ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ 2)

0
62

ประวัติพระอนุรุทธเถระ (ตอนที่ ๒)
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

ความเดินตอนที่แล้ว

จบลงตรงที่เจ้าชายอนุรุทธะซึ่งเป็นพระราชบุตรของพรเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นเสด็จอาขององค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เจ้าชายอนุรุทธะปรารถนาจะออกบวช เพื่อหลีกหนีจากการงานที่ตนจะต้องรับหน้าที่แทนพี่ชาย คือ เจ้าชายมหานามะ ที่ทรงปรารถนาจะออกบวช ซึ่งจักต้องยกราชสมบัติ และภาระหน้าที่การงานที่มีอยู่มากมายให้แก่น้องชาย

แต่เจ้าชายอนุรุทธะ ไม่เคยทำการงานเหล่านั้นมาก่อน จึงได้ทรงปฏิเสธ และสมัครใจที่จักออกบวชเอง

จึงทรงเข้าไปตรัสขออนุญาตพระราชบิดา พระมารดาออกบวช แต่ก็ได้รับการคัดค้าน จากพระราชมารดา และพระบิดา

แม้เจ้าชายอนุรุทธะ จักทรงอ้อนวอนอยู่หลายครั้ง แต่พระมารดา พระบิดา ก็มิทรงยินยอม
เจ้าชายอนุรุทธะ จึงได้ทรงประท้วง ด้วยการอดพระกระยาหาร พร้อมทั้งขู่ว่า หากพระองค์ทั้งสองยังไม่ยอมให้ลูกบวช ลูกจักอดอาหารจนตาย ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน เจ้าชายอนุรุทธะก็ยังประท้วงด้วยการอดอาหารอยู่เช่นนั้น

พระมารดา ทรงเห็นว่า พระราชบุตรอนุรุทธะทรงมีพระปนิธานแนวแน่ที่จักออกบวช หากพระมารดา พระบิดา ยังทรงแข็งขืนยืนยันห้ามไม่ให้บวช ราชบุตรอนุรุทธะคงจักประท้วงอดอาหารจนตายเป็นแน่

เช่นนั้นก็ยินยอมให้ลูกเราไปบวชเถิด เพราะเมื่อบวชแล้ว ลูกเราก็จักกลับมากินอาหารได้ดังเดิม มัจจุราชก็จักไม่มาเอาชีวิตลูกเรา

หากพอได้บวชแล้วทนต่อชีวิตที่เป็นอยู่อย่างยากลำบากในสมณเพศไม่ได้ก็จักกลับมาสู่เรือนเอง

ทั้งสองพระองค์ทรงปรึกษาหารือ และทรงตกลงปลงพระทัยยินยอมให้พระราชบุตรสุดที่รักอนุรุทธะออกบวช

แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเจ้าชายภัททิยะพระสหายออกบวชด้วยจึงจะให้บวช เจ้าชายอนุรุทธะดีใจรีบไปชวนเจ้าชายภัททิยะให้บวชด้วยกันโดยกล่าวว่า

“การบวชของเราเนื่องด้วยท่าน ถ้าท่านบวชเราจึงจะได้บวช” อ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน เจ้าชายภัททิยะจึงยอมบวชด้วย

ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะอีก ๕ พระองค์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ

และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต

พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี

รวมเป็น ๗ พระองค์ เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน เมืองพาราณสี ในระหว่างทางเจ้าชายทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่งมอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามมาด้วย พร้อมทั้งตรัสสั่งว่า

“ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายขายเลี้ยงชีพเถิด”

อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์ พลางคิดขึ้นมาว่า

“ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่าเราทำอันตรายต่อพระราชกุมารเสียสิ้นแล้ว นำเครื่องประดับมาเช่นนี้ ก็อาจจะลงอาญาต่อเราจนถึงชีวิตเสียได้

อนึ่งเล่า เจ้าชายศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าแล้วออกบวชโดยมิมีอาลัยต่อราชสมบัติแล้ว ตัวเราเล่าจักมีอะไรนักหนาทั้งยังจะมารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้อีกกระนั้นหรือ”

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงแก้ห่อผ้านำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้ตามต้นไม้แล้วกล่าวว่า

“ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว”

จากนั้นก็ออกเดินทางติดตามเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย

พุทธะอิสระ

——————————————–

ลิ้งค์จาก : https://www.facebook.com/buddha.isara/posts/pfbid02fJKS712yEFwdBswFTVDQiWQDmZHs6S1TD15Lx3aTxvX8z1waPWoYucsKMVLeS3wtl