ประวัติท่านพระโสณโกฬิวิสเถระ (ตอนที่ 4)

0
70

ประวัติท่านพระโสณโกฬิวิสเถระ (ตอนที่ ๔)
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ความเดิมตอนที่แล้วได้อธิบายให้เราท่านทั้งหลายได้เข้าใจ รู้ชัดว่า กระบวนการเสพติดในตัณหาความทะยานอยาก เสพติดในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรม

ดูตัวอย่างพระโสณโกฬิวิสะ ที่แม้จะมีความเพียรพยายาม มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมจนฝ่าเท้าแตก เลือดไหลชโลมพื้นจนแดงฉานสักเพียงใด

แต่พฤติกรรมทั้งหมดล้วนถูกขับเคลื่อน ผลักดันด้วยอำนาจพลังแห่งตัณหา หาใช่นิพพิทาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นโทษ เห็นภัยของสังขารทั้งหลายจนเกิดความเบื่อหน่าย แล้วแสวงหาทางออกจากการถูกครอบงำของความทะยานอยากในสังขาร และกามคุณจนเกิดอุปาทาน ความยึดถือ ร้อยรัด พันธนาการตนให้ตกเป็นทาส

เพราะตลอดชีวิตของพระโสณโกฬิวิสะ ตอนเป็นฆราวาสมีชีวิตอยู่อย่างมัวเมาประมาท เสพติดในตัณหา สังขารและกามคุณทั้ง ๕ จนยึดติดตราตรึงจิตใจ

ต่อให้เพียรพยายามที่จะออกบวช ปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากการครอบงำของความทะยานอยาก สังขาร กามคุณและความยึดถือ

สุดท้ายกระบวนการมุ่งมั่น เพียรปฏิบัติพยายามสักปานใด อย่างดีก็ได้เพียรแค่อานิสงส์ กุศล สั่งสมบุญบารมี แต่ยังหาได้เข้าถึงมรรคผลใดๆ ไม่

ดุจดัง พระพุทธดำรัสที่ทรงปรารภในอุปมาทั้ง ๓ เมื่อครั้งตรัสรู้ว่า

อุปมาข้อที่ 1 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังทำให้กามสงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่าประโยชน์

อุปมาข้อที่ 2 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพึงพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละกามนั้นไม่ได้ และยังให้กามสงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่าประโยชน์

อุปมาข้อที่ 3 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่กระหายในกาม ไม่มีความเร่าร้อนในกาม ทั้งละกามนั้นได้และยังให้กามนั้นสงบระงับได้ในภายในแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็สามารถสีไฟให้เกิดขึ้นมา เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ

พระโสณโกฬิวิสะ เมื่อมุ่งมั่นทุ่มเทปฏิบัติกรรมฐานเดินจงกลมจนฝ่าเท้าแตก เลือดไหลชโลมพื้นจนแดงไปทั่ว แต่ก็ยังไม่บรรลุธรรมใดๆ เลย นั้นก็เป็นเพราะจิตของท่านยังไม่เห็นโทษเห็นภัยในกามคุณ จึงได้เกิดความท้อใจว่า เห็นทีเราคงจะเป็นบุคคลที่โง่เขลาที่สุด

จึงไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมใดๆ ได้ เช่นนั้นเราก็จักสึกไปครองเรือน แลใช้สมบัติของบิดา มารดาจะดีกว่าต้องมาทนทุกข์ทรมานกับการปฏิบัติธรรมที่ไม่เห็นผลสำเร็จใดๆ

สมัยนั้น พระศาสดาทรงทราบถึง ความปริวิตกของพระเถระ ในเวลาเย็นของวันนั้น ทรงมีหมู่ภิกษุแวดล้อมเสด็จไปในสุสานสีตวันนั้น ได้เสด็จเข้าไปทางสถานที่เดินจงกรมของท่านพระโสณะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนไปด้วยโลหิต ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใครหนอ เปื้อนโลหิต เหมือนสถานที่ฆ่าโค

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนโลหิต ดุจดังสถานที่ฆ่าโคฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระโสณะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แม้ท่านพระโสณะก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะผู้นั่งเฝ้าอยู่ว่า

ดูกรโสณะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นเล่า เช่นนี้สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกไปเป็นคฤหัสถ์ แล้วบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ดังนี้ จะดีกว่า

ภิกษุเธอคิดดังนี้มิใช่หรือไม่ ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอฉลาดในการดีดพิณ เสียงของสายพิณต้องขึงเช่นไรถึงจะดี ไพเราะ เธอก็รู้ มิใช่หรือ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอจะมีเสียงอันไพเราะอยู่หรือไม่ ?

ท่านพระโสณะทูลว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอหย่อนเกิน ไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงดังไพเราะอยู่หรือไม่ ?

ท่านพระโสณะทูลว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในสถานะที่ปานกลาง พอดี คราวนั้น พิณของเธอมีเสียงดังไพเราะอยู่หรือไม่ ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า ไพเราะ เสนาะดี พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เช่นนั้นนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนมากไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียร แต่พอเหมาะ ตั้งจิตให้ผ่อนคลายเป็นกลาง จนทำให้อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาเสมอกัน และระวังรักษาจิตที่ประกอบด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นให้สม่ำเสมอ

ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระพุทธพจน์ว่า จะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรงเสด็จกลับยังคิชฌกูฏบรรพต เพื่อทรงผ่อนคลายอิริยาบถ

วันนี้ยาวไปหน่อย เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ชำระ สำรอกมลภาวะทางจิตที่กำลังขมึงทึงตึงเครียด ให้เบาบางลงด้วยรสพระพุทธธรรม

จบไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ โปรดติดตามตอนต่อไป

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02TfVn9DqPgqjrmFgFquyKvBt1X8KaT1n8skTSeWZsg4H7bqZJ9nTwXUbCLYTvX565l