ถามมา ตอบไป : เราจักรู้ได้อย่างไรว่าเรามีสมาธิ, ปัญญา

0
59

ถามมา ตอบไป
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

ถาม :

เราจักรู้ได้อย่างไรว่าเรามีสมาธิ

ตอบ :

รู้ได้ด้วยการทำงานภายนอก และงานภายในตั้งมั่น ถูกต้อง ชัดเจน นั่นแหละคือผู้มีสมาธิ

อีกอย่างคราใดที่เราตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว โดยมิมีอารมณ์อื่นใดมาสอดแทรกเลยอย่างตั้งมั่น นั่นชื่อว่า สมาธิ แล้ว

ถาม :

เราจักรู้ได้อย่างไร ว่าเรามีปัญญา

ตอบ :

การงานทั้งภายนอกและการงานภายในสะอาด หมดจด สำเร็จประโยชน์ดั่งเป้าประสงค์ และหากต้องการผลของการงานที่สะอาดมากๆ ก็ต้องเป็นการงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น สิ่งอื่น ชีวิตอื่นเป็นที่ตั้ง

ดังพระพุทธธรรมคำสั่งสอนแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า

“องค์ราชาปเสนทิโกศล ทูลถามว่า ผู้เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นผู้หมดกามคุณ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสตอบ จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ด้วยกันนานๆ

จะรู้ว่ามีความสะอาดหรือไม่ ดูได้ด้วยการทำงาน (หรือเจรจา) ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นมากกว่าหรือไม่

จะรู้ว่ามีปัญญาหรือไม่ ก็ด้วยการสนทนา ดูว่าบทสนทนานั้นจักทำให้ผู้ฟังรุ่งเรืองปัญญาหรือไม่

จะรู้ว่ามีสมาธิเข้มแข็ง มีตบะหรือไม่ ก็ต้องดูขณะเกิดเรื่อง หรือตกอยู่ในอันตรายว่าเขาสงบนิ่งอยู่ด้วยสติและปัญญาหรือไม่”

“ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นของ๔อย่างว่าเป็นของเล็กน้อย” คือ

(๑) อย่าดูถูก_ดูหมิ่นกษัตริย์ว่ายังทรงพระเยาว์

(๒) อย่าดูถูก_ดูหมิ่นงูว่าตัวเล็ก

(๓) อย่าดูถูก_ดูหมิ่นไฟว่าเล็กน้อย

(๔) อย่าดูถูก_ดูหมิ่นสมณะ ชี พราหมณ์ ผู้มีวัยยังหนุ่ม

ของ ๔ อย่างนี้ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะพระมหากษัตริย์แม้ยังทรงพระเยาว์ แต่ก็มีพระราชอำนาจมาก หากทรงพิโรธขึ้นมาอาจลงพระราชอาญาอย่างหนักได้

งูพิษแม้ตัวเล็กก็กัดคนให้ถึงตายได้

ไฟแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเผาบ้านเผาเรือนให้วอดวายได้

สมณะ ชี พราหมณ์แม้ยังหนุ่ม แต่ก็เป็นผู้มีศีล ผู้ใดประทุษร้ายต่อสมณะ ชี พราหมณ์ ผลแห่งกรรมชั่วย่อมแผดเผาผู้นั้น แม้ทรัพย์สมบัติของผู้นั้นย่อมพินาศ เป็นเหตุให้ครอบครัวต้องเดือดร้อนไปด้วย

ด้วยหลักการทั้งปวงที่กล่าวมานี้ หากพิจารณาปฏิบัติจนรู้ชัด ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิงค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02ND8ezQjfRQSvGT2b1BVFrvstXj82QnCpX3rfrawQEZcxbq9L5PchTkiZ7FnhKXy1l