วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) (ตอนที่ 1)

0
121

หมวด : กรรมฐาน – จตุธาตุววัฏฐาน 4
เรื่อง : วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ตอนที่ 1
บทความ : 12 ก.ย. 2566
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/1znrNbFbLV0
รับชมครบทุกตอนได้ที่ :
Website: https://issaradhamchannel.com/tag/จตุธาตุววัฏฐาน-4
YouTube: https://www.youtube.com/playlist?list=PL6Ru9Ju-iZKqkvGgNYgy2GKPPyzzXBoGG

——————————————–

วิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน)
๑๒ กันยายน ๒๕๖๖

วันนี้เราท่านทั้งหลายมาลองศึกษาสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายอันเป็นที่ตั้งของการงานภายใน (กายาวิปัสสนากรรมฐาน) อันประกอบด้วยจตุธาตุฐานทั้ง ๔ อันมี ดิน น้ำ ลม และไฟ

ส่วนที่เป็นดินที่เรียกว่า ปฐวีธาตุ ในร่ายกายนี้แบ่งออกเป็น ๒๐ กอง อันได้แก่

๑. ผม อันเป็นประโยชน์แก่ระบบประสาท และเนื้อสมอง เพราะผมช่วยปกคลุมศีรษะ เพื่อป้องกันลม แดด เหลือบ ยุง ริ้น ไร และการกระเทือนต่อระบบประสาท พร้อมทั้งเนื้อสมองได้ในระดับหนึ่ง

๒. ขน อันมีประโยชน์เพื่อป้องกันผิวหนัง

๓. เล็บ ทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยสนับสนุนทำการงาน

๔. ฟัน ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร และป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ร่างกาย

๕. หนัง ทำหน้าที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้ออยู่ถึง ๓ ชั้น คือ ชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ซึ่งแต่ละชั้นต่างทำหน้าที่ร่วมกัน คือ ป้องกันแรงกดดัน ต้านทานแรงปะทะ ปกป้องเส้นเลือด และเส้นประสาทสัมผัส ที่มีอยู่ภายใต้ผิวหนังในแต่ละชั้น

อีกทั้งยังปกป้องร่างกายให้บรรเทาจากความหนาว ร้อน อ่อน แข็ง ทั้งยังช่วยรักษา ปกป้องอุณหภูมิในร่างกายให้เหมาะสมพอดี ที่จะดำรงอยู่ได้

๖. เนื้อ ทำหน้าที่ห่อหุ้มท่อนกระดูก และแสดงอัตลักษณ์ของโครงกระดูกในแต่ละคน ทั้งยังทำหน้าที่พยุงข้อกระดูก เพื่อนำไปทำการงานทั้งน้อยใหญ่ ให้สำเร็จดังใจปรารถนา

๗. เอ็น ทำหน้าที่ดึง รั้ง ยึด รัดทั้งข้อกระดูก และก้อนเนื้อให้ผูกติดกัน และช่วยพยุง ดึง รั้ง ข้อกระดูก กล้ามเนื้อในแต่ละข้อ แต่ละมัด ให้ขับเคลื่อน โยกไหวไปตามใจปรารถนา

๘. กระดูก ซึ่งมีทั้งกระดูกอ่อนและกระดูกแข็ง เป็นดังที่ค้ำยันก้อนเนื้อและหนัง ให้คงสภาพเป็นรูป เป็นร่าง ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะที่ควร

ทั้งภายในโพรงกระดูก ยังมีไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง และกระดูกก็ยังเป็นที่เก็บรักษาธาตุหินปูน ที่เข้าไปสู่ร่างกายเอาไว้ช่วยซ่อมแซม เสริมสร้างกระดูกและฟันที่สึกกร่อน หรือหักแตก ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม

๙. เยื่อในกระดูก และเยื่อนอกกระดูก หรือไขกระดูก มีที่อยู่ในโพรงกระดูก มีลักษณะเป็นวุ้น มีน้ำหล่อเลี้ยง

๑๐. ม้าม มีที่ตั้งอยู่ข้างกระเพาะอาหารซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหาร และส่งต่อสารอาหารที่กินเข้าไป ม้ามก็จะทำหน้าที่ช่วยกระเพาะดูดซึมเอาสารอาหารที่จำเป็นไปยังปอดและหัวใจ เพื่อส่งต่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ม้ามจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตหลังเกิด ถ้าม้ามแข็งแรง การย่อยและดูดซึมอาหารดี การสร้างเลือดและลมปราณจะเพียงพอ สุขภาพก็จะแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ การย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเดิน อ่อนเพลีย ผอม เลือดและลมปราณพร่อง

จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ โปรดติดตามวิธีพิจารณา ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ให้ครบทั้ง ๒๐ กองนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid06haZskpCYerAtWp2WTsgTLvLqTB1ojeg8kmw1asThVboQSFY1R1S4SxwKDwqTVC4l