ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ (ตอนที่ ๓)
๑ มีนาคม ๒๕๖๖
ความเดิมตอนที่แล้ว
จบลงตรงที่พระเทวทัตอาศัยอำนาจความไม่รู้เหตุ ไม่มีความใคร่ครวญอย่างอดทน ไร้ความเมตตา ขาดความกรุณาปรารถนาดี รักประโยชน์ตนเองและความขลาดกลัว
ทำให้พระเทวทัตตัดสินให้นางภิกษุณีกุลธิดา ผู้ท้องแก่โดยไม่รู้ตัวนั้น ต้องสึกออกจากความเป็นพระภิกษุณี โดยที่ไม่ได้ไต่สวน สอบถามใดๆ เลย
ภิกษุณีผู้มีอายุครั้งได้ฟังคำตัดสินของพระเทวทัต ผู้เป็นเจ้าสำนัก จึงรับคำสั่งปฏิบัติ พร้อมลากลับไปยังที่พำนักของตน เพื่อมาประชุมกันที่จะประกาศมติสงฆ์จาริณีลงโทษ ให้นางภิกษุณีกุลธิดาลาสิกขาออกจากสมณเพศ
ฝ่ายนางกุลธิดาภิกษุณี พอได้รับรู้มติของคณะสงฆ์จาริณี ประกาศให้นางต้องสึก นางภิกษุณีกุลธิดาจึงกล่าวขึ้นในที่ประชุมสงฆ์จาริณีว่า
พระคุณเจ้าขา ประโยชน์อันใดที่ดิฉันต้องทำตามคำสั่งของพระคุณเจ้าเทวทัต ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความไม่รู้เหตุ ไม่มีความใคร่ครวญอย่างอดทน ไร้ความเมตตา ขาดความกรุณาปรารถนาดี รักประโยชน์ตนเอง และความขลาดกลัว
แล้วสั่งลงโทษแก่ดิฉัน ผู้ไม่ถูกไต่สวน สอบถามหาเหตุที่เกิดผลเช่นนี้
พระคุณเจ้าเทวทัต มิใช้พระบรมศาสดา
ดิฉันมิได้บวชเพื่ออุทิศให้พระเทวทัต
ดิฉันบวชเพื่ออุทิศให้พระบรมศาสดา ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐในโลก
การได้บวชของดิฉันได้มายาก แล้วจักมาถูกทำลายเสียด้วย ผู้ที่ไม่รู้จักเหตุ ได้อย่างไรเล่าเจ้าค่ะ
พระคุณเจ้าขา โปรดมีจิตเมตตา เอื้อเฟื้อต่อดิฉันด้วย อย่าพึ่งถืออคติ ลงโทษดิฉันอย่างไม่รู้เหตุแห่งความผิดนั้นเลย
ขอพระคุณเจ้าขา โปรดได้พาดิฉันไปเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดา ณ
เชตะวันมหาวิหารเถิดพระคุณเจ้าขา
ฝ่ายภิกษุณีผู้มีอายุ เห็นคล้อยตามคำขอร้องของนางภิกษุณีกุลธิดา
จึงพาตัวนางภิกษุณีกุลธิดาออกเดินทางไปเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหารอาราม
สิ้นเวลาเดินทางไป ๓ เดือนได้ระยะทาง ๔๕ โยชน์ จึงถึงพระเชตวันมหาวิหาร
ครั้งถึงกาลอันควรหมู่ภิกษุณีทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าถวายอภิวาทต่อองค์พระบรมศาสดา แล้วทูลความเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นถวายองค์พระบรมศาสดาให้ทรงวินิจฉัย
องค์พระบรมศาสดาทรงดำริถึงเรื่องนี้เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาอธิกรณ์ ของหมู่สงฆ์ต่อไปในอนาคต อีกทั้งทรงต้องการทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อจักได้หยุดยั้งคำนินทา
จึงทรงทูลเชิญราชาโกศล มาเป็นประธานฝ่ายบ้านเมือง อีกทั้งยังทรงมีพุทธฎีกาเชิญอนาถบิณฑิกเศรษฐีประธานฝ่ายอุบาสก จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขาฝ่ายอุบาสิกา และตระกูลใหญ่ๆ ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกามาประชุมกันให้พรั่งพร้อม พร้อมด้วยพระภิกษุสังฆ์และภิกษุณีที่จำพรรษาอยู่ในอารามเชตวันมหาวิหาร ณ ขณะนั้น
ทั้งยังทรงให้กั้นม่านไว้ในที่มุ้งที่บัง อันมิดชิดส่วนข้างหนึ่ง เพื่อให้นางวิสาขาตรวจดูครรภ์ของนางภิกษุณีกุลธิดา
เมื่อบริษัททั้ง ๔ มาประชุมกันพร้อมแล้ว
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอุบาลีเถระ มาให้เป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวน สืบสาวหาเหตุเพื่อระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นแก่นางกุลธิดาภิกษุณีให้ถูกตรงต่อความเป็นจริง
(ย้ำว่าถูกตรงต่อความเป็นจริง ด้วยเพราะความถูกตรงต่อความเป็นจริงนั่นแหละ คือ ความยุติธรรม)
นอกจากจะทรงตรัสให้พระอุบาลีสืบสาวไต่ถามหาต้นเหตุแห่งการตั้งท้องของนางภิกษุณีกุลธิดา ในท่ามกลางมหาสมาคมของภิกษุบริษัททั้ง ๔ อันมีพระราชาปเสนทิโกศล เป็นประธาน
นี่คือวิธีระงับอธิกรณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังฆมณฑลที่องค์พระบรมศาสดาทรงวางหลักการ รากฐานเอาไว้ให้เป็นมรดกทางวินัยกรรมของหมู่สงฆ์สาวกแห่งองค์พระบรมศาสดา
แต่หมู่พระภิกษุสงฆ์สาวกแห่งองค์พระบรมศาสดาในยุคนี้ ดูเหมือนจะไม่ยอมรับมรดกทางวินัยกรรม ที่ทรงวางรากฐานและทรงประทานให้
ซึ่งเราท่านทั้งหลายจะเห็นว่าปัจจุบัน หากมีอธิกรณ์เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ พวกภิกษุสงฆ์ผู้ปกครอง ก็มักจะช่วยกันปกปิดหรือไม่ก็หลบๆ แอบๆ ปิดบัง อำพราง หากเรื่องมันแดงจวนตัวก็ทำทีรับลูก รับเรื่องนำมาแอบปิดห้องพิจารณากันเอง
โดยไม่เปิดเผยและไม่ได้อยู่พร้อมหน้าบุคคล พร้อมหน้าวัตถุ พร้อมหน้าพยาน พร้อมหน้าโจทก์ พร้อมหน้าจำเลย ตามหลักที่พระบรมศาสดาทรงวางเอาไว้
โดยเฉพาะเรื่องใดที่เป็นเรื่องเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของคณะสงฆ์
เรื่องใดที่เป็นสิ่งที่ชาวโลกติเตียน (โลกวัชชะ)
เรื่องใดที่จักนำความเสื่อมศรัทธา ทำลายศรัทธาแก่มหาชน ผู้ศรัทธาแล้ว และชนผู้ยังไม่ศรัทธา หรือชนผู้กำลังศรัทธาให้เสื่อมถอย เสียหาย
พระบรมศาสดาทรงวางหลักการ รากฐานเอาไว้อย่างเคร่งครัด เปิดเผย จริงจัง จริงใจ ที่จะทำให้ความจริงปรากฏขึ้นแก่บริษัททั้ง ๔ และมหาชน ผู้ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสโดยเร็วไว
หาได้ล่าช้า ยืดยาด อืดอาด ปิดบัง อำพราง ซ่อนเร้น ดังทีเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ปัจจุบัน
เห็นแล้ว คิดแล้ว เหนื่อยแทนผู้ศรัทธา
พุทธะอิสระ
——————————————–