนา ไม่ช้านักท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลส เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

พระเรวตะนั้น ภายหลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นภิกษุปุถุชนยังมิได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อท่านได้รับกัปปิยวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ สิ่งใด ๆ มาแล้ว ท่านมักจะคิดกังขาคือสงสัยก่อนเสมอว่า ของสิ่งนี้เป็นของถูกต้องพุทธบัญญัติ สมควรแก่บรรพชิตที่จะใช้สอยหรือไม่ ทั้งในสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ (กัปปิยะ= เป็นของควร, อกัปปิยะ = เป็นของไม่ควร)

เมื่อท่านพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นของที่บรรพชิตบริโภคใช้สอยได้ไม่ผิดพระวินัย ท่านจึงใช้สอยของสิ่งนั้น

ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มักสงสัยอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น คำว่า“กังขา” จึงถูกเรียกรวมกับชื่อเดิมของท่านว่า “กังขาเรวตะ หมายถึง พระเราวตะผู้ชอบสงสัย”

แม้ว่าภายหลังท่านได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นกิเลสอันเป็นเหตุแห่งวิจิกิจฉา คือความลังเล สงสัยแล้วก็ตาม นามว่ากังขาเรวตะ ก็ยังเป็นที่เรียกขานของเพื่อนสหธรรมิกอยู่ตลอดไป

อีกทั้งท่านยังเป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยอยู่หลายเรื่องเช่น

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ ท่านพระกังขาเรวตะได้แวะเข้า โรงทำงบน้ำอ้อยในระหว่างทาง เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย จึงรังเกียจว่า งบน้ำอ้อยเจืออามิส เป็นอกัปปิยะ ไม่ควรจะฉันในเวลาวิกาล ดังนี้ จึงพร้อมด้วยบริษัทผู้ติดตามไม่ยอมฉันงบน้ำอ้อยนั้น แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำท่านก็พลอยไม่ฉันงบน้ำอ้อยไปด้วย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์อะไร?

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนทั้งหลายผสม แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น งบน้ำอ้อยนั้นก็นับว่าเป็นงบน้ำอ้อยอยู่ดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อยแม้มีส่วนผสมของแป้งบ้าง เถ้าบ้างก็ตาม

ครั้งหนึ่ง ท่านพระกังขาเรวตะ ได้เห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระ ณ ระหว่างทาง แล้วรังเกียจว่า ถั่วเขียวเป็นอกัปปิยะ แม้ต้มแล้วก็ยังงอกได้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังคำของท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวนั้นตามไปด้วย

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้ม แล้วก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวได้ตามกาลที่กำหนด

กาลต่อมา เมื่อพระศาสดาทรงเสด็จปรินิพพานแล้ว หมู่สงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ดำริให้คณะสงฆ์ทำปฐมมหาสังคายนา คือ รวบรวม จัดพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ และแบ่งออกเป็น ๓ ปิฎก หรือ ๓ ตะกร้า อันได้แก่ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก ขึ้นสำเร็จแล้ว

กาลต่อมา ท่านพระมหากัจจายนะ พร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูป อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงโกสัมพี

ก็สมัยนั้น อำมาตย์ คนหนึ่งของพระเจ้าอุเทน ได้สิ้นชีวิตลง ก่อนที่จะสิ้นชีวิต อำมาตย์นั้นได้มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องราวต่างในพระนคร

ครั้นอำมาตย์นั้นสิ้นชีวิตลง พระราชาจึง รับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพผู้เป็นบุตรของอำมาตย์นั้นมา แล้ว ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเดียวกับที่บิดาเคยดำรงอยู่ รับสั่งว่า เจ้าจงดูแลการงาน ให้เหมือนกับที่บิดาเจ้าได้จัดการไว้

อุตตรมาณพนั้น รับพระดำรัสแล้ว วันหนึ่ง ได้พานายช่างทั้งหลายไปในป่า เพื่อเสาะหาไม้ไว้สำหรับซ่อมแซมพระนคร จึงเข้าไปยัง ที่อยู่ของท่านพระมหากัจจายนะ

ในที่นั้น ได้แลเห็นพระมหากัจจายนะเถระผู้ทรงบังสุกุลจีวร นั่งสงบเงียบอยู่ในที่นั้น ก็บังเกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถ จึงได้กระทำปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

พระเถระได้แสดงธรรมแก่อุตตรมาณพนั้น เมื่อได้สดับธรรมแล้วอุตตรมาณพนั้นก็เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงตั้งอยู่ในสรณะ แล้วนิมนต์พระเถระด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายจงรับภัตตาหารเพื่อจะฉันในวันพรุ่งนี้ ด้วยความอนุเคราะห์แก่กระผมด้วยเถิด.

พระเถระรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เธอกลับจากที่นั้นแล้วไปยังพระนคร และได้บอกแก่อุบาสกกลุ่มอื่นๆ ว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระเถระเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายร่วมนำอาหารมายังโรงทานของข้าพเจ้า เพื่อถวายแก่หมู่พระสงฆ์เถิด

ครั้นรุ่งขึ้น ได้เวลาถวายภัตตาหาร เวลาเช้าตรู่ อุตตรมาณพและบริวารจัดอาหารอันประณีต แล้วไปแจ้งให้พระเถระทราบ เมื่อพระเถระทั้งหลายมาถึง ก็จัดแจงกระทำการต้อนรับ นิมนต์ให้ขึ้นเรือน

พระเถระและภิกษุทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ลาดด้วยเครื่องปูลาดอันวิจิตรเป็นของมีค่ามาก ทำการบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และธูป พร้อมถวายภัตตาหารแด่พระเถระทั้งหลายแล้ว

เมื่อพระเถระพร้อมหมู่สงฆ์กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงกล่าวอนุโมทนา อุตตรมาณพจึงถือบาตรตามส่งพระเถระและหมู่สงฆ์ออกจากนคร เมื่อจะกลับ ก็ปวารณานิมนต์พระเถระให้มารับภัตต์ที่เรือนของเขาเป็นนิตย์

เขาอุปัฏฐากพระเถระอยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ฟังธรรมของท่านจนได้บรรลุพระโสดาปัตติผล และได้สร้างวิหารถวาย ทั้งกระทำให้ญาติ ของตนทั้งหมดเลื่อมใสในพระศาสนา

ยังมีก็แต่มารดาของอุตตรมาณพที่มิได้มีจิตเลื่อมใสในพระศาสนา ด้วยเพราะนิสัยตระหนี่ เห็นบุตรชายชอบบริจาคทานจนสิ้นเปลืองเงินทองไปมากมาย นางจึง ได้บริภาษบุตรชายทุกวันว่า เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ สิ่งนั้นจงกลายเป็นโลหิตตอบแทนแก่เจ้าในปรโลก

ในเวลาต่อมา เมื่อบุตรชายได้สร้างวิหารถวายแก่หมู่สงฆ์สำเร็จแล้ว ทำพิธีฉลอง ชนทั้งหลายจึงได้พากันนำเครื่องบูชามาถวายแด่พระเถระมากมาย แต่มารดาของอุตตรมาณพกลับถวายหางนกยูงกำหนึ่งเท่านั้นในวันฉลองวิหาร

กาลต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตลง นางก็ไปเกิดเป็นเปรต แต่เพราะนางอนุโมทนาทานด้วยหางนกยูงหนึ่งกำ เปรตตนนั้นจึงมีเส้นผมยาวสลวย สวยงดงามดำสนิท

แต่นางกลับมีร่างกายที่เปลือยเปล่า ผอมแห้ง อดยาก ทุกข์ยาก หิวกระหายอยู่ตลอดเวลา ได้รับทุกข์เวทนาอย่างที่สุด คราวที่นางจะดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา ด้วยอกุศลกรรมที่นางตำหนิในทานของบุตรชาย น้ำนั้นจึงกลับกลายเป็นเลือดและหนองไปด้วยอกุศลกรรม ที่นางได้กระทำไว้ นางเปรตตนนั้นถูกความหิวกระหายครอบงำ เที่ยวไปสิ้นเวลา ๕๕ ปี

วันหนึ่ง นางเปรตตนนั้นได้ซัดเซพเนจรมาจนได้เห็น พระกังขาเรวตเถระนั่งพักกลางวัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา จึงเอาผมของตนปิดบังกายเข้าไปหาพระเถระ พร้อมร้องขอน้ำดื่มจากพระกังขาเรวตเถระ

พระเถระกล่าวว่า :-ท่านก็จงตักเอาน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอเราดื่มไปทำไม

นางเปรตกล่าวว่า :- ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคานี้เอง น้ำนั้นก็จะกลายเป็นโลหิต

พระเถระถามว่า :- ท่านได้กระทำกรรมชั่วอะไรไว้หรือ น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิต

นางเปรตตอบว่า :- ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสก มีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย รวมทั้งสร้างวิหารอันโอฬาร ถวายแก่พระสมณะทั้งหลาย

ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว จึงด่าเขาว่า เจ้าอุตตระ เจ้าถวาย จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และคิลานปัจจัยพร้อมวิหารนี้แก่สมณะทั้งหลาย ให้สิ้นเปลืองเงินทองไปมากมายทำไม

ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน จึงสาปแช่งบุตรชายไปว่า ผลกรรมกุศลที่เขาทำจงกลายเป็นเลือดและหนองปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมชั่ว อันทำให้ดิฉันมาเกิดเป็นเปรต เปลือยกาย หิวกระหาย อดยากอยู่เป็นนิจ

แม้แต่ดื่มน้ำ น้ำก็จักกลายเป็นเลือดและหนองไป

พักบุพกรรมของนางเปรตเอาไว้แค่นี้ก่อน ตอนหน้าเราท่านทั้งหลายค่อยมาดูกันว่า พระกังขาเรวตเถระ จะช่วยให้นางเปรตดื่มน้ำได้หรือไม่

เจริญธรรม

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02qmFH6DTNchzGiUd8xdG9jK6KxYvcVcuDS52Xn7i9zYSDUarGvWSrvvG16SaARza6l