ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ 3)

0
109

ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ ๓)
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

ตอนที่แล้วจบลงตรงที่

อุบาลีได้รับมอบเครื่องประดับจากองค์ชายทั้ง ๖ คือ เจ้าชายที่มาจากราชสกุลศากยะ ๕ พระองค์ อันได้แก่ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายที่มาราชสกุลโกลิยะอีก ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต

องค์ชายทุกพระองค์ด้วยปรารถนาจักออกบวช จึงได้มอบภูษาทรงพร้อมเครื่องประดับที่เพชรนิลจินดาที่ติดพระองค์ พระราชทานให้แก่อุบาลี ซึ่งเป็นทั้งเพื่อน และเป็นทั้งคนรับใช้ เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงชีพ ทั้งยังทรงสั่งกำชับว่า

จงไปแจ้งแก่บรรดาพระญาติพระวงศ์ของเราว่า เราจะไปออกบวชอยู่กับพระบรมศาสดาสมณโคดม

แล้วยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ก็เสด็จไปเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดาที่ทรงประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน ณ เมืองพาราณสี เพื่อขอพุทธานุญาตออกบวช

ข้างอุบาลีเมื่อได้รับภูษาทรงและเครื่องประดับของยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ มาแล้ว จึงเดินครุ่นคิดตลอดทางว่า หากเรากลับไปยังพระนครพร้อมห่อเครื่องประดับเหล่านี้ แล้วเข้าไปทูลพระประยูรญาติของยุวกษัตริย์ทั้ง ๖

เราอาจถูกเพ่งโทษกล่าวหาว่า ฆ่ายุวกษัตริย์ทั้ง ๖ เสียแล้ว เพื่อปล้นเอาเครื่องประดับ เช่นนี้เราก็อย่าได้เข้าไปเฝ้าเลย ขอติดตามยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ ไปดีกว่า

อุบาลีหนุ่มคิดดังนี้แล้ว จึงนำเอาภูษาทรงและเครื่องประดับต่างๆ ทยอยวางแขวนไว้กับต้นไม้ กิ่งไม้ โคนไม้ โดยตั้งใจว่า ผู้ใดผ่านมาพบเห็นของมีค่าเหล่านี้ จงหยิบฉวยเอาไปโดยไม่มีโทษ เพราะเราอุทิศให้

เรียบร้อยแล้ว อุบาลี จึงหันหลังกลับรีบติดตามยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ ไปยังอนุปิยอัมพวัน ที่ประทับขององค์พระบรมศาสดา

เมื่อถึงอนุปิยอัมพวัน จึงเข้าไปแจ้งเรื่องทั้งหมดแก่ยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ แล้วแสดงความปรารถนาว่า ขอออกบวชตามยุวกษัตริย์ทั้ง ๖

ยุวกษัตริย์ทั้ง ๖ ครั้นได้ฟังความประสงค์เช่นนั้น จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า ไหนๆ พวกเราก็สมัครใจจะออกบวชแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเราควรกำจัดคือความถือตัวถือตนของชาติตระกูล เช่นนั้นก็ให้อุบาลีได้บวชก่อนเถิด

เมื่อบวชแล้วพวกเราจึงจักเป็นผู้บวชทีหลัง จักได้ทำความเคารพนอบน้อมต่ออุบาลีผู้มีอายุ ทั้ง ๖ ยุวกษัตริย์หารือกันเช่นนั้นแล้ว

อนุรุทธะ จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ มีขัตติยมานะแรงกล้า ขอพระองค์ประทานการบรรพชาให้แก่อุบาลี ผู้เป็นอำมาตย์รับใช้ปวงข้าพระองค์ก่อนเถิดพระพุทธเจ้าข้า เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจะได้แสดงคารวะกราบไหว้ อุบาลี ตามประเพณีนิยมของพระพุทธสาวก จะได้เปลื้องปลด ขัตติยมานะให้หมดสิ้นไปจากสันดาน”

พระพุทธองค์ตรัสอนุโมทนา แล้วประทานการบรรพชาแก่อุบาลีก่อนตามประสงค์แล้วประทานการบรรพชาแก่กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ภายหลัง เมื่อบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว

พระภัททิยะ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมไตรวิชา (วิชา ๓) ภายในพรรษานั้น

(ไตรวิชา คือ ความรู้แจ้งในทางพระพุทธศาสนา ๓ อย่าง คือ ๑. ระลึกชาติหนหลังได้ ๒. รู้การตายการเกิดของคนและสัตว์ ๓. รู้วิธีทำให้กิเลสสิ้นไป)

พระอนุรุทธะ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้วเข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการคือ

๑. ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนามาก

๒. ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ธรรมของผู้ไม่สันโดษ

๓. ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่

๔. ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน

๕. ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง

๖. ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจกลับกลอก

๗. ธรรมนี้ของผู้มีปัญญาเจริญ ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม

เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอกำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะให้ตรึกในข้อที่ ๘ ว่า

๘. ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนพระเถระแล้ว ได้เสด็จกลับสู่ที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะ ได้บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุญาณเสมอ ยกเว้นขณะกำลังฉันภัตตาหารเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา ได้ตรัสยกย่องชมเชยท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้มีทิพยจักษุญาณ

จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid0r2GnPMi35noaMFrXFfHB6jXp6hPiwg8q4MTrA4GmaGiKy2UjRZhvXo2oSmYEgFf2l