ประวัติพระกุมารกัสสปะ (ตอนที่ 19)
๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖
ห่างหายไปเสียนานสำหรับคอธรรมะ มัวแต่ไปส่งสัญญาณเตือนลูกไทยหลานไทยให้รับรู้ถึงสัญญาณอันตราย ที่จะเกิดจากนักการเมืองไทย หัวใจทาสอเมริโกย ที่กำลังเข้ามาแทรกแซง บ่อนทำลายให้แตกแยกแล้วปกครอง
จากฝีมือของว่าที่รัฐบาลใหม่ใจทาสฝรั่ง
เพื่อให้พี่น้องไทยได้เข้าใจ และเฝ้าระวังต่อภยันอันตรายที่จักเกิดขึ้นแก่แผ่นดินไทย
วันนี้เราท่านทั้งหลายก็พากันมาวางความอึดอัด ขัดเคืองทั้งหลายทิ้งไป ด้วยการน้อมนำเอาพระพุทธธรรม เครื่องล้าง เครื่องฟอก เครื่องชำระ เข้าไปขจัด ขัดเกลาจิตใจ ให้ผ่องแผ้ว แจ่มใสกันจะดีกว่านะจ๊ะ
ประวัติท่านพระกุมารกัสสปะตอนที่แล้วจบลงตรงที่ราชาปายาสิได้ลดมานะ ละมิจฉาทิฐิลงด้วยการปุจฉา วิสัชนา ธรรมะคาถา ในเรื่องความเชื่อ ความเห็นของตนที่เชื่อที่เห็นว่า โลกหน้าไม่มี ผลกรรมจากการทำดี ทำชั่วไม่มี สัตว์ตายแล้วตายเลยไม่มีการเกิด
พระกุมารกัสสะท่านก็พยายามอธิบายขยายความ ยกทั้งบุคลาธิษฐาน (การยกบุคคลเป็นตัวอย่าง) และธรรมาธิษฐาน (ยกเอาเฉพาะหลักธรรมมาเป็นเครื่องพิจารณา) ชี้ให้ราชาปายาสิได้เห็นความน่ากลัว อันตรายถึงมิจฉาทิฐิ
จนเป็นเหตุให้ราชาปายาสิได้วางเสียซึ่งทิฐิอันผิดนั้น
ราชาปายาสิจึงได้ทรงตรัสว่า
ด้วยข้อความอุปมาข้อก่อนๆ ของท่านกัสสปะ ข้าพเจ้าก็มีความพอใจยินดียิ่งแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้าใคร่จะฟังปฏิภาณในการแก้ปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้ จึงพยายามโต้แย้งคัดค้านท่านกัสสปะอย่างนั้น
ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปนั้นได้แจ่มชัด ดังนี้
ฉันใด ท่านกัสสปะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัสสปะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะบูชามหายัญ เพื่อถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอท่านจงชี้แจงวิธีบูชายัญ อันจะเป็นประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลนาน ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ดูกรบพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ต้องได้รับความพินาศ และปฏิคาหก (ผู้รับทาน) เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจมั่นผิด
เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรืองใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่ เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่านพืชที่หัก ที่เสีย ถูกลมและแดดแผดเผาแล้ว อันไม่มีแก่น ยังไม่แห้งสนิท ลงในนาไร่อันมีดินเลว ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ดี มิได้แผ้วถางตอและหนามให้หมด ทั้งฝนก็มิได้ตก โดยชอบตามฤดูกาลเลย พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือหนอ ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านกัสสปะ ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจมั่นผิด เช่นนี้ ย่อมไม่มีผลใหญ่ ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ ไม่มีความรุ่งเรืองใหญ่ ไม่แพร่หลายใหญ่ ฯ
ดูกรบพิตร ส่วนยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบเช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่
เปรียบเหมือนชาวนาถือเอาพืชและไถไปสู่ป่า เขาพึงหว่านพืชที่ไม่หัก ไม่เสีย ไม่ถูกลมแดดแผดเผา อันมีแก่น แห้งสนิท ลงในนาไร่อันดี เป็นพื้นที่ดี แผ้วถางตอและหนามหมดดีแล้ว ทั้งฝนก็ตกต้องลงมาตามฤดูกาล พืชเหล่านั้นจะพึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์หรือหนอ ชาวนาจะพึงได้รับผลอันไพบูลย์หรือ ฯ
ราชาปายาสิตรัสว่า เป็นอย่างนั้น ท่านกัสสปะ ฯ
พระกุมารกัสสปะตรัสว่า ฉันนั้นเหมือนกัน บพิตร ยัญที่มิต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร หรือเหล่าสัตว์ต่างๆ ไม่ต้องถึงความพินาศ และปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ก็เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบเช่นนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ มีความรุ่งเรืองใหญ่ แพร่หลายใหญ่ ฯ
ลำดับนั้น เจ้าปายาสิ เริ่มให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย
แต่ในทานนั้นเธอได้ให้โภชนะเห็นปานนี้คือปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับข้าว และได้ให้ผ้าเนื้อหยาบ มีชายขอดเป็นปมๆ
โดยมีมาณพชื่ออุตตระ ผู้ทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่แจกทานนั้น เขาให้ทานแล้วอธิษฐานอย่างนี้ว่าด้วยทานนี้ ขอให้ข้าพเจ้าร่วมกับราชาปายาสิแต่ในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้ร่วมกันในโลกหน้าเลย
ราชาปายาสิเมื่อได้ทรงสดับข่าวนั้นแล้ว รับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพมาแล้วได้ตรัสว่า พ่ออุตตระ ได้ยินว่า เธอให้ทานแล้วอธิษฐานอย่างนี้ทุกครั้งว่า ด้วยทานนี้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมกับราชาปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้ร่วมกันในโลกหน้าเลยดังนี้หรือ ฯ
อย่างนั้น พระองค์ ฯ
พ่ออุตตระ ก็เพราะเหตุไร เธอให้ทานแล้ว จึงอธิษฐานอย่างนั้นเล่า พ่ออุตตระพวกเราต้องการบุญ หวังผลแห่งทานแท้ๆ มิใช่หรือ ฯ
ในทานของพระองค์ยังให้โภชนะอันหยาบเห็นปานนี้ คือปลายข้าว กับน้ำผักดองเป็นกับข้าว ที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนผู้รับทานจะบริโภคได้เล่า
ให้ทานผ้าก็เนื้อหยาบ ทั้งยังมีชายขอดเป็นปมๆ ซึ่งพระองค์ก็ยังไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนผู้รับทานจะใช้นุ่งห่มได้เล่า
พระองค์เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพวกข้าพระพุทธเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจึงชักจูงผู้ซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่พอใจร่วมเดินทางไปด้วย
แต่หากสิ่งใดไม่เป็นที่รักที่พอใจของพระองค์ และข้าพระพุทธเจ้าเช่นนี้ยังจักยินยอมเดินทางร่วมกันไปด้วยกระนั้นหรือพระพุทธเจ้าข้า
พ่ออุตตระ ถ้าอย่างนั้นต่อไปนี้หากเราบริโภคโภชนะชนิดใด เธอจงให้ทานด้วยโภชนะชนิดนั้นเถิด และเรานุ่งห่มด้วยผ้าชนิดใด เธอจงให้ทานด้วยผ้าชนิดนั้นเถิด
อุตตรมาณพ รับพระดำรัสราชาปายาสิแล้ว เริ่มให้ทานด้วยโภชนะชนิดที่ราชาปายาสิเสวยและให้ทานด้วยผ้าชนิดเดียวกันกับที่ราชาปายาสิทรงนุ่งห่ม แม้ราชาปายาสิจักมีจิตให้ทานแต่มิได้ทรงให้ทานโดยจิตที่เคารพ
มิได้ทรงให้ทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง
มิได้ทรงให้ทานโดยความนอบน้อม
แต่กลับให้ทานด้วยกิริยาทิ้งๆ ไป
กาลต่อมาราชาปายาสิได้ถึงกาลกิริยาสิ้นพระชนม์ลง แล้วจึงไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราช เขาได้มีวิมานชื่อเสรีสกะ อันว่างเปล่าเป็นที่อยู่ ได้เป็นสหายกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้มั่งคั่งเพียบพร้อม
ส่วนอุตตรมาณพซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ให้ทานของเจ้าปายาสินั้น ท่านให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม มิได้ให้ทานอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ
ครั้นถึงกาลกิริยาลง เขาได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานอันโอฬาร เต็มไปด้วยทรัพย์สิน ศฤงคารบริวารเป็นเทพบุตร เทพธิดา พรั่งพร้อม มีเทพพยดาผู้มียศ มีเกียรติในชั้นดาวดึงส์เป็นสหายมากมาย
เรื่องทิฐิของราชาปายาสิ แม้จะยอมจำนนต่อเหตุผล และสติปัญญาของพระกุมารกัสสปะ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งอัสมิมานะ ความถือตัวถือตนอยู่เช่นเดิม จึงได้ผลแห่งทานอันหยาบกระด้าง
นี่คือตัวอย่างของผู้ที่มีตัวกูใหญ่ อีโก้สูง จึงปรับตัวให้เข้ากับหลักการ เหตุผล และสติปัญญา ของผู้อื่นได้ยากยิ่งแม้จะทำบุญ บำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แต่กระทำด้วยกิริยาที่หยาบกระด้าง ไม่มีความอ่อนน้อม ไม่เคารพในทาน ในศีล ในสมาธิ ในสติ ในปัญญาที่ตนบำเพ็ญปฏิบัติ
สุดท้าย เมื่อถึงคราวที่จักต้องรับผลของคุณงามความดีนั้นๆ ก็จักได้รับผลตอบสนอง ด้วยความหยาบกระด้าง ไม่ประณีต ดุจดังราชาปายาสิเป็นต้น
เขียนมาถึงตอนนี้แล้วทำให้หวนคำนึง ระลึกถึงพฤติกรรมของเด็กหญิงหยก และผู้คนในยุคปัจจุบัน ทำให้อดนึกไม่ได้ว่า
คนพวกนี้เขาจักได้รับผลกรรมทั้งดีและเลวอย่างหยาบกระด้าง เลวทราม ขนาดไหนกันนะ
ตอนนี้คงจักยังตอบไม่ได้ คงต้องรอให้คนพวกนี้ตายไปก่อนแล้วคอยตามไปดู แล้วจึงจะมาตอบได้
แม้จะยังไม่ตายด้วยกรรมอันหยาบกระด้างที่กระทำมาทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เขาก็ต้องได้รับผลอันเผ็ดร้อน หยาบคาย ทุกข์ทรมานไม่เบาทีเดียว
ด้วยเพราะพระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการยกอุปมาทั้งบุคลาธิษฐาน และธรรมาธิษฐานอย่างพิสดาร ประกอบด้วยหลักเหตุและผล
พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะในด้านใช้ถ้อยคำอันวิจิตร (กล่าวถ้อยคำที่ไพเราะ)
พุทธะอิสระ
——————————————–