สรภังคชาดก (ตอนที่ ๑๗)
๒๕ มกราคม ๒๕๖๖
ความเดินตอนที่แล้ว
องค์อินทราธิราชได้ถามปัญหาแก่คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ว่า
ทาน, ศีล, สมาธิ, คุณธรรมความกตัญญู, ปัญญา อย่างไรชื่อว่าประเสริฐสุด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ทาน, ศีล, สมาธิ, คุณธรรมความกตัญญู หาได้ประเสริฐกว่าปัญญาเป็นไม่มี ปัญญาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เจริญพร
สาธุ สาธุ สาธุ เทวดา ฤาษี และหมู่มนุษย์ทั้งหลายได้เปล่งสาธุการ ขึ้นพร้อมกัน
องค์อินทราธิราชจึงทรงตรัสถามปัญหาข้อต่อมาว่า
ข้าแด่ท่านคุรุผู้ประเสริฐทำเช่นไรปัญญาจึงจักมีแก่พวกข้าพเจ้าได้เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงทูลว่า
บุคคลไม่พึงคบคนพาลอันประกอบไปด้วยเหตุแห่งความอัปมงคล ๔ อย่างได้แก่
1. ชอบคิดชั่ว เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น ละโมบอยากได้ของคนอื่น พยาบาทปองร้ายเขา
2. ชอบพูดชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ
3. ชอบประพฤติชั่ว ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามคุณ
4. เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
เมื่อไม่คบคนพาลแล้วควรเลือกคนแต่ผู้เป็นบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์ ผู้รู้ อันมีคุณลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้
1. มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
2. พูดจริง พูดตรง พูดเพื่อจะเกื้อกูลประโยชน์ พูดด้วยจิตเมตตา พูดเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญา
3. ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นด้วยการกระทำ ทั้งยังช่วยกรุณาสงเคราะห์ อนุเคราะห์ทั้งตนและคนอื่น เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามคุณ
เมื่ออยู่ใกล้บัณฑิตผู้มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว บุคคลผู้ปรารถนาให้ปัญญาเจริญต้องประพฤติตนเป็นผู้ว่าง่าย สอนง่ายด้วยการ
๑. แสดงความเคารพ นอบน้อมต่อท่าน
๒. คอยรับใช้ เมื่อท่านมีกิจธุระใช้สอย ไหว้วาน
๓. เชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
๔. อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ
๕. ตั้งใจเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
เมื่อบุคคลได้พบบัณฑิต พบครูอาจารย์ผู้ทรงธรรม ทรงปัญญา สิ่งที่บุคคลควรต้องปฏิบัติ คือ การปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักการทั้ง ๕ ประการอย่างเคร่งครัด
เหล่านี้คือวิถีแห่งปัญญาอันประเสริฐ เจริญพร
สาธุ สาธุ สาธุ ชัดเจนยิ่งนักพระคุณเจ้าข้า
ยัง ยัง ไม่สิ้นกระแสเหตุแห่งวิถีปัญญา
เมื่อบุคคลเพียรพยายามกระทำตามคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ จนจบครบถ้วนตามกระบวนการของครูอาจารย์ แล้วเพียรพยายามฝึกฝน อบรมสมาธิ สติปัญญาแล้วพิจารณาถึงหลักแห่งความเป็นจริงในทุกลมหายใจ ด้วยความสำนึกระลึกรู้ถึงสภาพแห่งความจริง ทั้งที่มีอยู่ในตนและคนรอบข้าง
สรรพสิ่งรอบตัวด้วยการวางตัวเป็นกลางอย่างอิสระ เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง เจริญธรรม
เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์ลง ก็จักไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก เสวยสุขอย่างอิสระ เจริญธรรม
////////////////////////////////////////////////
เพื่อที่จะให้เทพบริวารและมหาชนได้เข้าใจอย่างแจ่มชัดในวิถีชีวิตและจิตใจ อารมณ์แห่งมหาคุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์และบริวาร องค์อินทราธิราชจอมกษัตริย์แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงได้ผูกปัญหาขึ้นมาถามแก่คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ ด้วยมธุรสคาถาว่า
เมื่อบุคคลผู้มีปัญญาเห็นกามคุณเป็นของไม่เที่ยงเช่นนี้แล้ว จักบังเกิดผลเช่นไรต่อเล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลตอบปัญหาแก่องค์อินทราธิราชด้วยภาษิตคาถาว่า
บุคคลผู้ใดเมื่อปราศจากราคะ ก็ย่อมปราศจากซึ่งโทสะ
เมื่อเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ ย่อมไม่ผูกพยาบาทแก่ผู้ใด
แม้จักต้องตกอยู่ในอันตรายจากบุคคล และสัตว์ผู้ผูกโกธร
เขาก็จักไม่ถือโทษ โกธรตอบ
ผู้ไม่ผูกโกธรตอบต่อผู้โกธร ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในการวางเฉยต่อสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งปวง
ครั้นเมื่อสิ้นชีพลงก็จักไปบังเกิดในพรหมโลกในที่สุด
ครั้นสิ้นภาษิตคาถาลง จิตขององค์ราชาทั้ง ๓ พระองค์ คือ องค์ราชากาลิงคะ องค์ราชาอัฏฐกะ และองค์ราชาภีมรถ ก็คลายจากความกำหนัดในกามคุณทั้งปวง
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวมธุรสคาถาขึ้นว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้ง ๓ พระองค์ การเสด็จพระดำเนินของพระองค์มาในครั้งนี้ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐยิ่งของพระองค์แล้ว
บัดนี้จิตของพระองค์ได้พ้นแล้วซึ่งการครอบงำของกามคุณทั้งปวง
ราชาทั้ง ๓ พระองค์จึงตรัสขึ้นพร้อมกันว่า
สาธุ สาธุ สาธุ ช่างอัศจรรย์นัก ช่างประเสริฐนัก นอกจากธรรมภาษิตของพระคุณเจ้าจักสามารถสำรอก ชำระล้างกามคุณในใจได้แล้ว พระคุณเจ้ายังสามารถรอบรู้วาระจิตของโยมทั้ง ๓ อีกด้วยหรือพระคุณเจ้าข้า
เช่นนั้น ขอพระคุณเจ้าโปรดเมตตายังให้มหาชนทั้งหลายที่ติดตามโยมมา ได้ละเสียซึ่งกามคุณทั้งปวงด้วยเถิด
เอาไว้มาติดตามต่อในวันหน้านะจ๊ะ
พุทธะอิสระ
——————————————–