ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ (ตอนที่ 7)

0
58

ประวัติ ท่านพระกุมารกัสสปะ (ตอนที่ ๗)
๑๘ มีนาคม ๒๕๖๖

วันนี้พอมีเวลาว่างจากภารกิจต่างๆ ทั้งงานนอกงานใน จึงมานั่งเขียนอัตชีวประวัติของพระกุมารกัสสปะมหาเถระ พุทธสาวกแห่งองค์พระบรมศาสดากันต่อ

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระกุมารกัสสปะท่านได้ทูลถามปัญหาแต่องค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาถึงข้อที่ ๙ ความว่า อะไรชื่อว่า กระบอกน้ำ

องค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงวิสัชนาตอบว่า

ดูกรภิกษุ คำว่า กระบอกน้ำ หมายถึง เครื่องสกัดกั้นความดีทั้ง ๕ อย่าง อันได้แก่
ความพึงพอใจในกามคุณ

ความคิดปองร้าย

ความหดหู่ง่วงงุน

ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ความลังเลสงสัย

บุคคลผู้ตกอยู่ในเครื่องกางกั้นทั้ง ๕ ที่เรียกว่า นิวรณ์ ย่อมมิอาจเข้าถึงกุศลธรรมอันรุ่งเรืองได้ ดุจดังกระบอกน้ำที่กักขังน้ำมิให้ไหลซึมได้ฉะนั้น

พระกุมารกัสสปะจึงทูลถามปัญหาต่อว่า

ภันเตภะคะวา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันยิ่ง อะไรชื่อว่า เต่า เล่าพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสตอบว่า ความยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ อันมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันเป็นประดุจดังเต่าที่มีขา ๔ ขา มีหัว ๑ หัว ที่คอยโผล่ยื่นออกไปจากกระดองเพื่อรับรู้ รับสัมผัสกามคุณทั้ง ๕ จนเกิดเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ให้จิตนี้จมปลัก ยึดติด เปรอะเปื้อนจนเกิดความทุกข์ ทนได้ยาก

บุคคลผู้มีปัญญาพึงเห็นโทษ เห็นภัยของการไม่สำรวม สังวร ระวัง ในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ พึงคลายความยึดมั่น ถือมั่น ในขันธ์ทั้ง ๕ และกามคุณทั้ง ๕ นั้นเสีย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรชื่อว่า เขียง พระพุทธเจ้าข้า

ดูกรภิกษุ คำว่า เขียง หมายถึง กามคุณทั้ง ๕ อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันเป็นที่รักที่พอใจ

ดุจดังชิ้นเนื้อที่วางไว้บนเขียง กำลังถูกชำแหละ หั่นฝ่าเป็นชิ้นๆ ด้วยมีดอันคมกริบฉันใด

บุคคลผู้ถูกกิเลส กามคุณทั้ง ๕ ครอบงำ ก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนเนื้อที่ถูกวางไว้บนเขียง ไม่ว่าจะถูกมีดคมชำแหละ สับ หัน ฝ่า สักเพียงใดก็มิอาจพ้นหนีรอดไปได้ฉันนั้น

บุคคลผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษเห็นภัยของกิเลส กามคุณทั้ง ๕ ดังกล่าว จึงไม่ควรข้องแวะในกามคุณทั้ง ๕ ควรละกามคุณทั้ง ๕ นั้นเสีย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอะไรชื่อว่า ชิ้นเนื้อ เล่าพระพุทธเจ้าข้า

ดูกรภิกษุ ชิ้นเนื้อ หมายถึง ความพึงพอใจ ความรักใคร่ ความเพลิดเพลิน ความติดอยู่ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันจักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ยากเป็นภาระ เดือดร้อนตามมา

ภันเตภะคะวา ข้าแต่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ อะไรชื่อว่า นาค พระพุทธเจ้าข้า

ดูกรภิกษุ คำว่า นาค หมายถึง ภิกษุ

เป็นผู้ วางเฉยเสียได้จากสิ่งเร้าเครื่องล่อทั้งหลาย

เป็นผู้ ตั้งอยู่ในสภาวะ หมดเชื้อไม่เหลือซากแล้ว

เป็นผู้ หลุดพ้น แล้วจากการครอบงำทั้งปวง

เป็นผู้ มีชัยต่ออุปสรรค ภยันอันตรายและมารทั้งปวง

เป็นภิกษุอเสขะ ผู้จบกิจสิ้นความกังขา หมดอาลัยในภพทั้งปวง ดุจดังพญานาคผู้ดำรงอยู่ในการบำเพ็ญตบะฉะนั้น

พระกุมารกัสสปะส่งจิตพิจารณาขณะฟังพะรพุทธวาจา ที่วิสัชนาแก้ปัญหา แต่ละข้อ แต่ละข้อ จิตก็เข้าสู่วิถีแห่งอริยมรรค อริยผล ตั้งแต่

พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล

พระอนาคามีมรรค พระอนาคามีผล

พระสกทาคามีมรรค พระสกทาคามีผล

พระอรหันตมรรค พระอรหันตผล

พร้อมปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ อันประกอบด้วย

1. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาเห็นแจ้งในความหมายในหัวข้อธรรมทั้งที่กว้างขวางและย่นย่อ ทั้งยังสามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปโดยพิสดาร เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจถึงเหตุและผลอย่างกระจ่างชัด

2. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ่มแจ้งใจในหลักธรรมต่างๆ อย่างลุ่มลึกพิสดาร สามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืนกับวิถีโลกและวิถีธรรมโดยไม่ขัดแย้งกัน ทั้งยังแสดงหลักธรรมอันลุ่มลึกนั้นให้เข้าใจง่าย ปฏิบัติตามได้ผลจริง สำหรับผู้สนใจปฏิบัติ

3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษาต่างๆ ที่ใช้สื่อความ ทั้งของคนและสัตว์, ปรีชาแจ้งชัดในรากศัพท์หรือถ้อยคำที่บัญญัติขึ้น รวมทั้งเข้าใจใช้คำพูดและถ้อยคำที่รวบรัด ชัดเจนให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้

4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความเห็นปัญหา แก้ปัญหา, ปรีชาแจ้งชัดในการชี้แจง ตอบโต้ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ โดยฉับพลันด้วยไหวพริบ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าโดยแม่นยำ และมองเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างเข้าใจแจ่มชัด ทะลุปรุโปร่ง

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02zrGg8o8Ki2Zo9ievv4TVuFnvTWvoX6Zux38tY4eo17b9p3g45YZFUDnxe9YWDv3tl