ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ ๕)
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
หลังจากพระอนุรุทธะท่านได้บรรลุอรหันต์ พร้อมด้วยเป็นเลิศด้านมีตาทิพย์
ในเวลาต่อมาท่านพระอนุรุทธะเถระได้จำพรรษาอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์
ครั้งนั้นจีวรท่านเก่าคร่ำคร่าจนขาดรุ่งริ่ง ท่านก็เย็บปะอยู่หลายครั้ง จนไม่มีผ้าจะให้ใช้ปะจีวรแล้ว
ท่านจึงออกแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วตามกองขยะ และป่าช้า เพื่อเก็บผ้าที่เขาห่อศพมาทิ้ง
ขณะที่ท่านเดินหาผ้าอยู่นั้น เทพธิดาองค์หนึ่งซึ่งในอดีตชาติได้เกิดเป็นภรรยาของท่านได้เห็นด้วยทิพย์จักษุว่า พระเถระอนุรุทธะกำลังเดินหาผ้าจากกองขยะและซากศพอยู่ เพื่อมาซ่อมจีวร
เทพธิดานั้นจึงเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้เหาะลงมาจากวิมานของตน พร้อมกับภูษาทิพย์
แล้วตรึงอยู่ว่า หากเรานำผ้านี้ไปถวายแก่พระเถระโดยตรง ท่านคงจะไม่ยอมรับผ้านี้เป็นแน่
จึงได้คิดอุบาย นำผ้านั้นไปซุกไว้ในกองขยะ โดยปล่อยให้ชายผ้าโผล่ออกมาจากกองขยะข้างหนึ่ง เพื่อให้พระเถระได้สังเกตเห็น แล้วเทพธิดานั้นก็เหาะกลับไปสู่วิมานของตน
ต่อมาพระอนุรุทธะเถอะ เดินมาตรงกองขยะกองนั้น พลันได้เหลืบไปเห็นชายผ้าโผล่ออกมาจากกองขยะ ท่านจึงตรงเข้าไปจับชายผ้าแล้วพิจารณาว่า ผ้าผืนนี้เป็นผ้าที่เขาทอดธุระทิ้งเสียแล้ว มิมีเจ้าของเป็นของกลาง ช่างเป็นลาภของเราที่ต้องการใช้ผ้า เพื่อนำไปเย็บจีวร
เราขอถือเอาผ้านี้ไปเพื่อประโยชน์แก่การดำรงพรหมจรรย์ แล้วนำผ้านั้นกลับไปสู่เวฬุวันอาราม
เมื่อท่านนำผ้านั้นมาพิจารณาคลี่ดูเห็นว่า ผ้านี้สามารถตัดเย็บเป็นจีวรได้
ขณะนั้นพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่า บัดนี้อนุรุทธะเถระศากยบุตร ปรารถนาจะเย็บจีวรจากผ้าที่ท่านบังสุกุลมา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพุทธดำรัสตรัสถึงหมู่ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่พักนำอยู่ในเวฬุวันมหาวิหาร ให้ไปช่วยพระอนุรุทธะตัดเย็บจีวร
โดยพระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จไปช่วยร้อยด้ายใส่เข็ม
พระมหากัสสปะ นั่งจับอยู่หัวผ้า
พระสารีบุตร นั่งจับอยู่กลางผ้า
พระอานนท์ นั่งจับผ้าอยู่ด้านปลายผ้า
พระมหาเถระทั้ง ๓ องค์ ต่างช่วยกันเย็บจีวร ส่วนหมู่สงฆ์ที่เหลือ ก็ช่วยกันตัด ช่วยกันกรอด้าย ช่วยกันย้อมผ้าด้วยน้ำฝาด
ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะ กับนางเทพธิดาชาลินีผู้เป็นเจ้าของผ้า ได้เหาะไปสู่หมู่บ้านและในเมือง เพื่อแจ้งข่าวแก่อุบาสก อุบาสิกา ผู้ศรัทธา นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดา และหมู่พระภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป
ทำให้การตัดเย็บ ย้อมผ้าจีวรของพระอนุรุทธะมหาเถระสำเร็จภายในเวลา ๑ วัน
การหาผ้าตัดเย็บ ย้อมจีวรของพระอนุรุทธะครั้งนี้ จึงกลายเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติในการหาผ้าที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร (กลายเป็นผ้าป่าในเวลานี้) ในเวลาต่อมา เรียกว่า ผ้าป่าหรือทอดผ้าป่า
อีกทั้งเมื่อได้ผ้านั้นมาแล้ว จึงได้เกิดธรรมเนียมที่คณะสงฆ์ต้องช่วยกันอนุเคราะห์ต่อกันและกัน เพื่อความสมัครสมาน สามัคคี กลมเกลียวในการตัดเย็บ ย้อมจีวรในหมู่พระสงฆ์
พระอนุรุทธะเถระ ท่านได้ดำรงชนชีพมาจนถึงหลังพุทธปรินิพพาน
ในวันที่องค์พระบรมศาสดาทรงนิพพาน ณ สาลวโนทยาน นั้นได้ทำหน้าที่ใช้ทิพยจักษุอันวิเศษติดตามดูอาการนิพพานขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าไปทุกขณะ พุทธจิต จนถึงจิตสุดท้ายที่ขจัดสนิทโดนไม่เหลือเชื้อ
ทั้งยังได้ร่วมทำปฐมสังคายนากับพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ คน ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
พระอนุรุทธะเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลา ท่านก็ดับขันธ์นิพพานภายในร่มไผ่ที่อยู่ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ จบแล้วจ้า
พุทธะอิสระ
——————————————–