วันนี้เรามาตามศึกษาอัตชีวประวัติของพระมหากัจจายนะ ตอนที่สองกันต่อ
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ท่านพระมหากัจจายนะ ได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท
อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณะมีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) เท่านั้น
โดยล่วงไปสามปีแล้วจึงได้อุปสมบท เพราะชายแดนห่างไกลเมืองหลวงหาภิกษุสงฆ์เป็นคณปูรกะ (๑๐ รูปขึ้นไป) ไม่ได้ เมื่อโสณกุฏิกัณณกะได้อุปสมบทแล้วมีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ เพื่อขออนุญาต
พระมหากัจจายนะจึงฝากสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติที่ขัดต่อการเผยแผ่พุทธธรรมในชายแดนชนบทซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๕ ข้อ คือ
๑. ในชายแดนชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยสงฆ์มีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ (ด้วยสงฆ์ ๕ รูป)”
ซึ่งในพุทธบัญญัติเดิมทรงบัญญัติไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวกภิกษุเกินกว่า ๑๐
๒. ในชายแดนชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุใส่รองเท้าเป็นชั้น ๆ ในปัจจันตชนบท”
ในพุทธบัญญัติเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวมต้องอาบัติทุกกฎ
๓. ในชายแดนชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท” (ในมัชฌิมประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)
ในพุทธบัญญัติเดิม ภิกษุใดยังหย่อนกึ่ง (ยังไม่ถึงครึ่ง) เดือน อาบน้ำ เป็นปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยเดือนกึ่งท้ายฤดูร้อน เดือนต้นแห่งฤดูฝน คราวกระวนกระวาย เจ็บไข้ คราวทำการงาน คราวไปทางไกล คราวฝนมากับพายุ
๔. ในชายแดนชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วย หนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น”
ในพุทธบัญญัติเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ
๕. ในชายแดนชนบท มีภิกษุน้อย มนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมาด้วยคำว่า พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เมื่อพวกเธอกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจว่าผ้าผืนนั้นเป็นนิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละ เพราะล่วงเวลา ๑๐ วันแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น
ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวาย ลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”
ในพุทธบัญญัติเดิม ภิกษุใดพึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
ด้วยมหาเมตตาจิตของท่านพระมหากัจจายนะที่เห็นข้อขัดข้อง ทุกข์ยากลำบากของหมู่ภิกษุผู้อาศัยอยู่ในชนบทชายแดนกันดาน
อีกทั้งพระพุทธบัญญัติเดิมอาจจะเป็นอุปสรรค ขีดขวางไม่ให้ผู้มีศรัทธาได้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยนี้อย่างยากลำบาก อาจจะทำให้พระธรรมวินัยไม่แผ่ขยายไปในชนบท
ท่านจึงต้องฝากทูลขอพระพุทธานุญาตดังกล่าว
นับว่า ท่านมีพระมหากัจจายนะเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระธรรมวินัยและหมู่สงฆ์อย่างมากมายมหาศาล
พุทธะอิสระ
——————————————–