มหาโมรชาดก เรื่อง พญานกยูงทอง (ตอนที่ 2)

0
97

หมวด : ชาดก
เรื่อง : มหาโมรชาดก เรื่อง พญานกยูงทอง (ตอนที่ 2)
บทความ : 6 ส.ค. 2566
โดย : หลวงปู่พุทธะอิสระ
วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
รับชมย้อนหลังได้ที่ : https://youtu.be/YijXkQMUSTg

รับชมครบทุกตอนได้ที่ : https://youtu.be/4n9NM8SfM1w

——————————————–

มหาโมรชาดก เรื่อง พญานกยูงทอง (ตอนที่ ๒)
๖ สิงหาคม ๒๕๖๖

ความเดิมตอนที่แล้ว พญานกยูงทองได้ถ้ำทองเป็นที่อยู่อาศัยในหุบเขา ณ ป่าหิมวันต์ประเทศแล้ว

จึงได้สาธยายคาถาบูชาองค์สุริยะทั้งเช้าและเย็น เพื่อผูกความรักษาให้ตนเองมีจิตตั้งมั่นในศรัทธา ในสติ สมาธิ และในปัญญา พร้อมด้วยเจริญคุณธรรมในความอ่อนน้อมถ่อมตน

ขณะนั้น ในนครพาราณสี พระอัครมเหสีของพระราชา ผู้ครองนครพาราณสี ทรงพระนามว่าเขมา ทรงพระสุบินนิมิตในเวลาใกล้รุ่ง ทรงทอดพระเนตรเห็นนกยูงมีสีเหมือนสีทอง กำลังแสดงธรรม.

พระนางทรงสดับธรรม. ทั้งยังได้เปล่งสาธุการ

ครั้นเมื่อนกยูงทองนั้น แสดงธรรมเสร็จก็โผบินขึ้นไปในอากาศทันที

พระนางทอดพระเนตรเห็นพญายูงทองที่บินไปในทิศที่ตั้งแห่งป่าหิมวันต์ ก็ตรัสสั่งให้คนทั้งหลายช่วยกันจับพญานกยูงนั้นให้ได้ ขณะที่กำลังตรัสอยู่นั่นก็ทรงตื่นจากบรรทม

แล้วจึงทรงทราบว่าที่แท้สิ่งที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนั้นเป็นความฝัน จึงทรงดำริต่อไปว่า เราปรารถนาที่จะได้เห็นพญานกยูงทองตัวนั้นอีกสักครา

ครั้นจะกราบทูลต่อองค์ราชาว่า สิ่งที่พระนางต้องการล้วนมาจากเหตุที่เราฝันไป ไหนเลยพระราชาจะทรงเอาพระหฤทัยเอื้อเฟื้อต่อเรา แล้วทรงครุ่นคิดว่า จำเราต้องออกอุบายว่า เราแพ้ท้อง แล้วอยากฟังธรรมจากพญานกยูงทองตัวนั้น

พระนางเขมา คิดได้ดังนี้แล้ว จึงทอดพระวรกายลงบรรทมต่อดังเดิม แล้วแสดงอากัปกิริยาดุจดังประหนึ่งทรงแพ้พระครรภ์

กาลต่อมา พระราชาเสด็จเข้ามาใกล้พระนาง ตรัสถามว่า น้องหญิงเจ้าไม่สบายหรือกะไร เป็นอะไรไปหรือเปล่า เช้าแล้วทำไมถึงยังไม่ลุกจากที่นอน

พระนางเขมา กราบทูลว่า ความแพ้ครรภ์บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน พระเจ้าค่ะ.

ตรัสถามว่า เธอต้องการสิ่งใดเล่าน้องหญิง

นางเขมา กราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อมพระสวามี เกล้ากระหม่อมฉันปรารถนาจะฟังธรรมของพญานกยูงทอง พระเจ้าค่ะ.

รับสั่งว่า น้องหญิงเอ๋ย เราจักหาพญายูงทองอย่างที่เจ้ากล่าวมา ได้จากไหนเล่า.

พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่ทูลกระหม่อม แม้เกล้ากระหม่อมฉันมิได้สมปรารถนา ชีวิตของเกล้ากระหม่อมฉัน คงจะอยู่มิได้แล้วเพคะ

องค์ราชาตรัสปลอบว่า น้องหญิงอย่าเสียใจไปเลย หากนกยูงทองนั้นมีอยู่จริงในแว่นแคว้นของเราไม่ว่าจะมีอยู่ ณ ที่ใด เราสัญญาว่า จะพยายามเสาะหา จับตัวมาให้เธอต้องได้แน่นอน แล้วทรงเสด็จประชุมหมู่ข้าราชบริพาร ประทับนั่งเหนือพระราชอาสน์ ตรัสถามหมู่อำมาตย์ว่า แน่ะพ่อเอ๋ย เทวีของเราปรารถนาจะฟังธรรมของนกยูงทอง อันนกยูงที่มีสีเหมือนสีทองนั้น พวกท่านเคยเห็นมีอยู่ในแว่นแคว้นของเรานี้หรือไม่

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกพราหมณ์คงจักทราบเรื่องนี้ พระเจ้าข้า.

พระราชาตรัสให้หาพวกพราหมณ์มาเฝ้าแล้ว มีพระดำรัสถาม.

พวกพราหมณ์พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราช สัตว์เดียรัจฉานในจำพวกสัตว์น้ำ ปลา เต่า ปู ในจำพวกสัตว์บก มฤค หงส์ นกยูง นกกระทา ที่มีสีเหมือนสีทองนั้นมีอยู่. แม้มนุษย์ทั้งหลายเล่าก็มีสีกายดุจดังสีทองนั้นก็มีอยู่ ทั้งนี้มีมาในคัมภีร์ลักษณมนต์ของข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้จารึกเอาไว้ว่า มนุษย์และสัตว์อันมีลักษณะที่พิเศษดังกล่าว จะมีอยู่ในป่าหิมวันต์ประเทศ พระเจ้าข้า.

พระราชาครั้นได้ฟังคำอธิบายจากพวกสมณะ ชี พราหมณ์แล้วจึงทรงเรียกพวกพรานในแว่นแคว้นของพระองค์ มาประชุมกัน รับสั่งว่า พวกเจ้าได้เคยเห็นนกยูงทองในขณะออกไปเที่ยวป่า ล่าสัตว์กันบ้างหรือไม่

ขณะนั้นมีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งกราบทูลว่า ถึงข้าพระองค์จะไม่เคยเห็น แต่บิดาของข้าพระองค์เคยบอกไว้ว่า นกยูงทองมีอยู่ในป่าหิมวันต์โน้น พระเจ้าข้า.

พระราชาครั้นได้ทรงสดับ จึงทรงตรัสแก่พรานหนุ่มว่า สหายเอ๋ย เช่นนั้นเจ้าจักเป็นคนให้ชีวิตแก่เราและเทวีได้ละ ฉะนั้น เจ้าจงไปจับมัดนกยูงทองนั้นแล้วนำมาถวายให้แก่เรา เราจักประทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่ผู้ใดก็ได้ที่สามารถจับเป็นพญานกยูงทองตัวนั้นมาได้

พรานนั้นจึงรับอาสา เข้าไปสู่ป่าหิมวันต์ เพื่อจับพญายูงทองมาถวายแด่องค์ราชา

ณ ที่ป่าหิมวันต์นั้น พรานหนุ่มได้เดินทางรอนแรมเข้ามาถึงถิ่นที่อยู่ของพญานกยูงทอง ครั้นได้เห็นพระมหาสัตว์ พรานนั้นก็ทำบ่วงดักรอว่า วันนี้คงติด วันนี้คงติด แต่ด้วยเดชแห่งมนต์พระปริตรที่พญานกยูงทองสาธยายทุกเช้าค่ำ ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงบาศที่พรานหนุ่มวางกับดักเอาไว้

จนวันคืนผ่านพ้นไปจากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน และจากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายๆ ปี จนพรานนั้นแก่ตายไป.

พระเทวีเมื่อไม่ได้ดังพระปรารถนา ก็สิ้นพระชนม์ไป.

พระราชาทรงกริ้วว่า เพราะอาศัยนกยูงทองตัวนี้เป็นเหตุ เมียรักของเราต้องสิ้นพระชนม์ไปก่อนวัยอันควร ทรงมีพระหฤทัยผูกเวร ทรงให้จารึกไว้ในแผ่นทองว่า ที่ทิวเขาที่สี่ในป่าหิมพานต์ มีนกยูงทองอาศัยอยู่ บุคคลได้กินเนื้อของยูงทองแล้วนั้น จะไม่แก่ไม่ตาย แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบไม้แก่น เสด็จสวรรคตไป.

ครั้นกษัตริย์องค์อื่นได้เป็นพระราชาแล้ว ท้าวเธอเหล่านั้นทอดพระเนตรเห็นอักษรในแผ่นทอง ก็ทรงดำริว่า เราจักเป็นผู้ไม่แก่ไม่ตาย ทรงส่งให้พรานผู้หนึ่งไปเพื่อจับพญายูงทองนั้น.

มิใยที่เหล่าองค์ราชาจะส่งพรานผู้เก่งกาจไปสักกี่คน กี่คน สิ้นเวลาไปเป็นร้อยๆ ปี

พอถึงพระราชาองค์ที่ ๗ ทรงใช้ให้พรานหนุ่มซึ่งเป็นบุตรของพรานคนที่ ๗ ที่ไปตายอยู่ในป่า เพื่อจะจับตัวพญายูงทองมาให้ได้ พรานหนุ่มนั้นครั้นได้รับพระบัญชาจึงครุ่นคิดว่า เราจักจับนกยูงทองนั้นให้ได้ในวันนี้ ในวันนี้แน่นอน ล่วงไปถึง ๗ ปี ก็ไม่สามารถจะจับนกยูงทองตัวนั้นได้ ดำริว่า ทำไมเล่าหนอ บ่วงจึงไม่รูดรัดเท้าของพญายูงทองนี้

คอยกำหนดดูพญานกยูงทองนั้น เห็นเจริญพระปริตร ทุกเช้าทุกเย็น ก็กำหนดได้โดยนัยว่า ในสถานที่นี้ นกยูงตัวอื่นไม่มีเลย. อันพญายูงทองตัวนี้คงประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์ และด้วยอานุภาพแห่งพระปริตร บ่วงจึงไม่ติดเท้าของพญายูงทอง

พรานคิดดังนั้นแล้วจึงไปสู่เขตรอบนอกป่าหิมวันต์เพื่อดักจับนางนกยูงตัวเมียได้ตัวหนึ่ง ฝึกฝนให้ขันในเวลาดีดนิ้วมือ ให้ฟ้อนในเวลาตบมือ แล้วพาไป ก่อนเวลาที่พระโพธิสัตว์จะเจริญปริตรทีเดียว ดักบ่วงไว้ ดีดนิ้วมือให้นางยูงขัน.

เมื่อพญายูงทองได้ฟังเสียงของนางยูง กิเลสที่ราบเรียบมาตลอดเวลา ๗๐๐ ปี ก็ฟุ้งขึ้น ทันทีทันใด เป็นเหมือนอสรพิษที่ถูกตีด้วยท่อนไม้ แผ่พังพาน ฉะนั้น.

มหาสัตว์กระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลส จนไม่สามารถจะเจริญพระปริตรแม้แต่บทเดียว แล้วบินไปยังที่อยู่ของนางยูงตัวนั้นโดยเร็ว ถลาลงจากอากาศ เกาะอยู่ที่คอนไม้ โดยไม่สังเกตเห็นบ่วงบาศที่นายพรานวางดักเอาไว้ จึงสอดเท้าเข้าไปในบ่วงนั้นโดยไม่รู้ตัว บ่วงที่ไม่เคยรูดมาตลอด ๗๐๐ ปี ก็รูดรัดเท้าของพระมหาสัตว์ในขณะนั้นแล.

จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ฉันจะไปทำพระแล้ว วันหน้าจะมาเล่าสู่กันฟังใหม่

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02HYwDBz7HAjsc1odH7LaHQbWW5s8TyMNPdkgThrGYsbG3rchQH7o4SaQfkeoasx1ml