ประวัติท่านพระทัพพมัลลบุตร (ตอนที่ 1)

0
40

ประวัติท่านพระทัพพมัลลบุตร (ตอนที่ ๑)
๓๐ กันยายน ๒๕๖๖

ประวัติท่านพระทัพพมัลลบุตร พระอรหันต์อสีติมหาสาวก แห่งองค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช ทรงปกครองอยู่ในแคว้นมัลละ ในอนุปิยนิคม มีพระนามเดิมว่า “ทัพพราชกุมาร” แต่เนื่องจากว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามัลลราช ผู้ชนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันว่า “ทัพพมัลลบุตร”

เหตุที่ท่านได้ชื่อว่า ทัพพะ ซึ่งแปลว่า ไม้ นั้นก็เพราะว่าในขณะที่พระมารดาของท่านตั้งครรภ์ใกล้จะประสูติ แต่ก็สวรรคตเสียก่อน เรียกว่า ตายท้องกลม บรรดาพระประยูรญาติจึงนำศพไปเผาบนเชิงตะกอน แต่เมื่อไฟกำลังเผาไหม้ร่างของพระนางอยู่นั้นท้องได้แตกออก ทารกในครรภ์ได้ลอยมาตกลงบนกองไม้ใกล้ ๆ เชิงตะกอนนั้น และไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เลย

พวกชาวพนักงานจึงได้อุ้มทารกนั้นมามอบให้พระอัยยิกา (ยาย) อาศัยเหตุการณ์นั้นจึงตั้งชื่อท่านว่า “ทัพพะ”

ขณะที่พระบรมศาสดา ประทับอยู่ ณ อนุปิยนิคม แคว้นมัลละแห่งนั้นพร้อมด้วยหมู่ภิกษุพุทธสาวก ขณะนั้น ทัพพราชกุมาร มีพระชนมายุได้ ๗ พรรษาพระอัยยิกาได้พาไปเฝ้าพระบรมศาสดาเพื่อฟังธรรม พร้อมกับชาวเมืองทั้งหลาย

ทัพพราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาค เกิดศรัทธาเลื่อมใสน้อมพระทัยไปในการออกบวช ได้กราบทูลลาพระอัยยิกา เพื่อขอบวชในพระพุทธศาสนา

ซึ่งพระอัยยิกาก็อนุโมทนาและรีบพามาสู่สำนักพระบรมศาสดา ท่านได้กราบถวายบังคมแล้วทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์ทรงมอบให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้

พระภิกษุผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนตจปัญจกกรรมฐาน อันได้แก่ กรรมฐานมีที่สุด ๕ อย่างที่ต้องพิจารณา คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยพิจารณาให้เห็นถึงความปฏิกูล พึงรังเกียจทั้งสี ทั้งกลิ่น และที่ตั้งอยู่

ทัพพราชกุมารในขณะที่กำลังทำการโกนผมอยู่นั้น ทัพพราชกุมาร ได้พิจารณากรรมฐานที่เรียนมา คือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง โดยความน่ารังเกียจตามลำดับ

เมื่อจรดมีดโกนครั้งที่ ๑ ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล

จรดมีดโกนครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุสกทาคามิผล

จรดมีดโกนครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุอนาคามิผล

และเมื่อการโกนผมสิ้นสุดลงท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมมภิทา ๔ และอภิญญา ๖

ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบ ต่อมาท่านได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ขณะที่ท่านนั่งพักผ่อนอยู่เพียงตามลำพัง ความคิดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่านว่า

“เราอยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นกิเลสแล้ว สมควรที่จะช่วยรับภารกิจของสงฆ์ ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมบ้าง”

ดังนั้น เมื่อท่านมีโอกาสจึงเข้าเฝ้ากราบทูลความประสงค์ของตนแก่พระบรมศาสดาพระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนาสาธุการแก่ท่านแล้วทรงประกาศให้สงฆ์ สมมติให้ท่านรับหน้าที่เป็น ภัตตุทเทสก์

คือมีหน้าที่แจกจ่ายภัตรี จัดคิวพระภิกษุไปฉันในที่มีผู้นิมนต์ไว้

และเป็นเสนาสนคาหาปกะ คือ มีหน้าที่จัดเสนาสนะแจกจ่ายแก่พระภิกษุผู้มาจากต่างถิ่น ให้ได้พักอาศัยตามความเหมาะสม ท่านได้ทำหน้าที่นั้น ๆ ด้วยดีเสมอมา

ต่อมาพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าท่านมีอายุยังน้อยนัก แต่ต้องมารับภาระอันหนักซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของพระภิกษุผู้ใหญ่มากกว่า ดังนั้น เพื่อให้ท่านปฏิบัติหน้าที่นี้ได้อย่างสะดวกตามความประสงค์

พระพุทธองค์จึงทรงบวชให้ด้วยการยกท่านจากการเป็นสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในวันนั้น ด้วยพระดำรัสว่า “อชฺชโต ปฏฺฐาย ภิกฺขุ โหหิ” ซึ่งแปลว่า เธอจงเป็นภิกษุตั้งแต่วันนี้ไป

(เรียกว่า รับการบวชพระทั้งที่อายุยังไม่ถึง ๒๐ เหตุเพราะท่านได้เป็นอรหันต์ โดยคุณธรรมแล้ว จึงสมควรยกท่านให้เป็นภิกษุผู้ทำหน้าที่แทนหมู่สงฆ์)

การบวชด้วยวิธีนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสัมปทา” แปลว่า การรับเข้าหมู่โดยความเป็นทายาท ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ท่านมีคุณสมบัติสมควรที่จะเป็นพระภิกษุเพราะเป็นพระอรหันต์ และปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่าพระ

(ในพระพุทธศาสนามีสามเณรที่ได้รับการบวชด้วยวิธีนี้ ๓ รูป คือ สารเณรสุมนะ, สามเณรโสปากะ และสามเณรทัพพะ)

พระทัพพมัลลบุตร ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากพระพุทธองค์ อย่างสมบูรณ์และเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ กล่าวคือ:-

ในด้านการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์ (ภัตตุทเทสก์) ท่านจะคำนึงถึงวัยวุฒิและคุณวุฒิของพระที่จะร่วมไปด้วยกัน ทั้งพิจารณาถึงความรู้จักคุ้นเคยกับทายก อีกทั้งยังจัดคิวให้พระหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปตามวาระ และตามความเหมาะสม

ด้านการจัดเสนะสนะ (เสนาสนคาหาปกะ) ท่านจัดให้พระภิกษุผู้มีอุปนิสัยความถนัด ความคิดเห็น และความรู้ที่คล้ายคลึงกันพักอยู่ด้วยกัน เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งกัน

นอกจากนี้ยังจัดเสนาสนะให้ตามความประสงค์ของ ผู้มาพัก เช่น ต้องการพักในถ้ำหรือในกุฎี เป็นต้น ถ้าเป็นเวลาค่ำคืนท่านจะเข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้ปลายนิ้วของท่าน เป็นดุจแท่งเทียนส่องสว่าง นำทางพระอาคันตุกะไปสู่ที่พัก พร้อมทั้งแนะนำสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ กับพระอาคันตุกะที่ควรทราบ ก่อนจะเข้าพักในเสนาสนะนั้นๆ

จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ โปรดติดตามตอนต่อไป

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0UrzXw8Fjoosyza2Hip3KggtpUxDHdf4ai3vDt2D53fjmuoNVwU68HEhd245oM5Qgl