สรภังคชาดก (ตอนที่ ๑๓)
๑๖ มกราคม ๒๕๖๖
ตอนที่แล้วจบลงตรงที่
องค์อินทราธิราชถามปัญหาที่มีในใจของมหาชนว่า องค์ราชาและชาวนครพาราณสีในอดีตได้ไปเกิดที่ใด
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้วิสัชนาแก้ปัญหานั้นว่า
ด้วยผลกรรมที่องค์ราชาทัณฑกีราช และชาวนครพาราณสีได้กระทำแก่ผู้ที่ไม่มีจิตคิดประทุษร้ายผู้มีศีลดุจดังเลือดเนื้อชีวิต มีสัจจะและขันติธรรมดุจดังท่อนกระดูก และเส้นเอ็นพังผืด
วิบากกรรมนั้นจึงส่งผลให้องค์ราชาและชาวนครพาราณสีได้ไปเกิดในนรกถ่านไฟ ที่ร้อนแรงจนไม่มีเปลวไฟ ไม่มีควัน หมกไหม้อยู่ในนรกกุกกุฬะ เช่นนั้นจนหมดกรรมหนัก
แล้วจักไปบังเกิดในนรกที่มีสุนัขตัวใหญ่เท่าอาชารุกไล่รุมกัด กินเลือดเนื้อราชาและชาวนครพาราณสี ก็จักวิ่งหนีไปจนกว่าจะหมดแรง แล้วถูกสุนัขนั้นกัดกินจนตาย
เมื่อพ้นจากสุนขะนรกนั้นมาแล้ว
ราชาและชาวนครพาราณสีก็จักไปบังเกิดในนรกแห่งมายาที่กลายเป็นความจริง สุดแต่สัตว์ที่บังเกิดในนรกขุมนี้จักคิด จักฝันอะไรนั้นก็จักกลายเป็นความจริง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปมา ซึ่งส่วนใหญ่สัตว์ผู้ตกอยู่ในนรกขุมนี้จักไม่คิดไม่ฝันในสิ่งดีๆ ด้วยเพราะอำนาจแห่งอกุศลกรรม ที่ได้กระทำไว้แต่ในอดีต จักตามหลอกหลอนส่งผลให้ต้องได้รับทุกข์เวทนา จวบจนสิ้นเวลาเป็นอสงขัย
ครั้นหมู่มนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย ได้ฟังคำวิสัชนาดังนี้แล้วก็บังเกิดความขนพองสยดสยอง เกรงกลัวต่ออกุศลกรรมที่ตนได้เคยกระทำกันถ้วนทั้งทุกตัวตน
องค์อินทราธิราช เมื่อได้รับทราบความรู้สึกนึกคิดของเทพบริวารและหมู่มนุษย์ทั้งหลายเช่นนั้น จึงได้ผูกปัญหาตรัสถามแก่คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ว่า
ช่างอัศจรรย์นัก ช่างน่าหวั่นเกรงนัก ต่อผลแห่งอกุศลกรรมที่ได้ทำเช่นนี้จักมีสิ่งใดป้องกันไม่ให้เทวดาและมนุษย์ได้กระทำอกุศลเล่าเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้วิสัชนาว่า
เครื่องกั้นอกุศลกรรมทั้งปวงนั้นมีอยู่ อันได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา
องค์อินทราธิราช เพื่อจะให้หมู่เทวดาและมหาชนได้เข้าใจในเครื่องกั้นอกุศล ที่คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ได้วิสัชนา จึงได้ตรัสถามที่ละข้อว่า อะไรชื่อว่า ทาน พระคุณเจ้าข้า
ทานได้แก่ การให้ การเสียสละ การบริจาคสิ่งที่เกื้อกูล เป็นประโยชน์แก่ชนและสัตว์ทั้งหลาย ด้วยจิตใจที่เมตตา การุณ เห็นอกเห็นใจ และปรารถนาให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นจากทุกข์ภัย
เมื่อจบคำวิสัชนาลง เทวดาและหมู่มนุษย์ทั้งหลายต่างเปล่ง สาธุการ ขึ้นพร้อมกันดังสนั่นเลื่อนลั่นไปทั่วภาคพื้น สาธุ สาธุ สาธุ
องค์อินทราธิราช จึงได้ตรัสถามปัญหาข้อต่อไปด้วยมธุรสวาจาว่า อะไรชื่อว่า ศีล เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า
ศีล คือ การสำรวม สังวรระวัง พฤติกรรมทางกาย และวาจามิให้เบียดเบียนตนทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ อีกทั้งยังต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่นเดียวกับการไม่เบียดเบียนตนด้วย
ศีล จึงได้ชื่อว่า การทำให้กาย วาจา ใจ ซื่อตรงเป็นปกติ
สาธุ สาธุ สาธุ เสียงเปล่งสาธุการดังกระหึ่มขึ้นในปริมณฑลนั้น เมื่อจบคำวิสัชนา
เมื่อการวิสัชนาปัญหาของคุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์จบลง
องค์อินทราธิราชจึงได้ตรัสถามปัญหาข้อต่อไปว่า แล้วอะไรที่ชื่อว่าสมาธิ เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงวิสัชนาว่า
การมีจิตจดจ่อ จับจ้อง อยู่ในหน้าที่การงานที่ตนกระทำ นั้นจึงได้ชื่อว่าสมาธิ แต่หากยังมีอารมณ์กวัดแกว่ง สับสน ไม่แนวแน่ ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่อย่างยาวนาน จนบังเกิดความสงบระงับทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จิตตั้งมั่นอยู่ในอุเบกขารมณ์ และเอกัคคตารมณ์ นั้นก็ยังไม่ชื่อว่าสมาธิที่สมบูรณ์
เป็นเพียงสมาธิเล็กๆ น้อยๆ อาจยังให้อกุศลกรรมเจริญได้
แต่หากต้องการให้อกุศลกรรมไม่เจริญ จิตต้องตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เป็นเวลายาวนานทั้งวันทั้งคืน หรือทุกลมหายใจ
เช่นนี้อกุศลกรรมก็จักไม่เกิด ไม่เจริญ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายครั้นได้สดับคำวิสัชนาจบลงแล้ว จึงพร้อมกันเปล่งสาธุการขึ้นพร้อมกัน สาธุ สาธุ สาธุ
องค์อินทราธิราชเมื่อได้เห็นว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้คลายความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งอกุศลกรรมแล้ว เพื่อให้เครื่องกั้นอกุศลกรรมนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้ตรัสถามปัญหาข้อต่อมาว่า
แล้วอะไรชื่อว่า ปัญญา เล่าพระคุณเจ้าข้า
คุรุฤาษีสรภังคะโพธิสัตว์ จึงได้ทูลวิสัชนาว่า
ชื่อว่าปัญญานั้นอันได้แก่
บุคคลผู้ใดเป็นผู้ฉลาดในการให้ทาน
ฉลาดในการรักษาศีล
ฉลาดในการเจริญสมาธิในแต่ละขั้น
ฉลาดในการสร้างเครื่องกั้นอกุศลกรรม
ฉลาดในการสั่งสมอบรมบ่มเพาะกุศลกรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น
บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้เจริญปัญญา เป็นสัตบุรุษอันยิ่งกว่าบุรุษทั้งปวง เจริญธรรม
คาถาภาษิตที่กล่าวมานี้ คือ เครื่องกั้นอกุศลกรรมทั้งปวง เมื่ออกุศลกรรมทั้งปวงไม่เกิด ไม่เจริญ นิรยะทั้งหลายก็มิอาจทำอันตรายต่อท่านทั้งหลายได้
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ช่างไพเราะเหลือเกิน ช่างอัศจรรย์เหลือเกิน ช่างแจ่มแจ้งเหลือเกิน ปวงข้าพเจ้า ขอน้อมนำคาถาภาษิตนี้ไปประพฤติปฏิบัติให้บังเกิดอานิสงส์ ส่งผลให้ปิดประตูอบายแก่พวกข้าพเจ้า
องค์อินทราธิราชทรงตรัสแล้วพาหมู่เทวา อภิวาทกราบไหว้ พร้อมพวกหมู่มนุษย์ทั้งหลาย
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ เอาไว้วันหน้าจะเขียนมาเล่าให้รับรู้ต่อไป
พุทธะอิสระ
——————————————–