ประวัติท่านพระจักขุบาลเถระ (ตอนที่ 3)

0
38

ประวัติท่านพระจักขุบาลเถระ (ตอนที่ ๓)
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖

ตอนทีแล้วจบลงตรงที่จักขุบาลมหาเถระ ได้ปฏิเสธที่จะให้ปาลิตะผู้ทุศีล ขณะที่เป็นสามเณได้ละเมิดศีลข้อกาเม มาจูงนำท่านออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี

ต่อมาปาลิตะจึงเปลื้องจีวรกลับไปนุ่งห่มผ้าเป็นคฤหัสถ์ แล้วรีบกลับมาพาพระมหาเถระกลับนครสาวัตถี

พระจักขุบาลเถระ ท่านก็ยังปฏิเสธที่จะร่วมเดินทางไปกับปาลิตะผู้เป็นหลาน ด้วยการกล่าวว่า

ประโยชน์อันใดที่เราจะให้คนชั่ว คนพาลเป็นผู้นำทาง แม้ขนาดเป็นสามเณร ผู้มีเพศภาวะที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม ยังประพฤติชั่วหยาบ ละเมิดศีลได้

แม้จะกลับมานุ่งห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ ผู้มีเพศภาวะที่มีกามคุณทั้ง ๕ เป็นอาหาร จะหาศีลธรรมดุจดังสามเณรมาจากไหน เจ้าจงไปเสียเถิด ปล่อยให้เรานอนตายอยู่ตรงนี้แหละ

แม้ปาลิตะจะอ้อนวอนพูดบอกว่า หนทางที่จะเดินไปข้างหน้าล้วนมีอันตรายจากสัตว์ร้ายและอมนุษย์ ยิ่งพระเถระผู้มีดวงตาอันมืดบอด ยิ่งมีอันตรายมากยิ่งขึ้น

พระมหาเถระจึงได้โต้ตอบไปว่า

เราไม่มีความสะดุ้งกลัวกับเภทภัยที่มีอยู่ในวัฏฏะ จะมีก็แต่เจ้านั่นแหละที่ยังหนีไม่พ้นจากเภทภัยทั้งปวง

ข้างนายปาลิตะ เมื่อได้ยินคำตักเตือนของพระจักขุบาลเถระผู้เป็นลุงเช่นนี้ ก็เกิดความสลด สังเวช สำนึกผิดคิดว่า

“เราได้กระทำกรรมอันหนัก ให้เกิดขึ้นเสียแล้วหรือนี่”

คิดดังนี้แล้ว เขาก็ร้องไห้คร่ำครวญวิ่งเข้าป่าหลีกไปด้วยคิดว่า ช่างน่าละอายนัก ไม่มีหน้าที่จะไปพบบรรดาญาติมิตรทั้งหลายได้อีกต่อไปแล้ว

ขณะนั้น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ (ของท้าวสักกะ) แสดงอาการเร่าร้อนด้วยเดชแห่งศีลและมรรคผลของพระเถระ ด้วยเหตุนั้น ท้าวสักกะทรงทราบเหตุนั้นแล้วเสด็จลงมาพบพระจักขุบาลเถระ ณ กลางทางเดิน ประกาศชื่อและโคตรตนเองในนามของมนุษย์

ให้พระเถระรู้จักพระองค์ดุจคนที่กำลังเดินทางไปกรุงสาวัตถีเช่นกัน แล้วอาสาเป็นผู้นำทางให้แก่พระเถระพร้อมกับตรงเข้าถือปลายไม้เท้า แล้วร่ายเวทเนรมิตย่นหนทางให้สั้นลง

พร้อมทั้งเดินนำพระเถระไปยังพระนครสาวัตถี ในเวลาเย็นของวันนั้นเอง แล้วจึงนิมนต์ให้พระเถระนั่งในบรรณศาลาที่จูลปาลิตกุฎุมพีสร้างไว้ใกล้พระเชตวันนั้น พร้อมทั้งแจ้งให้พระเถระรู้ว่าตนเป็นท้าวโกสีย์แปลงกายมาเป็นมนุษย์ เพื่อนำพาให้พระเถระ มาถึงนครสาวัตถีอย่างปลอดภัย เสร็จแล้วท้าวโกสีย์ก็เสด็จหลีกไป.

ฝ่ายจุลบาลกุฎุมพี ผู้เป็นน้องเมื่อได้ทราบว่า พระเถระผู้พี่ชายได้เดินทางมาถึงบรรณศาลาที่ตนสร้างขึ้น กุฎุมพีนั้นจึงรีบมาหาครั้นเห็นพี่ชายตาบอดทั้งสองข้าง ก็ไม่อาจกลั้นความโศกเศร้าเสียใจเอาไว้ได้ จึงได้ร้องไห้ คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา

พระเถระจึงได้กล่าวปลอบประโลมให้คลายความเสียใจ

เมื่อระงับความเศร้าโศกได้แล้ว จุลบาลกุฎุมพีจึงไต่ถามสารทุกข์สุขดิบกันตามประสาพี่น้องที่จากกันไปนาน

ครั้งแล้วจึงได้มอบเด็กชาย ๒ คน ซึ่งเป็นลูกของทาสในเรือนให้อยู่ดูแลรับใช้พระพี่ชาย พร้อมกำชับเด็กทั้งสองคนนั้นว่า หากเจ้าทั้งสองปรนนิบัติรับใช้พระเถระได้อย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง เราจะเปลื้องความเป็นทาสให้แก่เจ้าทั้งสอง แล้วให้บวชเณรอยู่ปรนนิบัติพระเถระสืบไป

เย็นวันหนึ่ง ภิกษุหลายรูปมาจากต่างถิ่น มาสู่เชตวันเพื่อเฝ้าพระศาสดา เที่ยวเดินชมสถานที่ต่างๆ มาถึงที่อยู่ของพระจักขุบาล บังเอิญฝนตก จึงพากันรีบเดินกลับที่อยู่ของตน ตั้งใจว่า ตอนเช้าจะมาใหม่ คืนนั้นฝนตกตลอดตั้งแต่ปฐมยามจนถึงมัชฌิมยามพวกแมลงค่อมทองจึงได้ออกมาเล่นบนพื้นดินที่ฝนตกใหม่ๆ

พอปัจฉิมยาม พระจักขุบาลเถระก็ออกจากที่พักลงเดินจงกรม ด้วยความที่ดวงตาของท่านมองไม่เห็น ท่านจึงได้เยียบเอาแมลงค่อมทองตายไปมากมาย ตอนเช้าพวกศิษย์ของท่านยังไม่ทันกวาดที่จงกรม พวกภิกษุอาคันตุกะก็มาเยี่ยม เห็นแมลงค่อมทอง ตายเป็นอันมาก จึงถามว่าเป็นที่จงกรมของใคร เมื่อรู้ว่าเป็นที่จงกรมของพระจักขุบาล พวกภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันติเตียนว่า

“ดูเถิด จงดูกรรมของสมณะรูปนี้ เมื่อตายังดีอยู่ก็มั่วแต่จะนอนเล่น นั่งเล่นเสีย ไม่ทำสมณธรรมอันควรทำ พอตาบอดแล้ว จึงขยันมาเดินจงกรม ทำสัตว์ให้ตายเสียเป็นอันมาก คิดว่าจักทำประโยชน์กลับทำสิ่งอันไร้ประโยชน์”

ภิกษุเหล่านั้นกลับไปแล้ว จึงได้เข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ

พระศาสดาตรัสถามว่า ภิกษุเธอทั้งหลายได้เห็นพระจักขุบาลเหยียบสัตว์ด้วยหรือ

“ไม่เห็นพระเจ้าข้า”

“ดูก่อนภิกษุ ! เธอไม่เห็นจักขุบาลเหยียบสัตว์ฉันใด จักขุบาลก็ไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่เจตนาฆ่าสัตว์ จึงไม่เป็นบาปชั่วผิดใดๆ

ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า พระจักขุบาลมีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผลอยู่เช่นนั้น ไฉนจึงตาบอดได้เล่าพระพุทธเจ้าข้า?

พระศาสดาตรัสตอบว่า เพราะกรรมเก่าที่พระจักขุบาล ท่านได้กระทำเอาไว้แต่เมื่อครั้งอดีต แล้วทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังดังนี้

โปรดติดตามตอนต่อไปนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0xZxweC5pwRGgA43HPPr6FfmMJNieqbfryNuraKeJVynUCvgdKUwS8hvy595m6sd4l